เกือบตลอด 1 เดือนเต็มที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่ จ.ภูเก็ต เอง หรือชาวไทยทั่วประเทศทุกภาคส่วน โดยเฉพาะด้านท่องเที่ยว ต่างพยายามเอาใจช่วย โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ( Phuket Sandbox) ที่ได้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว ให้เข้าพักในโรงแรมที่มีใบรับรองและสัญลักษณ์ SHA (Plus+) เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 64 ที่สำคัญต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของ คณะกรรมการควบคุมโรค จ.ภูเก็ต ที่ได้ประกาศเอาไว้อย่างเคร่งครัด
ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้เกาะติดเรื่องนี้มานำเสนอเพราะนับเป็นเรื่องสำคัญของการช่วยนำร่อง ลุยฝ่ามรสุมการท่องเที่ยวไทยในช่วงวิกฤติโควิด ที่กำลังถาโถมเล่นงานประเทศไทยอย่างหนักไม่แพ้กัน เพราะยอดติดเชื้อรายใหม่นิวไฮหยุดไม่อยู่ จนเกิน 2 หมื่นคนไปเรียบร้อยแล้ว บางวันผู้เสียชีวิตยังพุ่งทะยานเกิน 200 คนเช่นกัน
โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ถ้าไม่นำร่องตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติคือ “0” เมื่อผ่านพ้นมา 1 เดือนพอทำให้เห็นความหวังบ้าง มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาแล้วกว่า 4,000 คน ยอดจองห้องพักจากระบบบุ๊กกิ้ง กระจายไปตามโรงแรมต่าง ๆ ถึง 320 แห่ง กว่า 170,000 ห้อง มากที่สุดที่ป่าตอง ร้อยละ 35 ของทั้งหมด รองลงไป คือ ไม้ขาว, เชิงทะเล, กะตะ และ กะรน ที่สำคัญยังได้เห็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่ไม่เคยเดินทางเข้ามายัง จ.ภูเก็ต นั่นคือ กลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศอิสราเอล แม้จะเป็นตัวเลขเพียงน้อยนิด ไม่อาจเปรียบเทียบกันได้กับตัวเลขนักท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ต ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ ก็เป็นการเริ่มต้นให้ภาคเศรษฐกิจเริ่มขับเคลื่อนได้บ้าง เหนือสิ่งอื่นใดยังเป็นโมเดลต่อยอดจากทะเลฝั่งอันดามัน ข้ามไปยังฝั่งทะเลอ่าวไทย จนทำให้มี โครงการ สมุย พลัสโมเดล (SAMUI Plus) จ.สุราษฎร์ธานี ไปวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา
ฉาวกระฉ่อนโลกฆาตกรรมแหม่มสวิส
วิกฤติของโควิด-19 ที่ได้สร้างผลกระทบไปทุก ๆ ภาคส่วน ทั้งภาคสังคม และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวไทยที่นำรายได้เข้ามาสู่ประเทศมากอันดับต้น ๆ เม็ดเงินสูญหายไปแบบมหาศาลเกือบจะ 2 ปีแล้ว อยู่ในระหว่างโครงการเรียกความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเที่ยวในประเทศไทย นำร่องจากโครงการ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ตามติดมาด้วย สมุย พลัสโมเดล (SAMUI Plus) จ.สุราษฎร์ธานี หวังสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกก่อนจะเปิดประเทศภายใน 120 วันของรัฐบาลว่า ประเทศไทยจะสามารถรับมือการท่องเที่ยวแบบปลอดภัย ด้วยมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มข้น
แต่สุดท้ายกลับกลายเหมือนจะมาเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติจนได้ เมื่อเจอข่าวสุดช็อกของคนทั้งประเทศ ช่วงบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 5 ส.ค. ตำรวจ สภ.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต รับแจ้งว่ามีชาวบ้านไปพบศพหญิงชาวต่างชาติ ถูกหมกทิ้งไว้อยู่ในซอกโขดหินนํ้าตกโตนอ่าวยน หมู่ 8 ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต มีผ้าใบยางสีดำคลุมศพเอาไว้ เสียชีวิตอยู่ในสภาพเริ่มขึ้นอืด ท่อนล่างเปลือย กางเกงชั้นในและกาง เกงยีนขาสั้น ถูกถอดทิ้งไว้ใกล้ ๆ ศพ คาดเสียชีวิตมาไม่ต่ำกว่า 3 วัน ต่อมาตำรวจทราบชื่อแล้ว (ขอสงวนไว้) เป็นนักท่องเที่ยวหญิงวัย 57 ปี สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ เดินทางเข้ามาประเทศไทยท่องเที่ยวคนเดียว ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. ผ่านทางด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ในฐานะนักท่องเที่ยวตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
กลายเป็นฆาตกรรมสะเทือนขวัญ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นแต่กระฉ่อนไปทั่วโลก! เรียกว่าเป็นเหตุการณ์สุดช็อกอีกเรื่องในช่วงวิกฤติ โควิดก็ว่าได้ เพราะดันมาเกิดคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวต่างชาติบนเกาะภูเก็ตในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก “ไข่มุกแห่งอันดามัน” ซึ่งกำลังเป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวของประเทศไทยกับโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ งานนี้ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาขอแสดงความเสียใจไปถึงครอบครัวผู้เสียชีวิต กำชับให้ตำรวจเร่งดำเนินการสืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดให้ได้โดยเร็ว พร้อมเน้นย้ำให้ทุกส่วนราชการเพิ่มความเข้มงวดดูแลนักท่องเที่ยวตามโครงการฯ ให้มากยิ่งขึ้น โดยให้กระทรวงการต่างประเทศ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เร่งประสานหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อยกระดับมาตรการด้านสาธารณสุขและความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ
วงจรปิดช่วยแกะรอยข้อมูลเดินทาง
เช้าวันที่ 6 ส.ค. บิ๊กปั๊ด-พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.นำทีมตำรวจสืบสวนมือดี บินลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต ตามเกาะติดคดีด้วยตนเอง เข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง มีทั้ง นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผวจ.ภูเก็ต พล.ต.ท.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบช.ภ.8 พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผบก.ป. นำกำลังชุดปฏิบัติการ กก.5 บก.ป. และ “หน่วยหนุมาน” กองปราบฯ รวมถึงนายตำรวจสืบสวนมือดีก็ถูกเรียกตัวมาช่วย อาทิ พล.ต.ต.นภันต์วุฒิ เลี่ยมสงวน ผบก.สส.ภ.8 พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ ผบก.สส.ภ.7 ลงไปในพื้นที่เพื่อเร่งคลี่คลายคดีร่วมกับตำรวจ ภ.จว.ภูเก็ต เพราะถือเป็นคดีที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก
เบื้องต้นทั้งตำรวจสอบสวนกลาง บช.ภ.8 และ ภ.จว.ภูเก็ต แบ่งงานกันตามแกะรอยหลักฐานข้อมูลทั้งหมดของนักท่องเที่ยวหญิงชาวสวิส ตั้งแต่ย้อนหลังไปวันที่เข้ามาถึงประเทศไทย วันที่ 13 ก.ค. 64 ก่อนจะมาพบเป็นศพ เพื่อไล่ตรวจสอบรายละเอียด ตั้งแต่ที่พัก การเดินทางต่าง ๆ เพื่อนำมาขยายผลหาหลักฐาน ซึ่งก็พอจะปะติดปะต่อเป็นรูปเป็นร่างได้อย่างมาก เนื่องจากพื้นที่ จ.ภูเก็ต มี “กล้องวงจรปิด” มากมายหลายจุด จึงเห็นความเคลื่อนไหวของการเดินทางผู้ตายซึ่งไปไหนมาไหนคนเดียวเกือบตลอด โดยสามารถแบ่งเป็นได้ 2 ช่วงใหญ่ ๆ คือ ช่วงแรก วันที่ 13-27 ก.ค. อยู่ในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จะพักอยู่โรงแรมดุสิตลากูน่า ต.เชิงทะเล อ.ถลาง ส่วนใหญ่อยู่โรงแรมตามมาตรการ จะมีก็ไปตรวจร่างกายที่ รพ.กรุงเทพภูเก็ต วันที่ 25 ก.ค.
กระทั่งครบกำหนดมาตรการแซนด์บ็อกซ์ 14 วัน ช่วงบ่ายวันที่ 27-31 ก.ค.จึงออกเดินทางไปเที่ยวอ่าวนาว จ.กระบี่ จากนั้นช่วงบ่าย วันที่ 31 ก.ค.-3 ส.ค. กลับเข้ามาพักอยู่รีสอร์ทในพื้นที่ ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต กล้องวงจรปิดปิดสามารถลำดับเหตุการณ์ไว้ได้ค่อนข้างอย่างละเอียดในช่วงสายของวันที่ 3 ส.ค.ก่อนจะหายตัวไป เวลา 11.25 น. แต่งกาย กางเกงยีนขาสั้น เสื้อยืดสีขาว รองเท้าสีเข้ม มีเสื้อแขนยาวคาดเอว สะพายกระเป๋าเป้สีเข้ม เดินเท้าออกจากรีสอร์ท ลงไปทางชายหาดอ่าวยน จากนั้นเวลา 11.48 น. เดินไปตามเส้นทางถนนอ่าวยน-เขาขาด มุ่งหน้าไปทางนํ้าตกโตนอ่าวยน เส้นทางเดินจากรีสอร์ท ถึงนํ้าตก โตนอ่าวยน (สถานที่พบศพ) ระยะทาง 1.4 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 18 นาที
หนุน ตร.ลุยสางคดีเรียกความเชื่อมั่น
ขณะที่ นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้า จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตเข้ามาตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. ซึ่งก็เป็นนักท่องเที่ยวในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และได้สิ้นสุดมาตรการแซนด์บ็อกซ์ เมื่อครบการดูแลด้านสาธารณสุข 14 วัน ไปเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา หลังจากนั้นนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกความคาดหมายและนอกเหนือการบริหารจัดการทั้งของภาครัฐและเอกชน เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นไม่จำเพาะใน จ.ภูเก็ต หรือเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ การตรวจสอบข้อมูลผู้เสียชีวิตได้ผ่านการรับรองการตรวจหาเชื้อครั้งสุดท้ายวันที่ 26 ก.ค. ก่อนออก โครงการฯ และวันที่ 27 ก.ค. ได้เดินทางไปท่องเที่ยวใน จ.กระบี่ ก่อนจะกลับเข้ามาภูเก็ตอีกครั้งเข้าพักโรงแรมบริเวณใกล้ที่เกิดเหตุ เมื่อถึงจุดนี้แล้วเป็นหน้าที่ของฝ่ายตำรวจจะต้องเร่งคลี่คลายคดีเพื่อเรียกความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว
ด้าน นายก้องศักดิ์ คู่พงศกรณ์ นายกสมาคมโรงแรมภาคใต้ เคยมีมุมมองว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ ยิ่งกว่าเจอสึนามิถล่มภูเก็ตเสียอีก เมื่อมีโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ทำให้มีความหวังในอนาคต และยังจะเป็นตัวอย่างของการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน แต่พอมาเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมนี้ขึ้นจึงเป็นที่จับตามองของทั่วโลก เพราะทุกประเทศต่างให้กำลังใจประเทศไทยให้สามารถพาภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เดินต่อไปข้างหน้าให้ได้ ตอนนี้จึงอยากให้ตำรวจทำงานเต็มที่คลี่คลายคดีโดยเร็ว แสดงให้ทั่วโลกเห็นว่าเราเอาใจใส่และไม่ได้วางใจเมื่อเกิดเหตุ
ทุกฝ่ายทำดีที่สุดแล้ว มันเป็นเหตุการณ์นอกความคาดหมาย เพราะภูเก็ต นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัยในอันดับต้น ๆของโลก เป็นที่ทราบกันดีของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาเราไม่เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้เลย ยิ่งในส่วนของระบบรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะระบบซีซีทีวี ภูเก็ตนับเป็นเมืองที่ใช้ระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีที่สุด ด้วยความที่เราเป็นเมืองท่องเที่ยว ชาวภูเก็ตรับรู้และมีสามัญสำนึกกับการเป็นเจ้าบ้านที่ดี เราไม่อยากตำหนิใครในเรื่องที่เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราต้องแก้ไขและนำความเชื่อมั่นให้กลับมาให้เร็วที่สุด.