เมื่อวันที่ 27 ก.ค. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงทรัพยากรฯ อยู่ระหว่างเตรียมการขอบันทึกสถิติโลก ไม้กลายเป็นหินยาวที่สุดในโลก ใน Guinness World Record หลังจากที่ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตรวจสอบไม้กลายเป็นหินที่พบในบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย จ.ตาก แล้วว่า มีความยาวมากกว่าที่มีการบันทึกอยู่ในปัจจุบัน

นายจตุพร จากการที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ได้รับทราบข้อมูลว่า ได้มีการค้นพบไม้กลายเป็นหินหลายต้น โดยต้นที่ 1 ที่ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2546 หรือเมื่อ 18 ปีที่แล้ว มีความยาวมากที่สุด คือ ยาว 72.22 เมตร หรือเทียบเท่ากับความสูงของตึก 20 ชั้น มีอายุไม่ต่ำกว่า 120,000 ปี และจากการตรวจสอบพบว่าเป็นต้นทองบึ้ง ซึ่งไม่มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน แต่จะพบมากในพื้นที่ป่าดิบชื้นทางภาคใต้ของประเทศไทย และบริเวณคาบสมุทรมาลายู จากการค้นพบดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งธรณีวิทยาที่สำคัญ มีซากดึกดำบรรพ์ที่สามารถเป็นแหล่งศึกษาวิวัฒนาการของโลก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงกว่า 120,000 ปีที่ผ่านมาได้ ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า ในอดีตพื้นที่ จ.ตาก เคยมีสภาพเป็นป่าดึกดำบรรพ์มาก่อน

นายจตุพร กล่าวว่า จากการเล็งเห็นคุณค่าความสำคัญของซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าว นายวราวุธ จึงได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณี และกรมอุทยานฯ ร่วมกันตรวจสอบสถิติข้อมูล ไม้กลายเป็นหินที่มีการถูกบันทึกไว้ โดยพบว่า ไม้กลายเป็นหินที่มีความยาวที่สุดในโลก ที่มีการบันทึกสถิติอยู่ในปัจจุบัน เป็นไม้กลายเป็นหินที่พบที่เมือง Qitai มณฑลซินเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน มีความยาวเพียง 38 เมตร กรมทรัพยากรธรณีฯ จึงได้ประสานงานกับสำนักงานของ Guinness World Record ยื่นเอกสารขอบันทึกสถิติโลกใหม่ เพื่อบันทึกสถิติโลกไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก ให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างเตรียมการยื่นข้อเสนอรับรองสถิติโลกอย่างเป็นทางการต่อไป

นายจตุพร กล่าวว่า การเตรียมการยื่นข้อเสนอรับรองสถิติโลก ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ และประชาชนในพื้นที่จังหวัดตาก รวมไปจนถึงภาคธุรกิจเอกชน ที่ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์มรดกทางธรณีของประเทศในครั้งนี้ ซึ่งได้แก่ กลุ่มบริษัท ปตท. และบริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันสร้างความภาคภูมิใจ และการเป็นแหล่งเรียนรู้ซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยต่อไปในอนาคต เนื่องจากซากดึกดำบรรพ์แต่ละชิ้นล้วนมีความสำคัญ ที่สามารถเป็นตัวบ่งชี้ถึงปัจจุบันและอนาคตได้ เพราะอดีตจะเป็นตัวกำหนดปัจจุบัน และปัจจุบันจะเป็นตัวกำหนดอนาคต ดังนั้น งานด้านการอนุรักษ์และคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ จึงเป็นอีกงานที่สำคัญทางด้านธรณีวิทยาของไทย.