“สัปดาห์นี้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค (สหภาพฯ กปภ.) จะไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เพื่อให้ดำเนินการ หรือมีประกาศ-คำสั่งอะไรก็ตาม เพื่อเป็นการยืนยันต่อการที่ รมว.มหาดไทย รับปากไว้ในสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับโครงการเอกชนร่วมลงทุนน้ำประปาปทุมธานี-รังสิต ว่า กปภ.มีการทำสัญญากับเอกชนบริษัทหนึ่งตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.41 และจะหมดอายุสัญญาในวันที่ 14 ต.ค.66 จากนั้นมีการศึกษา พบว่าหาก กปภ.ทำเองจะคุ้มค่ามากที่สุด และรมว.มหาดไทยเห็นชอบตามนั้น จนถึงตอนนี้ยังไม่เคยคิดเปลี่ยนแปลงสัญญา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแน่นอนล้านเปอร์เซ็นต์ เมื่อสิ้นสุดสัญญา การประปาจะทำเอง ดังนั้นการประปาเตรียมรับดำเนินการในเรื่องนี้ได้เลย และตราบใดที่ตนมีอำนาจอยู่ จะไม่มีการแก้สัญญาแน่นอน”
นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความคืบหน้า หลังจากออกมาช่วยกระทุ้งโครงการเอกชนร่วมลงทุนน้ำประปาปทุมธานี–รังสิต ที่กำลังจะหมดสัญญาในวันที่ 14 ต.ค.66 แต่มีคนบางกลุ่มพยายามเคลื่อนไหวอย่างหนัก โดยพยายาม “เคลียร์” ทุกฝ่าย ทุกระดับ เพื่อรวบรัดให้มีการต่อสัญญาสัมปทานให้กับเอกชนรายเดิมออกไปอีก 20 ปี
โดยส่อว่าจะหลบเลี่ยง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ที่กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการปฏิบัติที่โปร่งใส และตรวจสอบได้อย่างชัดเจนภายหลังสัญญาสิ้นสุดลงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 49 ว่าภายหลังที่ทรัพย์สินตกเป็นของรัฐ จะต้องดำเนินการไปตาม 2 กรณีเท่านั้น คือ 1.กปภ.ทำเอง 2.เปิดประมูลตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ถ้านอกเหนือไปจากนี้ จะทำให้รัฐมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหาย 36,513 ล้านบาท
สำหรับประเด็นของโครงการนี้ มีอยู่ว่า 1.เมื่อวันที่ 19 ก.ย.62 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และประธานกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค (ประธานบอร์ด กปภ.) ในขณะนั้น ได้มีบันทึกข้อความแจ้งต่อผู้ว่าฯ กปภ. ว่า รมว.มหาดไทยได้พิจารณาเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานภายหลังสิ้นสุดสัญญาโครงการดังกล่าว คือให้ กปภ.เป็นผู้ดำเนินการเอง เนื่องจากมีความคุ้มค่าทางการเงินมากที่สุด
2.แต่หลังจากนายฉัตรชัยได้ลาออกจากประธานบอร์ดกปภ.ไปแล้ว บอร์ดชุดใหม่ที่เข้ามารับไม้ต่อทันที ได้ออกมติประหลาด! ต่อสัญญาซื้อน้ำประปาจากเอกชนรายเดิมอีก 20 ปี โดยเป็นการ “แก้ไขสัญญา” และให้ทำตามขั้นตอนของมาตรา 46, 47, 48 เรียกง่ายๆว่า “กลับลำ” ไม่ทำตามมติบอร์ดชุดเดิมที่เลือกวิธีให้ กปภ.ดำเนินการเอง เปลี่ยนไปเป็นให้ต่อสัญญาให้เอกชนรายเดิม ทำกันโจ่งครึ่ม
3.บอร์ด กปภ.มีมติโดยอ้างอิงเพียงแค่จากผลการเจรจากับเอกชนตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเท่านั้น 18 มิ.ย.64 ที่ขอต่อสัญญา โดยมีเงื่อนไขลดค่าน้ำลิตรละ 2 บาท และเพิ่มการผลิตอีก 100,000 ลบ.ม./วัน พร้อมกับจ่ายค่าเช่าอีก 1,500 ล้านบาท และยื่นต่อพล.อ.อนุพงษ์โดยตรง
4.ถามว่าเร่งรัด ลุกลี้ลุกลนหรือเปล่า? เนื่องจากใช้เวลาเพียง 3 เดือน นับจากเอกชนยื่นขอความเป็นธรรม โดยอ้างว่ามีเหตุปัจจัยใหม่ จนถึงมติเสนอร่างแก้ไขสัญญาตามมาตรา 46, 47, 48 เป็นการเร่งรีบดำเนินการเพื่อให้ทันก่อนสัญญาสิ้นสุดลงในวันที่ 14 ต.ค.66
5.พล.อ.อนุพงษ์ได้ระงับยับยั้งการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่? เพราะ พล.อ.อนุพงษ์ ควรสั่งการให้ กปภ.ชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น ทำรายงาน หรือยับยั้งการกระทำของกปภ.
6.ต้องยอมรับว่า “เอกชน” รายนี้ใหญ่จริงๆ และกว้างขวางในทุกวงการ ขนาดข้าราชการผู้ใหญ่ยังต้องยอมสยบ เพราะเอกชนที่ว่ามี “มือดี” ช่วยเคลียร์อุปสรรคให้ปลอดโปร่งตลอดเส้นทาง เรียกว่าใครขวางทาง มีอันต้องโดนโยกย้าย
เห็นได้จากมีคำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ 1 คน ระดับผู้อำนวยการกองพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร กปภ. ไปช่วยราชการนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย โดยเจ้าหน้าที่คนนี้เป็นผู้ชี้แจงความเห็นของกองธุรกิจที่บอกว่าการนำเรื่องลดค่าน้ำประปาและเพิ่มกำลังการผลิตมาเสนอต่อคณะกรรมการ ไม่เป็นไปตามที่มหาดไทยสั่งการไว้แล้ว ไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด หากกปภ.รับข้อเสนอจากเอกชน จะเป็นการเอื้อประโยชน์ก่อให้เกิดการผูกขาดโดยเจตนา และเลี่ยงไม่ให้มีการเปิดประมูลราคา ตามหมวด 4 ส่วนที่ 2 การคัดเลือกเอกชน ตามมาตรา 32 ถึง 42 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ นอกจากนั้นยังมีข้อสงสัย? เกี่ยวกับการเปลี่ยนตัวผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ทำหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการเอกชนร่วมลงทุน
7.หลังจากวันที่ 30 ก.ย.64 สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวงร่างสัญญาให้สิทธิในการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาอีก 20 ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ชัดเจน ประเด็นสำคัญคือการแก้ไขสัญญาครั้งนี้ เนื้อหาแตกต่างจากหลักการของโครงการเดิมที่ทำไว้ น่าจะทำเสมือนการลงทุนใหม่ตามมาตรา 49 สรุปคือไม่มีบทบัญญัติใดที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐ แก้ไขสัญญาเพื่อต่ออายุสัญญาให้กับสัญญาร่วมลงทุนที่ยังไม่สิ้นสุดสัญญาได้
8.ข้อทักท้วงจากสหภาพฯกปภ. ถึง มท.1- ผู้ว่าการ กปภ.-ป.ป.ช-ศาลปกครอง เพื่อระงับยับยั้งการลงนามในสัญญาอัปยศดังกล่าว เนื่องจากมีประเด็นสำคัญเรื่องราคารับซื้อน้ำ ที่ให้เอกชนปรับราคาขึ้นได้ทุกปี ตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งราคาน้ำอาจถูกปรับขึ้นสูงมาก เหมือนดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว อีกทั้งยังมีความเห็นคัดค้านผู้บริหารบางคนใน กปภ. ที่ว่าพนักงาน กปภ. ไม่มีความรู้ทางด้านเทคนิคเพียงพอที่จะบริหารระบบต่อจากเอกชน
9.สหภาพฯ กปภ. จึงถามไปยัง รมว.มหาดไทย และผู้ว่าการ กปภ. ว่ามีความสามารถในการบริหารองค์กรเพียงแค่อยากให้ กปภ. เป็นแค่นายหน้าขายน้ำ หรือแค่รับซื้อน้ำจากเอกชนเพื่อนำไปขายต่อให้ประชาชนอีกต่อหนึ่ง เท่านั้นหรือ?
10.เอกชนไม่ต้องยุ่งยากอะไรเลย เนื่องจากผลิตน้ำมาเท่าไหร่ กปภ.ต้องรับซื้อทั้งหมด แต่ตอนกปภ.ขายต่อให้ประชาชน กลับขายได้เพียง 59% แล้วน้ำที่เหลือหายไปไหน? ซึ่งจำนวนนี้ถ้าเอามาคิดคำนวณเป็นตัวเลขการสูญเสียหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำสูญเสียที่กปภ.ต้องจ่ายเงินให้กับบริษัทเอกชน แต่ไม่ได้ใช้น้ำในแต่ละวันตลอด 20 ปีที่จะมีการต่อสัญญา จะทำให้เกิดความเสียหายเป็นเงินเกินหมื่นล้านบาท
สำหรับประเด็นดังกล่าว ทาง สตง.ได้ทักท้วงแล้ว โดยมีหนังสือเมื่อวันที่ 9 ก.พ.65 ถึงผู้ว่าการ กปภ. กรณีหากมีการแก้ไขสัญญาโดยไม่ได้พิจารณาการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย รัฐจะเสียประโยชน์เป็นหมื่นล้านบาท.