โดยมีความเสี่ยงสูงมาก ที่จะสูญเสียถิ่นอยู่อาศัย และระบบสาธารณูปโภค จากระดับที่สูงขึ้นของน้ำทะเล

จากรายงานของสำนักข่าวเอเชีย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (เอเอ็นเอ็น) ในรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ไอพีซีซี (The Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) บันทึกตอนหนึ่งว่า จากภาวะโลกร้อนขึ้น ที่กำลังดำเนินอยู่ กลุ่มคนรุ่นใหม่ในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะได้เห็นการสูญเสียผืนดินอยู่อาศัย และระบบสาธารณูปโภค ในพื้นที่ชายฝั่ง มากขึ้นเรื่อย ๆ จากผลพวงของน้ำท่วม ที่เกิดจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างไม่มีทางเลี่ยง

ความสูญเสียจะสูงมาก ในหลายเมืองของภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่ตั้งอยู่ตลอดแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก

รายงานของไอพีซีซี สรุปว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากยุคก่อนอุตสาหกรรม ผลกระทบจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ภาวะโลกร้อน” จะหนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้นอีก และบางภูมิภาคไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมได้

เบนจามิน ฮอร์ตัน ผู้เชี่ยวชาญระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ทุกภูมิภาคทั่วโลก ที่จะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ร้ายแรงที่สุดคือเอเชีย เนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก อาศัยอยู่บนที่ราบลุ่มชายฝั่งของทวีป

จากการวิเคราะห์ทางวิชาการพบว่า ภายในปี 2593 ประชากรโลกประมาณ 300 ล้านคน ที่อาศัยอยู่บนที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล ถิ่นอาศัยจะจมอยู่ใต้น้ำ จากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น โดย 75% ของจำนวนดังกล่าว อยู่ใน 6 ประเทศในเอเชีย ประกอบด้วย จีน บังกลาเทศ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย

รายงานของ ไอพีซีซี ยังพบอีกว่า ความเสี่ยงต่อเมือง และชุมชนที่อยู่อาศัยตามแนวชายฝั่ง คาดว่าจะสูงขึ้น “อย่างน้อย 1 ระดับขนาด” ภายในปี 2643 หากไม่มีแผนใหญ่จัดการแก้ไขวิกฤติ

ระดับน้ำทะเลที่กำลังสูงขึ้น ไม่ใช่ภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมเพียงหนึ่งเดียว ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญ วินสตัน เชา นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์ (เอสเอ็มยู) หนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญ ที่เขียนรายงานของไอพีซีซีชิ้นนี้ กล่าวว่า 10 ประเทศกลุ่มอาเซียน ได้รับผลกระทบจากผลพวงของภาวะโลกร้อน เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง อากาศร้อนระอุในชุมชนเมือง

คาดว่าแนวโน้มผลกระทบในปัจจุบัน จะเลวร้ายลงอีกในอนาคต โดยเฉพาะหากอุณหภูมิพื้นผิวโลก สูงขึ้นผ่านหลัก 1.5 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรม และอุณหภูมิเฉลี่ยในระดับปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบเห็นชัด ต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติหลายแห่ง ชนิดที่ยากที่จะกลับคืนสภาพ เช่น การสูญสลายของแนวปะการัง ในทะเลจีนใต้

โลกร้อนขึ้นหมายความว่า หลายพื้นที่ของอาเซียน ที่พึ่งพาน้ำจากการละลายของธารน้ำแข็ง เช่น หลายเมืองตลอดแนว 2 ฟากฝั่งแม่น้ำโขงตอนบน แหล่งน้ำจืดจะลดลงอย่างมาก เนื่องจากมวลน้ำแข็งลดลง ในธารน้ำแข็งต้นแหล่งบนเทือกเขาหิมาลัย

เชาบอกว่า เมืองและประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้มาตรการ “ปรับตัว” เพื่อลดความสูญเสียและความเสียหาย จากผลกระทบของภาวะโลกร้อนในอนาคต

สำหรับความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น มาตรการปรับตัวอาจจะรวมถึง การสร้างกำแพงกันคลื่นทะเล หรือฟื้นฟูป่าชายเลน เนื่องจากระบบนิเวศเหล่านี้ มีระบบรากซับซ้อน ที่สามารถปรับตัวเข้ากับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นได้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES