หากพูดถึงโรคต่อมลูกหมาก หลายๆ คนก็คงทราบกันมาบ้าง ว่าเป็นภาวะที่ต่อมลูกหมากที่อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะล้อมรอบท่อปัสสาวะมีขนาดใหญ่ผิดปกติ จนไปบีบท่อปัสสาวะให้แคบลง ซึ่งจะพบในผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไป และโดยเฉพาะในผู้ชายสูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไป พบมากถึง 80% เนื่องจากเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ระดับฮอร์โมนก็ค่อยๆ ลดลง เช่นเดียวกับผู้หญิง..

แต่เคยทราบบ้างหรือไม่ว่า มีอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ “โรคต่อมลูกหมาก” แย่ลง วันนี้ Healthy Clean จึงขอพามาหาคำตอบกัน

โดย นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน สังคมการใช้ชีวิตมีความตึงเครียด เร่งรีบ ความกดดันต่างๆ และสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ ซึ่งความเครียดสามารถเกิดขึ้นเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนของร่างกาย เช่น การทรงตัว เคลื่อนไหวทั่วๆ ไป และพบได้ทุกเพศทุกวัย หากมีความเครียดมากเกินไป จะส่งผลกระทบทางด้านปัญหาสุขภาพ ในบางรายอาจจะเป็นโรคซึมเศร้า หรือ โรควิตกกังวล ได้ในอนาคต

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการของความเครียดสามารถส่งผลต่ออาการของโรคต่อมลูกหมากแย่ลงได้ โดยผ่านกลไกลของระบบประสาทอัตโนมัติที่ตอบสนองต่อภาวะเครียด ผ่านฮอร์โมน ส่งผลให้กล้ามเนื้อเรียบบริเวณต่อมลูกหมากที่หุ้มท่อปัสสาวะ และทางออกกระเพาะปัสสาวะมีการหดรัดตัว จึงเกิดแรงเสียดทานในทางเดินปัสสาวะ สงผลทำให้ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่สุด และมีปริมาณปัสสาวะเหลือค้างในกระเพาะปัสสาวะปริมาณมากกว่าปกติ เป็นต้น

ผศ.พิเศษ นพ.ธเนศ ไทยดำรงค์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากความเครียดแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้อาการของโรคต่อมลูกหมากแย่ลง เช่น ผลข้างเคียงยาบางชนิด ภาวะการเสื่อมสภาพของกระเพาะปัสสาวะ ภาวะที่มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ภาวะต่อมลูกหมาโต มากขึ้นจนอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ หรือมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ โดยศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ เพราะภาวะเหล่านี้อาจส่งผลเสียที่ร้ายแรงได้ในอนาคต

ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติ ในระหว่างการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต ควรปรึกษาศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะทันที เพื่อปรับแผนการรักษาที่เหมาะสม..

………………………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”