“ถ้าป่วยโควิด-19 มีวัคซีนฉีด มียากินทั้งฟาวิพิราเวียร์และฟ้าทะลายโจร แต่โรคไข้เลือดออกยังไม่มีวัคซีน ทั้งที่พยายามพัฒนากันมาหลายปีแล้ว แต่เชื้อโรคไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะฉลาดกว่าเชื้อโควิด ปัจจุบันอยู่ในช่วงการพัฒนาวิจัยวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก แต่ยังไม่สำเร็จ และไม่มียาเฉพาะ แพทย์ต้องรักษาคนไข้ตามอาการเท่านั้น”

ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ซึ่งถือเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่รวมไปถึงกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ เนื่องจากอยู่ในภูมิภาคเขตร้อนชื้น และด้วยความสำคัญดังกล่าว 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงลงมติร่วมกันให้ทุกวันที่ 15 มิ.ย.ของทุกปีเป็น “วันไข้เลือดออกอาเซียน” (ASEAN Dengue Day) เพื่อร่วมกันรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกในวงกว้าง

“โควิด”ผ่อนคลาย-ไข้เลือดออกอาจระบาด!

สำหรับประเทศไทย ไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่ระบาดอย่างต่อเนื่องมากว่า 70 ปี โดยปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-8 มิ.ย.65 พบว่ามีผู้ป่วยสะสม 3,386 ราย เสียชีวิต 5 ราย เมื่อเทียบในช่วงเดียวกันกับปี 64 พบว่ายอดผู้ป่วยสะสมลดลง 21% โดยช่วงที่มีการระบาดจะเริ่มต้นในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพ.ค.เป็นต้นไป

“ปกติการระบาดของโรคไข้เลือดออก 1 ครั้ง จะมีภูมิคุ้มกัน 2-3 ปี ย้อนไปปี 62 มีการระบาดหนักกว่า 35,000 ราย (ม.ค.-มิ.ย.62) ต่อมาปี 63-64 เราเจอโควิด-19 ผู้คนส่วนใหญ่อยู่บ้าน ไม่ได้ทำอะไรก็คว่ำกะโหลกกะลา คว่ำอ่างน้ำ ทำความสะอาดบ้าน ตัดต้นไม้ ไม่มีแหล่งน้ำขังให้ยุงลายวางไข่ ยุงลายกับคนจึงไม่เจอกัน ยุงลายไม่เจอคนไข้ คนกับคนก็ไม่ได้เจอกัน และเด็กไม่ได้ไปโรงเรียน แต่ปีนี้ผู้คนเริ่มออกจากบ้าน มีการพบปะกัน เด็กเริ่มไปโรงเรียนที่มียุงลายวางไข่ไว้ จึงเกรงว่าปีนี้วงจรไข้เลือดออกจะกลับมาระบาด สถานการณ์โดยรวมถือว่าน่าห่วง จึงเห็นว่าควรเตือนภัยแล้ว”

ดร.พญ.ฉันทนา กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่กรมควบคุมโรคฝากเตือน คือทุกบ้านควรดูแลไม่ให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ รวมทั้งกาบใบต้นไม้ ที่อยู่ในตัวบ้าน และรอบบ้าน ถ้ามีน้ำขังในอ่าง กระถาง ควรล้างและขัดเพื่อให้ไข่ยุงลายหลุดออกไป รวมทั้งการทิ้งแก้วพลาสติกควรเทน้ำแข็งทิ้งก่อน และบีบแก้วให้แบนก่อนทิ้งได้ยิ่งดี ควรใช้สเปรย์ฉีดพ่น ฉีดยากันยุง และนอนกางมุ้ง ถ้ามีไข้สูงเกิน 39 องศาฯ ต่อเนื่อง 1-2 วัน และหน้าตาออกแดงๆ ควรรีบไปให้แพทย์ตรวจว่าเป็นไข้เลือดออกหรือเปล่า อย่าซื้อยากินเอง เพราะยาอาจไปกระตุ้นให้อาการรุนแรงขึ้น

“โควิด-19 มีชุดตรวจ ATK ส่วนไข้เลือดออกมีชุดตรวจเหมือนกันที่เรียกว่า NS1 ถ้าใครมีไข้สูงเกิน 39 องศาฯ ต่อเนื่อง 1-2 วัน ควรรีบไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อเจาะเลือดหยดลงไปใน NS1 เช็กว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ โดยปีนี้ได้พยายามกระจาย NS1 ไปตาม รพ.สต.มากขึ้น เพราะเป็นห่วงสถานการณ์การระบาด ที่สำคัญคือไม่อยากเห็นการป่วยพร้อมๆกัน 2 โรค ทั้งโควิดและไข้เลือดออก จะยุ่งยากมากในการรักษา ซึ่งใน 5 รายที่เสียชีวิต มี 1 รายเป็นโควิดก่อน แล้วเป็นไข้เลือดออก สันนิษฐานว่าเสียชีวิตเพราะซื้อยากินเอง กินยาลดการอักเสบ แต่ไม่ได้ลดไข้ เผลอๆไปได้ยาชุดมากิน ยิ่งกระตุ้นให้อาการไปเร็วและรุนแรง เมื่อไปถึงโรงพยาบาล ร่างกายไม่ไหวแล้ว”

ไข้สูงต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อแยกแยะโรค

ดังนั้นใครที่รู้ตัวว่ามีไข้สูง ต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วเพื่อแยกแยะโรค ถ้าเป็นไข้เลือดออก เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม.จะได้รีบเข้าไปฉีดพ่นฆ่าเชื้อโดยรอบบ้านในรัศมี 100 เมตร และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ดังนั้นถ้าหมู่บ้านหรือชุมชนไหนมีคนป่วย 5 หลังคาเรือน ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สาธารณสุขอำเภอ-จังหวัด ต้องรีบเข้าควบคุมไปดูแล

ปัจจุบันการดําเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นปัจจัยสําคัญในการขับเคลื่อนงานให้ประสบความสําเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อสม.ซึ่งอยู่ใกล้กับคนในชุมชนมากที่สุด ปัจจุบันมีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นปัจจัยสําคัญ เข้ามาช่วยดูแลสุขภาพ (Digital Health) คือ แอพพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ที่ภาคเอกชนคือ “เอไอเอส” เข้ามาพัฒนาไว้หลายปีแล้ว


“แต่เดิมการทำงานจะเป็นการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลโดยใช้แบบฟอร์มกระดาษ ทำให้การนำข้อมูลมาปรับใช้เกิดความคลาดเคลื่อนและล่าช้า แต่หลังจากนำเอารายงานสำรวจลูกน้ำยุงลายในแอปพลิเคชันอสม.ออนไลน์มาปรับใช้ ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของอสม.เกิดความคล่องตัว รวดเร็ว สามารถเก็บข้อมูลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ทั้งจำนวนบ้าน ลูกน้ำ ภาชนะ รวมถึงค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายที่พบในชุมชนและในบ้าน เพื่อส่งต่อไปยัง รพ.สต. รวมทั้งสาธารณสุขอำเภอ-จังหวัด ในการสรุปผลและติดตามการแพร่ระบาดในพื้นที่ได้อย่างใกล้ชิด กล่าวได้ว่าวันนี้กรมควบคุมโรคได้ใช้ประโยชน์ในการนําข้อมูลไปวิเคราะห์ร่วมกับจํานวนผู้ป่วยในพื้นที่ เพื่อคาดการณ์การเกิดการระบาด เพื่อแบ่งพื้นที่เสี่ยงสูง เสี่ยงปานกลาง เสี่ยงต่ำ และนําไปใช้ในการเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อจากยุงลาย เพื่อแจ้งเตือนพื้นที่และประชาชนถึงพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค” ดร.พญ.ฉันทนา กล่าว

“อสม.ออนไลน์” ลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ

ทางด้าน นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “เอไอเอส” กล่าวว่าเป้าหมายหลักของเราคือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย โดยเฉพาะในด้านสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม พิสูจน์ได้จากแอพ อสม.ออนไลน์ ที่กลายเป็นคลังความรู้ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่สำคัญ เนื่องจาก อสม.ได้นำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงาน ทั้งการให้ความรู้ในพื้นที่และเก็บข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะฟังก์ชันที่สำคัญอย่างรายงานสำรวจลูกน้ำยุงลาย เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังและช่วยลดการระบาดโรคไข้เลือดออกที่ได้ผลมาอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปี

สำหรับลักษณะการรายงานสำรวจลูกน้ำยุงลาย ได้ถูกเพิ่มขึ้นบนแอพ อสม.ออนไลน์ในปี 62 โดยการทำงานตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีครัวเรือนในประเทศไทยที่ได้รับการสำรวจลูกน้ำยุงลายและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ไปแล้วกว่า 5 ล้านหลังคาเรือน จากการสำรวจลูกน้ำยุงลายมากกว่า 100 ล้านครั้ง ไปพร้อมกับการให้คำแนะนำการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของบ้านให้ถูกสุขลักษณะ


เราทำอสม.ออนไลน์กันมา 7 ปี ปัจจุบันมี อสม.ทั่วประเทศประมาณ 1 ล้านคน ในจำนวนนี้ 500,000 คน แอคทีฟกับการใช้แอพ และในจำนวนนี้ 20% แอคทีฟมากๆ กับการใช้แอพ ในขณะเดียวกันได้มีการพัฒนาแอพมาโดยตลอด และเรียนรู้ไปพร้อมกับ อสม. โดยมีการพัฒนาเพิ่มประโยชน์ใช้สอยไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะการสำรวจลูกน้ำยุงลาย จะเป็นการสำรวจแบบเรียลไทม์ ที่เข้าถึงแหล่ง และมีความแม่นยำ จากที่เคยต้องจดข้อมูลลงในกระดาษ มาเป็นการใส่ข้อมูลลงในดิจิทัล ข้อมูลจะเข้าไปที่ รพ.สต.ทันที กระจายไปยังสาธารณสุขอำเภอ-จังหวัด ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นข้อมูลว่าพื้นที่ไหนมีปัญหา และต้องรีบเข้าไปควบคุม

“กรมควบคุมโรคและ อสม.ออนไลน์ อยากให้ทุกคนตระหนัก แต่อย่าตื่นตระหนก เนื่องจากโรคไข้เลือดออกและยุงลายอยู่กับคนไทยมานานแล้ว และคงอยู่กับเราต่อไป แต่สาระสำคัญอยู่ที่ว่าจะบริหารจัดการกันอย่างไร การคว่ำกระถาง อ่าง โอ่ง บ่อซีเมนต์ เท่านั้นไม่พอ แต่ต้องล้างและขัดด้วย” นางสายชล กล่าว