เมื่อวันที่ 28 มี.ค. นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รัฐสภา กล่าวถึงการประชุม กมธ. วันที่ 30 มี.ค. เพื่อลงมติเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เบอร์เดียวกัน หรือคนละเบอร์ ว่าส่วนตัวเตรียมลงมติให้ใช้หมายเลขต่างกัน ตามที่เสนอไว้ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 และในอนาคตอาจเป็นช่องทางที่มีผู้ยื่นเรื่องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นให้เป็นโมฆะ
นายนิกร กล่าวว่า ความต้องการให้มีหมายเลขเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เดียวกัน เพื่อสะดวกในการลงคะแนนเลือกตั้ง เหมือนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ. 2554 ที่ระบุชัดเจนว่า บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองจัดทำขึ้นพรรคการเมืองละหนึ่งบัญชี และให้ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนวันเปิดรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ดังนั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้ง 2 แบบ ไม่ยึดโยงกันโดยตรง ทำให้ กกต. สามารถนำเบอร์ของพรรคการเมืองที่ได้ก่อน ใช้กับผู้สมัครแบบเขตของพรรคนั้น ๆ เป็นเบอร์เดียวกันเพื่อความสะดวกได้ แต่การแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ กมธ.พิจารณา ต้องทำให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 90 ที่กำหนดให้การเลือกตั้งทั้ง 2 ระบบ ผูกมัดระหว่างกัน
“ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 90 กำหนดให้พรรคการเมือง ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อก่อน ถึงมีสิทธิส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ ซึ่งหลักการดังกล่าวไม่สามารถปรับเป็นวิธีสมัครแบบเขต ที่รอเบอร์ไว้ก่อน โดยอ้างว่าแล้วเสร็จ จากนั้นให้เปิดสมัครแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้เบอร์ที่ได้ภายหลังไปยกให้ผู้สมัครแบบเขตของพรรคนั้น ๆ ได้ เพราะหากทำจะเข้าทำนองวิถีศรีธนญชัย สุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้องให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นโมฆะได้” นายนิกร กล่าว
นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กล่าวว่า เพื่อไทย เสนอให้ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรคเป็นเบอร์เดียวกัน โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อความสะดวกของประชาชนผู้ใช้สิทธิ แต่ลึก ๆ พรรคเพื่อไทยคงจะวิเคราะห์ว่า ถ้าได้เป็นเบอร์เดียวกันทั่วประเทศ จะทำให้เกิดโอกาสแลนด์สไลด์ได้ง่ายขึ้น แต่รัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 90 บัญญัติไว้ว่า “พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วให้มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้” ดังนั้น กมธ.หลายท่านจึงมีความเห็นว่า จำเป็นต้องรับสมัคร ส.ส.แบบเขตก่อน และมีเบอร์ของผู้สมัคร ส.ส.เขตแล้ว เมื่อสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภายหลังจำเป็นต้องเป็นคนละเบอร์กับเบอร์ ส.ส.เขต เมื่อมีการลงมติเรื่องนี้คาดว่า กมธ.เสียงข้างมากอาจไม่เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทย และจะจบลงที่เบอร์ ส.ส.เขต กับเบอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นคนละเบอร์กัน ซึ่งจะส่งผลดับฝันแผนการแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย
“ในส่วนของพรรคพลังธรรมใหม่ เราคิดว่าการกำหนดเป็นเบอร์เดียวกันตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอ น่าจะเป็นผลดีต่อพรรคพลังธรรมใหม่มากกว่าคนละเบอร์ แต่ด้วยเหตุผลทางกฎหมายจากรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 90 และด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์ที่ทางพรรคไม่สนับสนุนต่อการแลนด์สไลด์ ที่จะทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภา และเกิดการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายตามมา ผมยืนยันที่จะลงมติไม่เห็นด้วยกับหลักการเบอร์เดียวทั่วประเทศของพรรคเพื่อไทย แต่ถ้า กมธ.เสียงข้างมากลงมติเลือกข้อเสนอของเพื่อไทย ทางผมจะสงวนคำแปรญัตติไปสู้ในที่ประชุมร่วมรัฐสภา วาระ 2 ต่อไป เพื่อให้ ส.ส. และ ส.ว. ตัดสินใจร่วมกัน” นพ.ระวี กล่าว.