ภาคการท่องเที่ยวถือว่าเป็น “เครื่องจักร” ตัวสำคัญในระบบเศรษฐกิจ แต่เครื่องจักรตัวนี้เจออุปสรรคใหญ่คือ “โควิด-19” เล่นงานมากว่า 2 ปี จนอ่อนเปลี้ยเพลียแรงไปตามๆกัน วันนี้ทีมข่าว Special Report มีโอกาสคุยกับ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีประสบการณ์ตรงในการทำธุรกิจโรงแรม แถมยังเป็นผู้คอยเสนอแนะและเรียกร้องเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ของการท่องเที่ยวไปยังรัฐบาลตลอดเวลา
นายจักรพล กล่าวว่า ภาพรวมถือว่าการท่องเที่ยวใน จ.เชียงใหม่ ตอนนี้เริ่มมีสีสันขึ้นมาบ้าง เห็นได้จากมีนักท่องเที่ยวมาเดินในย่านนิมมานฯ และไนท์ซาฟารีมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเที่ยวไทย รองลงไปคือนักท่องเที่ยวจากยุโรป อินเดีย ส่วนคนจีนที่เคยเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุด ตอนนี้น่าจะเหลือน้อยที่สุด
คนจีนเคยมาเชียงใหม่เดือนละล้านคน-ตอนนี้เหลือ 20 คน
จากข้อมูลของสนามบิน และ กกร. เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา มีคนจีนเข้ามาที่เชียงใหม่แค่ 20 คนเท่านั้น ประเภทที่ว่าจำเป็นต้องมาจริงๆ เพื่อติดต่อธุรกิจ มานอนค้าง 1-2 คืนแล้วกลับเลย
ต่างจากช่วงที่การท่องเที่ยวเชียงใหม่ หรือการท่องเที่ยวของประเทศไทยบูมมากๆ ประมาณปี 60-61 คนจีนสามารถเดินทางเข้ามาได้ทั้งรถยนต์ ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว อ.เชียงของ จ.เชียงราย และเดินทางเข้ามาโดยเครื่องบิน ช่วงที่บูมสุดๆ มีคนจีนมาเที่ยวเชียงใหม่เดือนละ 1 ล้านคน แต่ตอนนี้เหลือแค่เดือนละ 20 คน
ขณะที่อัตราการเข้าพักห้องพักของโรงแรมในเชียงใหม่ ณ ปัจจุบันเริ่มกระเตื้องขึ้นมาบ้าง แต่ยอดจองยังอยู่แค่ 20-25% และช่วงปลายปีซึ่งเป็นหน้าหนาวเริ่มมีสัญญาณดีๆ เข้ามาบ้าง คาดว่าช่วงปลายปีนี้ห้องพักในเชียงใหม่จะถูกนักท่องเที่ยวจองไม่ต่ำกว่า 60% ด้วย 2 ปัจจัยสำคัญคือ 1.จะต้องไม่มีโรคระบาดมากไปกว่านี้ 2.ไม่มีปัญหาเรื่องหมอกควันไฟป่า
เศรษฐกิจของเชียงใหม่ 70-75% อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ อีก 25% อยู่ในภาคการเกษตรและอื่นๆ ดังนั้นเมื่อนักเที่ยวน้อยจึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและบริการมากพอสมควร ในอดีตช่วงที่บูมมากๆ เคยมีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเข้ามาเชียงใหม่เดือนละ 1,500,000-1,800,000 คน ชนิดที่ว่าโรงแรมที่พักไม่พอนอน รถบริการสาธารณะไม่พอ มาแล้ว 2-3 คืนต้องกลับ จังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย
“แต่จริงๆ แล้วสภาพของเชียงใหม่ ณ วันนี้ถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 1,200,000 คน ถือว่าอยู่ในปริมาณที่พอดี ถือว่า Smooth แต่ทุกปัจจุบันยังไม่ได้เป็นเช่นนั้น นักท่องเที่ยวจีนจากที่เคยมาเดือนละ 1 ล้านคน แต่เดือนที่แล้วเหลือแค่ 20 คน ไม่ใช่เฉพาะเชียงใหม่ แต่เท่าที่รับฟังปัญหาการท่องเที่ยวหลายจังหวัด ต่างพูดถึงนักท่องเที่ยวจีนกันทั้งนั้นว่าเมื่อไหร่จะมา เมื่อไหร่รัฐบาลจะกระตุ้น หรือไปเชิญให้เขาเข้ามา ทุกคนบ่นคิดถึงนักท่องเที่ยวจีนกันทั้งนั้น”
“สายป่านสั้น-ไม่มีพาร์ทเนอร์ต่างชาติ” ต้องขาย!
นายจักรพล กล่าวต่อไปว่า ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวจีน บรรดาโรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยวในหลายจังหวัดจะอยู่กันลำบาก ตอนนี้จึงต้องวัดกันว่า “สายป่าน” ใครยาวกว่ากัน หรือถ้าใครมี “พาร์ทเนอร์” เป็นต่างชาติก็อาจจะสบายตัวขึ้นมาบ้าง แต่ถ้าสายป่านสั้น ไม่มีพาร์ทเนอร์เป็นต่างชาติ ก็ต้องประกาศขายกิจการกันหลายแห่ง แต่ปิดป้ายประกาศขายกันมาหลายเดือนยังขายไม่ออก ลดราคาแล้วก็ยังขายไม่ออก โดยเฉพาะโรงแรมในเชียงใหม่จะขายยากกว่าโรงแรมที่ตั้งอยู่จังหวัดติดทะเล
ที่ผ่านมา ตนพยายามออกมากระตุ้นโดยตลอดว่าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ จึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ควรกำหนดนโยบายให้ชัด และต้องหาทางคุยกับทางการจีน เพื่อให้จีนผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโควิด เพื่อให้จีนเปิดประเทศอย่างสมบูรณ์แบบเหมือนในอดีต เพื่อคนจีนจะได้เดินทางออกมาท่องเที่ยวมากขึ้น
เราถือว่าตลาดจีนมีความสำคัญมาก ปัจจุบันจีนยังไม่มา แต่คนอินเดีย-เนปาลเข้ามาพอสมควร ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอย เข้ามาเที่ยว เข้ามาจัดงานแต่งงาน รัฐบาลต้องตามตลาดการท่องเที่ยวให้ทันว่าวันนี้เราทำเอ็มโอยูทางการท่องเที่ยวกับอินเดีย-เนปาล บ้างหรือยัง วันนี้รัฐบาลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาทำอะไรอยู่ โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ตั้งแต่เดือน ต.ค.65 เป็นต้นไป เราพยายามที่จะจัดอีเวนต์ระดับโลก จัดงานมาราธอนระดับโลก เพื่อเร่งดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา
เนื่องจากถ้าโควิด-19 คลี่คลายไปมากกว่านี้ สภาพการท่องเที่ยวจะเป็นไปในแบบ “ล้างแค้น” คือเที่ยวกันหนัก! หลังจากต้องหยุดเที่ยว และไม่ได้เดินทางกันมา 2-3 ปี รวมทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวที่อยากมีลูก ทั้งสองกลุ่มนี้เป็นตลาดที่น่าสนใจมาก
“เมืองหลัก” ไม่รอด! “เมืองรอง” จะไหวหรือ?
วันนี้อยากให้รัฐบาล และกระทรวงการท่องเที่ยวฯเบรกไว้ก่อนเรื่องยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว “เมืองหลัก” และ “เมืองรอง” เพราะผู้ประกอบการในเมืองรองรู้สภาพความเป็นจริงว่า “เมืองหลัก” ยังเอาตัวไม่รอดเลย แล้วเมืองรองจะรอดหรือ? แต่ควรจัดให้เป็นไปในรูปแบบ “ระเบียงภูมิภาค” เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีมนต์เสน่ห์ของแหล่งท่องเที่ยวคล้ายๆกันจะดีกว่าการแยกเป็นเมืองหลัก เมืองรอง ที่สำคัญคือต้องรีบเจรจากับจีน หรือเชิญจีนเข้ามาคุย เนื่องจากตอนนี้จังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวทางภาคเหนือ และจังหวัดชายทะเล คิดถึงนักท่องเที่ยวจีนกันทั้งนั้น
เนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวจะเป็นการช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้เร็วที่สุด จะเป็นกระจายรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง ทำให้ประชาชนมีรายได้และมีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น
แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลมีช่องโหว่หลายเรื่อง เช่น แผนการดำเนินการที่ไม่ชัด ไม่รัดกุม และไม่รอบคอบ เช่น กลยุทธ์สร้างประสบการณ์การเดินทางที่มีความหมายและทรงคุณค่าให้กับนักท่องเที่ยว (Meaningful Travel) ทางรัฐบาลจะสร้างประสบการณ์นี้ได้อย่างไร ในเมื่อรัฐบาลยังตัดสินใจผิดพลาดในหลายๆ เรื่องและหลายครั้ง แต่รัฐมักปล่อยให้ภาคเอกชนต้องเดินฝ่าอุปสรรคด้วยตนเองตลอดมา
รัฐบาลแพ้ภัยตัวเอง จากผลการจัดอันดับพบว่า กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ประเทศไทย ติด 10 อันดับประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในฤดูร้อนประจำปี 65 แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลทำผิดพลาดทำให้เกิดการระบาดของโควิดมากกว่า 5 ระลอก และการฉีดวัคซีนล่าช้า ทำให้ประเทศต้องฟื้นตัวช้ากว่ากำหนด
ดังนั้นจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 65 อาจจะหายไปถึง 33 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 63 และรายได้จากภาคการท่องเที่ยวจะหายไปมากกว่า 3.5 ล้านล้านบาท สิ่งที่ตนแนะนำคือรัฐบาลควรเร่งผลักดันการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อาทิ การท่องเที่ยว 5 เชียง การท่องเที่ยวถนน R3A (ไทย-ลาว-จีน) R3B (ไทย-เมียนมา-จีน) ทั้งทางอากาศ ทางราง และทางเรือ พร้อมยกระดับ Logistics เพื่อสนับสนุน Supply Chain ทางอาหารและอื่นๆ อย่างเป็นระบบอย่างเป็นรูปธรรม
รวมทั้งความร่วมมือแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย คือ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT : Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) ด้วยการผลักดัน Supply Chain ทั้ง 6 เส้นทาง (EC1-EC6) โดยชูจุดเด่นของสินค้าไทย เช่น ยางพารา อาหารทะเล ไม้ยางแปรรูป ปาล์มน้ำมัน อาหารทะเลแปรรูป และผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย พร้อมทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น ชิโนโปรตุกีส.