พลังงานของรัสเซียเป็นที่น่าดึงดูดใจสำหรับบรรดาประเทศในยุโรป เนื่องจากขนส่งง่ายและผู้ขายคือรัสเซีย “มีสินค้าพร้อมส่งตลอดเวลา” โดยรัฐบาลของทุกประเทศในยุโรปสั่งซื้อพลังงานกับ ก๊าซพรอม ผู้ผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของรัสเซียด้วย โดยยุโรปซื้อพลังงานจากก๊าซพรอมเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เปลี่ยนไปชนิดที่เรียกได้ว่า จากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อเกิดสงครามในยูเครน
เพียงไม่นานหลังการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนปะทุ สหภาพยุโรป ( อียู ) ประกาศแผนลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียให้ได้สองในสาม ภายในสิ้นปี 2565 ต่อจากนั้น ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ตอบโต้ด้วยการประกาศรายชื่อ “ประเทศและดินแดนที่ไม่เป็นมิตร” โดยให้ประเทศและดินแดนที่อยู่ในรายชื่อ ต้องชำระค่าธรรมเนียมพลังงาน “เป็นเงินรูเบิลเท่านั้น”
เมื่อผ่านไปได้สักพัก ดูเหมือนปัญหาเรื่องการจ่ายเป็นเงินรูเบิลคลี่คลายไปได้บ้าง แต่ก็มาเกิดประเด็นขึ้นมาอีก เมื่อก๊าซพรอมระงับดำเนินงานท่อส่งก๊าซ “นอร์ดสตรีม 1” เป็นเวลา 10 วัน ระหว่างกลางเดือนถึงปลายเดือนก.ค. “เพื่อการซ่อมบำรุงประจำปีตามกำหนด”
สำหรับท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 1 มีความยาว 1,222 กิโลเมตร เป็นท่อส่งก๊าซใต้ทะเลซึ่งมีความยาวที่สุดในโลก ลอดผ่านใต้ทะเลดำมายังภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเยอรมนี และเป็นหนึ่งในสองเส้นทางส่งก๊าซสายสำคัญและเก่าแก่ ระหว่างรัสเซียกับยุโรป
จริงอยู่ที่รัสเซียกลับมาส่งก๊าซผ่านท่อนอร์ดสตรีม 1 เมื่อครบกำหนดการซ่อมบำรุง แต่ปริมาณก๊าซที่ส่งมาอยู่ที่เพียง 30% ของระดับปกติ ก่อนสถานการณ์จะบีบคั้นไปทางยุโรปมากยิ่งขึ้น เมื่อก๊าซพรอมประกาศลดปริมาณการส่งก๊าซผ่านท่อนอร์ดสตรีม 1 เหลือ 33 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือคิดเป็นเพียง 20% ของปริมาณปกติที่เคยส่งก่อนเกิดสงครามในยูเครน ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา และยังไม่มีกำหนดชัดเจนว่า จะกลับมาเพิ่มปริมาณการส่งเมื่อใด
ทั้งนี้ ก๊าซพรอมยังคงให้เหตุผลเกี่ยวกับ “ความล่าช้าโดยเจตนา” ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก ส่งผลให้กระบวนการซ่อมบำรุง และการส่งคืนท่อคอมเพรสเซอร์โดยบริษัทซีเมนส์ในแคนาดา “ไม่เป็นไปตามกำหนด” ด้านกระทรวงพลังงานของเยอรมนีออกแถลงการณ์ตอบโต้ว่า “เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น” ร้อนถึงอียูต้อง “ขอความร่วมมือ” ให้สมาชิกลดปริมาณการใช้ก๊าซภายในประเทศของตัวเองให้ได้ 15% ระหว่างเดือน ส.ค.ปีนี้ จนถึงเดือน มี.ค.ปีหน้า โดยให้รัฐบาลของแต่ละประเทศอ้างอิงจากค่าเฉลี่ยการใช้ก๊าซ ในช่วงเวลาเดียวกันระหว่างปี 2559-2564 และที่ประชุมสมาชิกทั้ง 27 ประเทศ บรรลุฉันทามติร่วมกัน เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค.
ปัจจุบัน รัสเซียเป็นประเทศซึ่งมีแหล่งทรัพยากรก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในโลก ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคไซบีเรีย เริ่มส่งออกไปยังโปแลนด์ เมื่อยุคทศวรรษที่ 1940 และหลังจากนั้นเริ่มวางท่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศรัฐบริวารของสหภาพโซเวียตก่อน แม้อยู่ในช่วงสงครามเย็น การส่งก๊าซยังคงเป็นไปตามปกติ จนกระทั่งถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ปัญหาเริ่มเกิดในตำแหน่งที่เป็นดินแดนในส่วนของยูเครน ว่าการวางท่อควรเป็นแบบใด กระนั้น ยุโรปยังคงพึ่งพิงก๊าซของรัสเซียเป็นหลัก ด้วยเหตุผลสำคัญ คือมีราคาถูกกว่าของอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง และยังคงซื้อขายกันเรื่อยมา แม้มีจุดยืนทางการเมืองและเศรษฐกิจแตกต่างกัน
ทางออกของทั้งสองฝ่ายในเรื่องนี้ต้องมองในระยะยาว อย่างไรก็ตาม แรงกดดันที่เกิดขึ้นบ่งชี้ว่า สถานการณ์นี้ “เป็นมากกว่าความมั่นคงพลังงาน” เพราะมันเกี่ยวข้องกับ “ความมั่นคงของชาติ” ร่วมด้วย
อนึ่ง เคยมีคำกล่าวว่า รัสเซียมีนายพลฤดูหนาว (General Winter) ที่คอยปกป้องรัสเซียจากข้าศึกที่มารุกราน ซึ่งแม้แต่จักรพรรดินโปเลียน และ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ยังต้องพ่ายแพ้ และดูเหมือนว่าทุกวันนี้รัสเซียจะมีนายพลก๊าซ (General Gas) ไว้คอยตอบโต้กับผู้ที่มาคุกคามท้าทายรัสเซีย
ทั้งนี้ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ชาวยุโรปคงต้องหาวิธีในการรับมือกับทั้งสองนายพล ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ทั้งในทางยุทธศาสตร์ และการขอความช่วยเหลือจาก “มหามิตร” ที่อยู่อีกฟากฝั่งของมหาสมุทร.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES