ถือว่าเป็นงานแรกของกสทช.ชุดใหม่ ประกอบด้วย ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง ศ.พิรงรอง รามสูต กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช.ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และรศ.ศุภัช ศุภชลาศัย กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์
ในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group) กรณีการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ทรู” กับบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค” ครั้งที่ 1 กลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ณ หอประชุมภายในสำนักงานกสทช. โดยมีกสทช. ผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 บริษัท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมประมาณ 100 คน
ผู้ให้บริการน้อยลง-ทางเลือกของผู้บริโภคยิ่งน้อย
งานนี้ตัวแทนจาก 2 ค่ายมือถือทรู-ดีแทค ต่างสงวนท่าที ด้วยการนั่งเงียบ แต่ที่เห็นจะได้น้ำได้เนื้อ คือ นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ “เอ็นที” กล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับการควบรวมทรู-ดีแทค เพราะจะเหลือผู้เล่น 2 ราย ซึ่งน้อยมาก จะสร้างตลาดกึ่งผูกขาด ถ้าอนาคตเกิดการหย่อนยานเรื่องการกำกับดูแล ทำให้บริษัทมีการควบรวมได้ก็ต้องมีครั้งต่อๆ ไป และผู้เล่นรายใหญ่ ปลาใหญ่ คงไม่ไปช่วยปลาเล็กที่จะทำให้ปลาเล็กอยู่รอดในธุรกิจ
การที่มีตลาดกึ่งผูกขาด หรือตลาดผูกขาด ส่วนตัวเชื่อว่าภาคบริการจะมีอำนาจในการกำหนดค่าบริการเองและถ้าผู้เล่นนั้นคือเอกชน การกำกับดูแลเอกชนโดยรัฐจะทำได้ยาก เพราะรัฐธรรมนูญบอกไว้อย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม
ดังนั้นการที่เรามีตลาดผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด ผลประโยชน์จะไม่ได้ตกไปอยู่กับผู้บริโภค แต่ตกอยู่กับผู้ให้บริการ เพราะฉะนั้นการมีผู้บริการน้อยราย หลายคนอาจจะบอกว่าเมื่อมีผู้เล่นน้อยรายแล้วจะส่งเสริมให้มีการแข่งขันดิจิทัลนั้น ตนมองตรงข้ามและอิสระจากกัน ไม่ได้บอกได้ว่ามีผู้เล่นน้อยรายแล้วจะส่งเสริมนวัตกรรม แต่มองว่าการส่งเสริมนวัตกรรมอยู่ที่ผู้ให้บริการแต่ละรายมีจุดยืนอย่างไรมากกว่า ที่พูดว่าหากไม่ควบรวมระหว่างทรู-ดีแทค จะไม่ทำให้เกิดนวัตกรรม ไม่เกิดไทยแลนด์ 4.0 ที่นำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาประเทศ ตนเชื่อว่าเวลาที่ผ่านมา มันสะท้อนความล้มเหลวของนโยบายนี้อย่างสิ้นเชิง ซึ่งคำตอบคือประเทศไทย 4.0 รัฐบาลใช้รัฐวิสาหกิจในการขับเคลื่อน รัฐบาลใช้เอกชนในการขับเคลื่อนด้วยซ้ำไป มาวันนี้เรากำลังบอกว่ามันไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ตอบโจทย์ แล้วที่ผ่านมารัฐบาลพยายามใช้เอกชนในการขับเคลื่อนภายใต้ตลาดที่มีการแข่งขัน คำถามคือรัฐบาลส่งเสริมถูกจุดหรือไม่ ในการส่งเสริมสตาร์ทอัพของประเทศให้มีที่ยืนให้ทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มของโครงข่ายประเทศจริงหรือไม่
“ในฐานะผู้บริโภค ผมยังมองไม่เห็นว่าการควบรวมกันครั้งนี้ ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์อย่างไร เพราะการที่เรามีผู้ให้บริการหลายราย ย่อมมีทางเลือกให้กับผู้บริโภคอยู่แล้ว เมื่อเขาอยากใช้บริการที่ดี เขาจะเลือกใช้ผู้ให้บริการโอเปอเรเตอร์รายนั้น การควบรวมเป็นการจำกัดทางเลือกของผู้บริโภคที่มีโอกาสเลือกสิ่งที่ดีที่สุด เพราะถ้ามีผู้เล่นน้อยราย โอกาสที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดจะน้อยลงไปด้วย เราต้องทนอยู่กับผู้ให้บริการรายเดิม ถ้าเขามั่นใจว่าลูกค้าไม่หนีไปไหนคุณภาพการขายการบริการจะแย่ลงๆ นี่คือหลักการของตลาดแข่งขันอยู่แล้ว ตราบใดที่ไม่มีการแข่งขันการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการจะไม่เกิดขึ้น”
ทำให้ค่าบริการสูงขึ้น-การแข่งขันลดลง
ส่วน นายพิเชษฐ์ ฤทธิสุนทร ตัวแทนจากเอ็นที กล่าวด้วยว่ากสทช. ได้นำเสนอข้อมูลที่เป็นภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมว่ามีสถานะอย่างไร แม้จะไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์ สิ่งหนึ่งคือทุกเซ็กเมนต์ได้รับผลกระทบหมด เพราะมีผู้เล่นลดลง แต่บางตลาดที่มีผู้เล่นน้อยอยู่แล้วอันนี้ได้รับผลกระทบสูงกว่า เช่น โทรศัพท์มือถือ ตนกำลังจะบอกว่าการควบรวมครั้งนี้ สร้างผลกระทบสะเทือนต่ออุตสาหกรรมค่อนข้างมาก แล้วเอ็นทีถือว่าเป็นผู้เล่นก็ได้รับผลกระทบด้วย หลังจากนี้จะมีผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น การศึกษาผู้วิเคราะห์โดยจ้างที่ปรึกษา ไม่ว่าจะทั้งในและต่างประเทศเป็นการวิเคราะห์ภายใต้ข้อมูลที่มีการคาดการณ์ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากฝากคือควรมีรายงาน มีบรรทัดฐานในการใช้พิจารณา ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการพิจารณา
ยกตัวอย่างปี 2020 มีการควบรวมโวดาโฟน กับเทเลโฟนอิตาลี สิ่งที่สหภาพยุโรปเขามีความกังวลคือ ไม่ได้กลัวว่ารายใหญ่จะไม่เกิดขึ้น แต่กลัวว่ารายเล็กจะไม่เกิด และต้องออกจากตลาดไป จึงออกมาตรการออกมามากมายเพื่อรองรับตลาดที่จะเกิดขึ้น ตนกำลังจะบอกว่ากสทช. ต้องคำนึงถึงผู้เล่นรายเดิมที่อยู่ในตลาดด้วยเช่นกัน เพราะข้อมูลที่เป็นเชิงรายงานจะทำให้ค่าบริการสูงขึ้น หรือการแข่งขันลดลง สิ่งเหล่านี้จะมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคทั้งสิ้น หน่วยงานกำกับต้องดูแลอย่างใกล้ชิด การพิจารณาครั้งนี้ กสทช.ต้องดูโอเปอเรเตอร์รายเดิมที่อยู่ในตลาดด้วย ว่าเขาจะอยู่ได้อย่างไร ผลจากการควบรวมในอิตาลี เขากลัวว่าคนที่อยู่เดิมจะอยู่ไม่ได้ จึงมีประกาศต่างๆ ออกมามากมาย
คลื่นความถี่ถูกถือครองโดยคนกลุ่มเดียวกัน
ขณะที่ นายศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “เอไอเอส” กล่าวว่าแม้จะมีความเห็นจากนักวิเคราะห์ในตลาดทุน ว่าการควบรวมครั้งนี้ จะเป็นการลดการแข่งขันทำให้ผู้ประกอบการรายที่เหลืออยู่ในตลาดได้รับประโยชน์ แต่เนื่องจากเอไอเอสในฐานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาล จึงไม่อาจเพิกเฉย เนื่องจากการควบรวมครั้งนี้จะส่งผลต่อการแข่งขันและอาจก่อให้เกิดการผูกขาด ลดทางเลือกของผู้ใช้บริการ ซึ่งเอไอเอสไม่อยากให้ตัวเองถูกบันทึกหรือจดจำในหน้าประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมประเทศ ว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมที่ทำให้เกิดการผูกขาด เป็นจุดด่างพร้อยในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทย
นายศรัณย์ กล่าวต่อไปว่า การประมูลคลื่นความถี่ในแต่ละครั้ง กสทช. ได้มีการกำหนด Spectrum cap ว่าผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายสามารถเข้าประมูลคลื่นความถี่ได้ไม่เกินกี่ชุด ผู้เข้าประมูลแต่ละรายต้องไม่มีความเกี่ยวโยงกัน เช่น บริษัทแม่-ลูกกัน หรืออยู่ในเครือเดียวกัน เพื่อไม่ให้คลื่นความถี่ถูกถือครองโดยคนกลุ่มเดียวกัน
“เอไอเอส” ขอความเป็นธรรม-กสทช.ควรเยียวยา
แต่เมื่อทั้ง 2 ราย ควบรวมกันจะเป็นการถือครองคลื่นความถี่ที่เกินกว่าหลักเกณฑ์กำหนดไว้ของรายอื่นได้ โดยไม่ต้องเข้าประมูลด้วยตนเอง ถ้าหากกสทช. ยินยอมให้ 2 รายควบรวมกัน กสทช.ควรมีการเยียวยาความเสียหายให้เอไอเอสด้วย เพราะเมื่อ 2 รายต่างคนต่างประมูลแล้วมารวมกันทีหลัง ทำให้เกิดการรวมคลื่นอยู่ในมือของคนกลุ่มคนเดียวกัน กฎ กติกาของการประมูลที่ตั้งไว้ จึงไม่มีผลใช้บังคับได้จริง ทำให้เอไอเอสเสียโอกาสจากการแสวงหาคลื่นความถี่ ซึ่งมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการจัดสรรคลื่นความถี่ ทั้งยังเห็นความสำคัญที่ต้องรีบการจัดหาคลื่นความถี่มาให้บริการให้ได้มากที่สุด เพื่อพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลของประเทศ ภายใต้กฎและกติกาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในอนาคต
การแสดงความเห็นในครั้งนี้ไม่ใช่การคัดค้านการควบรวม แต่เนื่องจากการควบรวมจะก่อให้เกิดผลกระทบไม่ใช่แค่เอไอเอส แต่จะกระทบทั้งอุตสาหกรรมโทรคมนาคม บริษัทจึงต้องการความชัดเจนของกระบวนการทำงานของกสทช. ในการพิจารณาการควบรวมอย่างโปร่งใส เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อกฎหมายที่กำกับดูแล
โดยกสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแล ควรส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันในตลาด ไม่ควรดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นการลดการแข่งขัน ที่เห็นได้ชัดเจนคือ การลดจำนวนผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดจาก 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย ก่อให้เกิดสภาวะตลาดผูกขาดแบบ Duopoly ที่มีรายใหญ่มีอำนาจเหนือตลาดเหลืออยู่เพียง 2 รายอย่างถาวร แม้ กสทช. จะออกมาตรการเฉพาะใดๆ มาก็ตาม แต่ไม่สามารถเยียวยาหรือแก้ไขกลับคืนให้สภาวะตลาดกลับมามีสภาพการแข่งขันเหมือนดังเช่นปัจจุบันได้
ทีมข่าว Special Report รายงานด้วยว่าช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ค่ายเอไอเอสได้ส่งหนังสือคัดค้านการควบรวมถึงประธานบอร์ดกสทช. โดยมีใจความสำคัญว่าการควบรวมกิจการระหว่างทรู-ดีแทค ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด และต่อผู้บริโภค ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่ ขัดต่อหลักเกณฑ์ประมูลคลื่นความถี่ด้วย การปล่อยให้เกิดการควบรวมทรู-ดีแทค จะทำให้ตลาดมีการกระจุกตัวสูง ส่งผลเสียต่อการแข่งขัน
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาค่าดัชนีการแข่งขัน (HHI) ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ 3 ราย เมื่อสิ้นไตรมาส 3 ปี 64 แม้ยังไม่มีการควบรวม แต่ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศกระจุกตัวในอัตราที่สูงมากอยู่แล้ว หาก กสทช.อนุญาตให้ควบรวมธุรกิจจะยิ่งทำให้บริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 53.4% ส่งผลต่อค่าดัชนี HHI หลังการควบรวมมากขึ้นไปอีก ทำให้บริษัทใหม่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ ส่งผลต่อการแข่งขัน และเข้าข่ายเป็นการครอบงำตลาด
นอกจากนี้ การควบรวมจะเป็นการกีดกันการเข้าสู่ตลาดของผู้แข่งขันรายใหม่ และการเติบโตของผู้แข่งขันรายเล็ก ที่สำคัญการอนุญาตให้ทรู-ดีแทคควบรวมกิจการ จะก่อให้เกิดการกระจุกตัวของคลื่นความถี่ ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่
ควบรวมแล้วคลื่นดีขึ้น-ต้องร่วมกันสู้กับเอไอเอส
อย่างไรก็ตามงาน Focus Group ที่กสทช.จัดขึ้นครั้งนี้ ได้มีผู้แสดงความเห็นกว่า 10 คน คล้อยตามไปกับการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค ต่างระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า การควบรวมที่เกิดขึ้นในอนาคตย่อมส่งผลดีอย่างมากต่ออุตสาหกรรม เพราะทำให้สัญญาณดีขึ้น เนื่องจากบางพื้นที่ค่ายใด ค่ายหนึ่งอาจจะอับสัญญาณ ก็สามารถทดแทนด้วยสัญญาณและเสาส่งของอีกค่ายได้ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดในการสต๊อกวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ไว้มากมายโดยไม่จำเป็น
บ้างก็มองว่าเอไอเอสมีกำไรมาก ทิ้งห่างเบอร์ 2 และ 3 ทำให้เอไอเอสมีกำไรมาขยายเครือข่ายมากกว่าอีก 2 ราย ดังนั้นอีก 2 ราย ไม่มีงบลงทุนขยายเครือข่าย หรือมีงบลงทุนน้อยจึงสู้ไม่ได้ ต้องควบรวมกันเพื่อแข่งขันกับเบอร์ 1
แต่อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เกี่ยวข้องและองค์กรผู้บริโภค ต่างจับจ้องไปยังอำนาจและหน้าที่ของ กสทช.ว่าจะไปในทิศทางใด? เพราะตามรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯพ.ศ. 2553 มาตรา 27 (11) และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 บัญญัติว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคม มิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม ได้แก่ (2) การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน