นายวรรณชัย บุตรทองดี ผู้อำนวยการกองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า ได้จัดสัมมนาโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มูลค่าลงทุน 6,449 ล้านบาท เพื่อประเมินความสนใจของนักลงทุนภาคเอกชน (Market Sounding) โดยมีหน่วยงานราชการและภาคเอกชนเข้าร่วม ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 มี.ค.65

โครงการศึกษาดังกล่าวนี้เป็นการต่อยอดจากการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือสำราญดำเนินการแล้วเสร็จ และคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญ ณ บริเวณแหลมหินคม ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม ดังนั้น กรมฯ มีนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรูปแบบภาครัฐกับเอกชน หรือ PPP Net Cost โดยรัฐจะลงทุนในส่วนของค่าเวนคืนที่ดิน ค่างานก่อสร้างโยธาและค่างานระบบภายในอาคารทั้งหมด และให้เอกชนลงทุนในส่วนของอุปกรณ์ประกอบการดำเนินงาน ดำเนินงานและบำรุงรักษาท่าเรือ

รวมถึงให้เอกชนมีสิทธิในรายได้ของโครงการทั้งหมดเป็นระยะเวลา 30 ปี หากรายได้โครงการต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนที่เอกชนคาดหวัง เอกชนอาจได้รับการชดเชยผลตอบแทนจากภาครัฐในรูปแบบของเงินสนับสนุนหรือเงินร่วมลงทุน และหากรายได้ของโครงการสูงกว่าอัตราผลตอบแทนที่เอกชนคาดหวัง เอกชนอาจต้องแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ภาครัฐ ในรูปแบบของส่วนแบ่งรายได้หรือค่าสัมปทาน ทั้งนี้ท่าเรือสำราญจะสามารถรองรับเรือสำราญได้พร้อมกัน 2 ลำ ได้แก่ เรือสำราญขนาดใหญ่ 4,000 คน เรือสำราญขนาดกลาง 2,500 คน และรองรับเรือยอชท์สูงสุด 80 ลำ เรือเฟอรี่สูงสุด 6 ลำ ซึ่งท่าเรือมีขนาดความยาวหน้าท่า 362 เมตร ความลึกร่องน้ำ 12 เมตร อาคารผู้โดยสารบรรจุ 3,600 คน

อย่างไรก็ตามหลังจากสัมมนาครั้งนี้ กรมฯ จะรวบรวมความคิดเห็นผู้ร่วมสัมมนา เพื่อมาสรุปผลให้สมบูรณ์มากที่สุด ก่อนเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาเห็นชอบภายในปี 65 จากนั้นตั้งเป้าว่าจะเริ่มเปิดประมูลหาเอกชนร่วมลงทุนในปี 66 ก่อสร้างในปี 67-69 และเปิดให้บริการได้ในปี 70

โครงการดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจากที่ผ่านมา ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตของจำนวนครั้งที่เรือสำราญเข้าเทียบท่าสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 57-62 มีอัตราการเติบโตของจำนวนครั้งที่เรือสำราญเข้าเทียบท่าสูงถึงร้อยละ 87.7 โดยในปี 62 มีเรือสำราญที่เข้าเทียบท่า 550 ครั้ง โดยเกาะสมุยมีเรือสำราญที่เข้าเทียบท่า 59 ครั้ง สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากท่าเรือภูเก็ตและท่าเรือแหลมฉบังเท่านั้น ทั้งนี้ระหว่างปี 53-62 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเรือสำราญเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 5.3 ต่อปี

ขณะเดียวกัน เกาะสมุย เป็นอีกจุดหมายปลายทางที่มีความสำคัญ ซึ่งเรือสำราญที่เข้าไทยมักเลือกเป็นจุดแวะพักของเรือสำราญ เนื่องจากมีชายหาดที่สวยงามและแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย แต่ในปัจจุบันเรือสำราญยังไม่สามารถเข้าเทียบท่าได้โดยตรง จะต้องอาศัยเรือขนาดเล็กในการรองรับนักท่องเที่ยวจากเรือสำราญขึ้นมาท่องเที่ยวและใช้จ่ายบนเกาะสมุย ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยและไม่สะดวกกับนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวของประเทศ สนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวให้กระจายเม็ดเงินไปสู่ผู้คนในท้องถิ่น ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ของการท่องเที่ยวทางน้ำในอนาคตยั่งยืน ช่วยรองรับการท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน บริเวณเกาะสมุย ตามแผนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวเรือสำราญทางน้ำ ที่ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสำราญทางทางทะเลและชายฝั่งตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม