ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งงบฯ ไว้ 3,185,000,000,000 บาท (3.185 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 65 จำนวน 8.5 หมื่นล้านบาท มีคิวจะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระแรกวันที่ 31 พ.ค. และวันที่ 1-2 มิ.ย.นี้

ทีมข่าว “Special Report” ได้รับข้อมูลจาก ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย นั่งวิเคราะห์งบฯ ปี 66 ด้วยการแยกพิจารณาเป็น 2 ส่วน คือ 1.โครงสร้างงบประมาณ และ 2.ความเหมาะสมของการจัดสรรงบประมาณ

1.โครงสร้างงบประมาณ-ขาดดุลชนเพดาน งบลงทุนต่ำติดพื้น โดยงบปี 66 นั้น ตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะสามารถขาดดุลได้สูงสุด 7.17 แสนล้านบาท รัฐบาลก็ตั้งขาดดุลถึง 6.95 แสนล้านบาท มีกันชนอยู่แค่ 22,000 ล้านบาทเท่านั้น ถือว่าน้อยมาก เพราะหากเก็บภาษีไม่เข้าเป้า ซึ่งมีแนวโน้มสูงมาก จะทำให้ยอดขาดดุลชนเพดานทันที งบลงทุนก็ต่ำติดพื้นที่ 6.95 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขที่ต่ำสุดเท่าที่ พ.ร.บ.วินับการเงินการคลังระบุไว้ ว่างบลงทุนต้องไม่น้อยกว่าการขาดดุลงบประมาณในปีนั้นๆ ซึ่งถ้าเก็บภาษีไม่เข้าเป้า ต้องขาดดุลเพิ่มก็ไม่ได้อีกแล้ว เพราะจะขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังทันที จะเห็นได้ว่าทั้งประเด็นการขาดดุล และงบลงทุนนั้น งบปี 66 แทบจะไม่มีช่องให้หายใจเลย

งบปี 66 เหมือนน้ำมันไม่เพียงพอขับเคลื่อนประเทศ

ทางด้านจำนวนก็ไม่เข้ากับสถานการณ์ งบปี 66 ถูกตั้งไว้ที่ 3.185 ล้านล้านบาท ที่น่าเป็นห่วงคือมันยังน้อยกว่างบในช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 ทั้งๆ ที่ มองไปข้างหน้าแล้วเห็นแต่ปัญหาใหญ่ๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูประเทศจากที่ยับเยินจากโควิด-19 ปัญหาเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ยของประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากเงินงบประมาณยังมีน้อยแล้ว เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็เหลืออยู่เพียง 6-7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เพราะฉะนั้นอยากให้จับตาการออก พ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่ มีช่องว่างให้ทำได้อยู่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท โดยเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยเห็นว่าถ้ากู้มาแล้วใช้เหมือน พ.ร.ก.กู้เงินทั้งสองฉบับที่ผ่านมา จะเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ เราจึงเสนอให้หากจำเป็นต้องกู้จริงๆ ก็ให้ทำหลังเลือกตั้งแล้ว เราอยากเห็นแต่ละพรรคการเมืองแข่งขันกันนำเสนอแนวทางการใช้จ่ายเงินกู้เป็นนโยบายให้ประชาชนตัดสินในช่วงการเลือกตั้ง

2.ความเหมาะสมของการจัดสรรงบประมาณ-แผนด้านสำคัญกลับได้งบน้อย แต่ไปโป่งด้าน EEC

ดร.เผ่าภูมิ กล่าวต่อไปว่า แผนส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากมีงบเพียง 1,474 ล้านบาท แผนพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตมีงบเพียง 1,555 ล้านบาท แผนรองรับสังคมสูงวัยมีงบเพียง 449 ล้านบาท แผนรัฐบาลดิจิทัลมีงบเพียง 2,356 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ แต่กลับทุ่มงบแผนด้าน EEC ถึง 11,087 ล้านบาท ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคืองบสำหรับสำนักงานคณะกรรมการ EEC อู้ฟู่ได้รับงบเพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่าตัว ซึ่งต้องตั้งคำถามดังๆ ถึงประสิทธิภาพโดยรวมของ EEC ในช่วงที่ผ่านมา ว่าเรายังจะยังยืนยันใช้ EEC เป็นหัวหอกขับเคลื่อนประเทศจริงๆ หรือ

งบความมั่นคงอู้ฟู่-งบพัฒนาถดถอย!

สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติฯ ได้รับงบเพิ่มถึง 11.3% สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ ได้รับงบเพิ่มถึง 120.7% สำนักงานสภาความมั่นคงฯ ได้งบเพิ่ม 5.7% ในขณะที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนถูกตัดงบ โดยเฉพาะงานด้านความสามารถในการแข่งขันที่ถูกหั่น จะเห็นได้ว่าหน่วยงานสังกัดสำนักนายกฯที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงต่างพากันอู้ฟู่ ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจกลับไม่ได้รับความสำคัญ แล้วที่น่าติดตามคือสำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติได้งบเพิ่ม 670% โดยเน้นจัดงบไปที่ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องติดตามกันอย่างละเอียดอย่างใกล้ชิด

แรงงานได้งบเพิ่มจริง แต่น้อยกว่าปี 64 อยู่มาก แรงงานต่างด้าว-ค้ามนุษย์ถูกมองข้าม

ส่วนปัญหาด้านแรงงานนั้นสำคัญมากเพราะกระทบหนักสุดจากโควิด-19 กระทรวงแรงงานมีหน้าที่สำคัญมากต่อจากนี้ในการปรับโครงสร้างแรงงานใหม่ ต้องหาทางดึงแรงงานกลับสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการหลังจากไหลสู่ภาคการเกษตรในช่วงโควิด รวมทั้งปัญหาแรงงานคืนถิ่น แต่ยังดีที่ปีนี้ไม่เหมือนปีที่แล้วที่กระทรวงแรงงานถูกตัดงบอย่างหนักท่ามกลางวิกฤติ ปีนี้กระทรวงแรงงานได้รับงบเพิ่มจริง แต่ยังต่ำกว่ากว่างบปี 64 ถึง 22% และปัญหาบางด้านถูกละเลย เช่น ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ของกรมการจัดหางานถูกตัดงบถึง 34.2% ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ ในกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งเป็นหัวจักรในการ Upskill Reskill ซึ่งจำเป็นสูงสุดหลังการตกงานจำนวนมากของแรงงาน แต่งบด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นงานหลักกลับถูกตัดถึง 8.7% และงานด้านการส่งเสริม SMEs กับถูกตัดงบตรงนี้หมดเกลี้ยง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้รับงบเพิ่มจริง แต่ส่วนที่เพิ่มขึ้นเกือบ 75% นั้นไปกองอยู่ที่งบด้านบุคลากร ในขณะที่งบสำหรับงานหลักของหน่วยงานเกี่ยวสวัสดิการกลับไม่ได้รับความสำคัญ

การศึกษาถูกละเลย 2 ปีของเด็กที่หายไปไม่ได้รับการชดเชย

สำหรับ กระทรวงศึกษาธิการเป็นอีกหนึ่งกระทรวงที่ต้องพูดถึงให้มาก เพราะโควิดทำให้เราเจอกับ 2 ปีที่หายไปกับการศึกษาไทย นอกจากนั้นยังเจอเรื่องเด็กหลุดออกจากการศึกษาจากพิษเศรษฐกิจ เป็นหน้าที่หลักของกระทรวงศึกษาฯในการชดเชยโอกาสที่เสียไปของเด็กไทย ถือเป็นงานที่ท้าทายมาก แต่กลับถูกตัดงบสูงถึง 4,526 ล้านบาท กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้งบเพิ่มจริงหลังจากที่ถูกหั่นลึกในงบปี 65 แต่ยังได้งบไม่เท่าที่เคยได้ในปี 64 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤติด้วยซ้ำ

งบกลางเยียวยาโควิดถูกตัดทั้งๆ ที่ประเทศยังไม่ฟื้น!

ในส่วนของงบกลาง งบเยียวยา บรรเทาและแก้ไขโควิดถูกหั่นลงถึง 13,362 ล้านบาท หรือหายไป 82% ทั้งๆ ที่ยังมีความจำเป็นที่ต้องดูแลธุรกิจและแรงงานที่ได้รับผลกระทบอยู่อีกมาก ภาคการท่องเที่ยวและบริการยังคงย่ำแย่อยู่ คาดว่ารัฐบาลจะไปใช้เงินกู้ แต่เงินในส่วนนั้นก็เหลืออยู่ไม่มากและต้องใช้เพื่อชำระคืนรายจ่ายด้านสาธารณสุขอีก

งบส่งเสริม SME ถูกตัดเกือบทุกมิติ งบวิจัยหดหาย

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม งานด้านการส่งเสริม SMEs ซึ่งเป็นงานหลักถูกตัดงบถึง 4.7% ที่น่าเป็นกังวลคืองบ SME Bank ซึ่งเป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่ดูแล SME โดยเฉพาะ กลับถูกตัดงบหายไปถึงครึ่งหนึ่ง ทั้งๆที่เป็นกลจักรสำคัญในการฟื้นฟู SME โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ ในช่วงวิกฤติที่ธนาคารพาณิชย์ไม่พร้อมยื่นมือมารับความเสี่ยงของ SME ภาครัฐต้องใช้ธนาคารเฉพาะกิจเหล่านี้เป็นกลไกในการส่งผ่านสินเชื่อสู่ SME มากขึ้น งบของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ ถูกตัดในส่วนงานสำหรับส่งเสริม SME ลงลึกถึง 68.6% กองทุนส่งเสริม SME สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ต่างถูกหั่นงบพร้อมกันถ้วนหน้า มองแล้วไม่เห็นอนาคตของ SME ไทย

“จะเห็นได้ว่างบปี 66 นั้น ด้านโครงสร้างหลักเจอกับทางตันทั้งกรอบบนและกรอบล่าง ต้องลุ้นให้เก็บภาษีให้เข้าเป้า ซึ่งมองไปข้างหน้าแล้วเหนื่อย เพราะมีแต่ปัญหาใหญ่ๆ รออยู่ทั้งนั้น ด้านการจัดสรร ก็ยังมีเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ในหลายด้านที่เป็นกลจักรสำคัญ เช่น SME แรงงาน การศึกษา เศรษฐกิจฐานราก เหล่านี้กลับถูกลดทอนความสำคัญ อยากฝากถึงรัฐบาลว่า เมื่อเงินกู้ใกล้หมดแล้ว น้ำมันถังสุดท้ายของประเทศก็คืองบก้อนนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดสรรให้คุ้มค่าที่สุด ก่อนที่จะไม่มีน้ำมันในการขับเคลื่อนต่อไป” ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย กล่าว