ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2503 การดีเบตทางโทรทัศน์ระหว่างนายจอห์น เอฟ. เคนเนดี ตัวแทนพรรคเดโมแครต กับนายริชาร์ด นิกสัน ตัวแทนพรรครีพับลิกัน ถือเป็นการประชันวิสัยทัศน์ทางโทรทัศน์อย่างเป็นทางการ ครั้งแรกของผู้สมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยโทรทัศน์สมัยนั้นยังคงเป็นสีขาวดำ
ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนโดยสื่อมวลชนสหรัฐหลายแห่งในเวลานั้น เป็นไปในทางเดียวกัน ว่านิกสันมีโอกาสคว้าชัยชนะ หลังดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีมาแล้วสองสมัยติดต่อกัน ในสมัยประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์
อย่างไรก็ตาม การดีเบตในวันนั้น “ไม่ใช่วันที่ดี”สำหรับนิกสัน ซึ่งปฏิเสธการแต่งหน้า ส่งผลให้ใบหน้าดูซีดเมื่อออกกล้องโทรทัศน์ และยังมีเหงื่อซึมเป็นระยะ ท่ามกลางสายตาของผู้ชมโทรทัศน์มากกว่า 66 ล้านคน ตรงกันข้ามกับเคนเนดีซึ่งอายุน้อยกว่ามาก และควบคุมสถานการณ์ได้ดีกว่า อีกทั้งมีท่าทีผ่อนคลายมากกว่า
นอกจากนี้ การใช้สายตายังเป็นสิ่งสำคัญด้วย ขณะที่นิกสันมักสบตากับผู้ดำเนินรายการเป็นหลัก แต่เคนเนดีมองมาที่กล้องทุกครั้งเมื่อถึงเวลาพูด สะท้อนว่า มีความมุ่งมั่นสื่อสารกับประชาชนโดยตรง และผลการเลือกตั้งที่ออกมา ปรากฏว่า เคนเนดีเป็นฝ่ายชนะนิกสัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2519 เป็นการดีเบตนัดแรก ระหว่างประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ผู้นำสหรัฐในเวลานั้น จากพรรครีพับลิกัน กับผู้ท้าชิง คือนายจิมมี คาร์เตอร์ ผู้ว่าการรัฐจอร์เจีย จากพรรคเดโมแครต ช่วงเวลานั้น สงครามเย็นกำลังตึงเครียดถึงขีดสุด ฟอร์ดกล่าวว่า สหภาพโซเวียตต้องไม่มีอิทธิพลเหนือยุโรปตะวันออก และจะไม่มีทางเกิดขึ้น ในยุครัฐบาลวอชิงตันที่ฟอร์ดยังคงเป็นประธานาธิบดี แม้สหภาพโซเวียตกระจายกำลังทหาร ทั่วภูมิภาคยุโรปตะวันออก
วาทะนั้นเรียกเสียงวิจารณ์อย่างหนักจากหลายฝ่าย และ 6 วันหลังจากนั้น ฟอร์ดออกมาชี้แจง ว่าเขาไม่ได้หมายความโดยตรงถึงการประจำการทางทหารของสหรัฐ แต่ต้องการสื่อว่า จิตวิญญาณของประชาชนในภูมิภาคยุโรปตะวันออกต้องไม่ถูกทำลาย
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2527 ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของพรรครีพับลิกัน มีอายุ 73 ปี เมื่อลงสมัครเป็นสมัยที่สอง ส่วนคู่แข่งจากพรรคเดโมแครต คือนายวอลเตอร์ มอนเดล ซึ่งมีอายุน้อยกว่าเรแกนมาก คือ 56 ปี เรื่องอายุของผู้สมัครจึงเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเช่นกัน
อย่างไรก็ดี เรแกนตอบเรื่องนี้ได้อย่างมีไหวพริบบนเวทีดีเบต ว่าเขาจะไม่นำเรื่องอายุมาเป็นประเด็นทางการเมือง โดยปล่อยให้คู่แข่งซึ่งอายุน้อยกว่าและไม่มีประการณ์เท่า นำหัวข้อดังกล่าวมาสร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเอง
การดีเบตเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2535 เป็นการประชันวิสัยทัศน์กันสามฝ่าย ระหว่างประธานาธิบดีจอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช ผู้นำในเวลานั้นจากพรรครีพับลิกัน กับนายบิล คลินตัน จากพรรคเดโมแครต และนายรอสส์ เพโรต์ มหาเศรษฐีซึ่งลงสมัครในนามอิสระ
ทั้งนี้ การที่บุชก้มลงมองนาฬิกาข้อมือในจังหวะที่คลินตันกำลังกล่าว ถือเป็นภาษากายที่กลายเป็น “บทเรียนราคาแพง” สำหรับบุช ซึ่งยอมรับในอีกไม่กี่ปีต่อมา ว่าตัวเขา “เกลียด” การดีเบต จึงเป็นเหตุผลที่ก้มมองดูเวลาที่นาฬิกาข้อมือในวันนั้น แล้วคิดว่า เมื่อไหร่จะหมดเวลาสักที
การดีเบตเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2555 ระหว่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครต กับนายมิตต์ รอมนีย์ จากพรรครีพับลิกัน รอมนีย์พูดถึงประเด็นว่า กองทัพเรือสหรัฐมีเรือรบน้อยกว่าเมื่อปี 2459 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ขณะที่โอบามาตอบว่า ตอนนี้กองทัพสหรัฐมีม้าน้อยลง และแทบไม่มีดาบปลายปืนแล้ว เพราะธรรมชาติของสงครามนั้นเปลี่ยนไป สิ่งที่กองทัพสหรัฐต้องการพัฒนามากขึ้น คือ เรือบรรทุกเครื่องบิน เพื่อให้เครื่องบินสามารถลงจอดได้ตลอดเวลา และมีอาวุธใต้น้ำทรงประสิทธิภาพ นั่นคือเรือดำน้ำติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ คำตอบดังกล่าวของโอบามาเป็นที่พูดถึงอย่างมาก และเจ้าตัวชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองติดต่อกัน หลังสร้างประวัติศาสตร์เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐ
การดีเบตระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน กับนางฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2559 เป็นหนึ่งในการประชันวิสัยทัศน์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญถึงมากที่สุดครั้งหนึ่ง โดยมีการสาดโคลนกันเรื่องที่ทรัมป์เคยกล่าวว่า การมีชื่อเสียงช่วยให้เขาเข้าถึงผู้หญิงง่ายขึ้น
ด้านทรัมป์โต้กลับไปที่คลินตัน ว่าสามีของเธอ คืออดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน “มีพฤติกรรมไม่เหมาะสกับผู้หญิง” หลายครั้งเช่นกัน โดยเฉพาะกรณีของน.ส. โมนิกา ลูวินสกี นอกจากนี้ ทรัมป์ยังวิจารณ์การที่คลินตันใช้อีเมลส่วนตัวในการสื่อสาร ระหว่างดำรงตำแหน่งรมว.การต่างประเทศสหรัฐด้วย
ขณะที่คลินตันกล่าวว่า ผู้ที่ไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์อย่างทรัมป์ ไม่สมควรดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ
ทรัมป์ในฐานะผู้นำสหรัฐ เผชิญหน้ากับนายโจ ไบเดน ที่ในเวลานั้นเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต ในการดีเบต เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2563 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งครั้งที่ผู้สมัครทั้งสองฝ่ายสาดโคลนกันอย่างดุเดือด ถึงขั้นที่ไบเดนกล่าวในตอนหนึ่ง ขอให้ทรัมป์ “หุบปาก” เพราะเขายังพูดไม่จบ และยังไม่หมดเวลาการพูดของเขาด้วย
ทั้งนี้ ไบเดนเรียกทรัมป์ “เป็นตัวตลก” และ “เป็นหุ่นเชิด” ของปูติน ส่วนทรัมป์พยายามเลี่ยงตอบคำถามที่ว่า จะยอมรับผลการเลือกตั้งหรือไม่ หากเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ บรรยากาศดีเบตวันนั้นเป็นไปอย่างตึงเครียด ซึ่งผู้ดำเนินรายการ คือนายคริส วอลเลซ จากสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์ ยอมรับว่า “ควบคุมสถานการณ์แทบไม่ได้” และเป็นการดีเบต “ที่สิ้นหวัง”
ทรัมป์กับไบเดนโคจรกลับมาพบกันอีกครั้ง บนเวทีดีเบตซึ่งจัดโดยสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ปีนี้ ซึ่งไบเดนอยู่ในสภาพที่ “พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างสิ้นเชิง” เมื่อเทียบกับการดีเบตกับทรัมป์ เมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว ดดยการดีเบตครั้งนี้ปรากฏว่า ทรัมป์เป็นฝ่าย “คุมเวที” และผลงานดีเบตของไบเดนในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐ กลายเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้แก่เจ้าตัว จนยอมถอนตัวออกจากการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต และส่งไม้ต่อให้กับรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส
ส่วนการดีเบตเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นการประชันวิสัยทัศน์อย่างเป็นทางการครั้งแรก ระหว่างทรัมป์กับแฮร์ริส ซึ่งต่างฝ่ายต่างนำเสนอนโยบายของตัวเอง และสาดโคลนอีกฝ่ายว่าไม่น่าเชื่อถือ ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นแบบคร่าว ซึ่งเกิดขึ้นทันทีหลังการดีเบต มองว่า แฮร์ริสทำได้ดีกว่าทรัมป์ ซึ่งได้รับคะแนนไป 37%
เมื่อแยกตามนโยบาย พบว่า ทรัมป์มีคะแนนนำเหนือแฮร์ริสมากถึง 23 จุด ในด้านการจัดการพรมแดน ซึ่งรวมถึงผู้อพยพ และ 6 จุด ในฐานะ “ภาวะความเป็นประธานาธิบดี” แต่แฮร์ริสมีคะแนนนำเหนือทรัมป์ 21 จุด ในเรื่องนโยบายการทำแท้ง และ 9 จุด ในด้าน “การปกป้องประชาธิปไตย”
ทั้งนี้ทั้งนั้น 54% ของกลุ่มตัวอย่าง “มีความเชื่อมั่นไม่มากก็น้อย” ว่าทรัมป์และแฮร์ริสจะสามารถทำหน้าที่ผู้นำประเทศได้ โดยเมื่อแยกเป็นตัวบุคคล พบว่าทรัมป์ได้มากกว่าที่ 36% และ 32% สำหรับแฮร์ริส
อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบตรงกันว่า การดีเบตที่เกิดขึ้น “ไม่มีผล” ต่อการตัดสินใจลงคะแนนเลือกผู้สมัคร.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, AFP