สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองหลานโจว ประเทศจีน เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ว่า บทความวิจัยชิ้นล่าสุด ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเอิร์ธ ซิสเต็ม ไซแอนซ์ ดาตา ( Earth System Science Data ) ระบุว่า คณะนักวิจัยจีนได้สร้างแผนที่ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว ( permafrost ) ของซีกโลกเหนือ ฉบับใหม่ ระหว่างปี 2543-2559 ที่มีความละเอียดระดับ 1 กิโลเมตร


แผนที่ดังกล่าวซึ่งผสานข้อมูลภาคสนามจำนวนมาก กับข้อมูลจากดาวเทียมหลายแหล่ง และใช้โมเดลการเรียนรู้เชิงสถิติควบคู่กับกลยุทธ์การเรียนรู้หลากหลาย ( Ensemble strategy ) จัดเป็นแผนที่ที่มีความแม่นยำมากกว่าแผนที่ฉบับก่อน ๆ โดยพบว่าพื้นที่ชั้นดินเยือกแข็งคงตัวในซีกโลกเหนือมีขนาดราว 14.77 ล้านตารางกิโลเมตร เมื่อไม่นับรวมพื้นที่ธารน้ำแข็งและแหล่งน้ำ


นายหร่าน โหย่วหัว นักวิจัยจากสถาบันสภาพแวดล้อมเชิงนิเวศวิทยา และทรัพยากรตะวันตกเฉียงเหนือ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน กล่าวว่า การกระจายตัวของอุณหภูมิพื้นดินเฉลี่ยต่อปีในซีกโลกเหนือมีความแปรผันตามระดับละติจูดอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ชั้นดินเยือกแข็งคงตัวหนาวจัดในภูมิภาคไฮอาร์กติก จนถึงชั้นดินเยือกแข็งคงตัวอบอุ่นในภูมิภาคภูเขา และที่ราบสูงที่ละติจูดต่ำ เช่น ที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต และที่ราบสูงมองโกเลีย


อุณหภูมิพื้นดินเฉลี่ยต่อปีของชั้นดินเยือกแข็งคงตัวในบริเวณขั้วโลกที่สาม ( พื้นที่ที่ครอบคลุมที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตและเทือกเขาหิมาลัย ) อยู่ที่ประมาณ -1.56 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิของชั้นดินเยือกแข็งคงตัวของภูมิอาร์กติกอยู่ที่ราว -4.7 องศาเซลเซียส
นอกจากนี้ แผนที่ดังกล่าวยังแสดงทั้งอุณหภูมิพื้นดินเฉลี่ยต่อปีและความหนาของชั้นดินเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นดัชนี 2 รายการสำคัญที่สุด ของสถานะความร้อนของชั้นดินเยือกแข็งคงตัว


ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้าถึงแผนที่ฉบับใหม่นี้ได้ทางออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อสนับสนุนการวางแผนโครงการและการวิจัยเกี่ยวกับภัยพิบัติ วัฏจักรคาร์บอน วัฏจักรของน้ำ และระบบนิเวศในภูมิภาคหนาวเย็น.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA