สงครามการสู้รบระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” สร้างความวิตกให้กับผู้คนทั่วทุกมุมโลก เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ในทุกมิติที่จะตามมา ทั้งการบาดเจ็บ ล้มตาย ผู้อพยพพลัดถิ่น ตึกรามบ้านช่องถูกทำลายเสียหาย ปัญหาเศรษฐกิจ เสถียรภาพของราคาน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ และสิ่งสำคัญคือความกังวลเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อาจได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากภัยการสู้รบดังกล่าว

วันนี้ทีมข่าว “Special Report” มีโอกาสคุยกับ นางเพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และโฆษก ปส. ในบทบาทหน้าที่ของ ปส. และการติดตามเฝ้าระวังเกี่ยวกับปัญหาการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ท่ามกลางสถานการณ์สู้รบในประเทศยูเครน

“ยูเครน” ดีไซน์และจัดการดีกว่า “เชียร์โนบีล”

นางเพ็ญนภากล่าวว่าตอนนี้ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของประเทศคู่กรณี และประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงเกี่ยวกับการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีใน 3 ส่วนด้วยการ คือ 1.ผลที่จะเกิดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2.ผลที่จะเกิดจากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย และ 3.ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าเชียร์โนบีลที่เคยเกิดอุบัติเหตุรุนแรงเมื่อเดือน เม.ย. 2529

เนื่องจากอุบัติเหตุที่เชียร์โนบีล ยังมีพื้นที่ปนเปื้อนทางรังสีอยู่ ซึ่งอายุของรังสีที่เรากังวล คือ “ซีเซียม” มีอายุยาวมากหลายสิบปี แต่ไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง และมีการกันพื้นที่ไม่ให้ประชาชนเข้าไปในบริเวณนั้น

สำหรับในประเทศยูเครน จากข้อมูลทราบว่ามีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 แห่ง จำนวน 15 ยูนิต ซึ่งถือว่าเยอะ และมีขนาดใหญ่กว่าเชียร์โนบีล แต่เป็นคนละประเภทกัน สมมุติถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาความร้ายแรงจะขึ้นอยู่กับประเภทและการจัดการ ซึ่งในยูเครนมีดีไซน์ มีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยที่ดีกว่าเชียร์โนบีล และตอนนี้เจ้าหน้าที่ของยูเครนยังเป็นผู้ดำเนินการและควบคุมอยู่ โดยทางยูเครนได้รายงานสถานการณ์ให้ IAEA ทราบทุกวัน เกี่ยวกับระดับของรังสี ยังไม่มีการแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการภายในโรงไฟฟ้ายังเป็นไปโดยปกติ

“ทาง IAEA รายงานความเคลื่อนไหวให้สังคมโลกทราบทุกวันในสิ่งที่ทุกคนวิตกกังวล เกี่ยวกับปัญหาการปนเปื้อนในอากาศ และการฟุ้งกระจายของรังสี แต่เนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในยูเครนมีการดีไซน์ที่ดีกว่าเชียร์โนบีล ด้วยโครงสร้างที่ปิดทึบและหนากว่า ดังนั้นปัญหาการฟุ้งกระจายจึงมีน้อย และที่สำคัญคือประเทศไทยอยู่ห่างจากยูเครนประมาณ 7,000 กิโลเมตร ปัญหาการฟุ้งกระจายอาจจะไม่ต้องวิตกกังวล แต่ขึ้นอยู่กับทิศทางลม และตำแหน่งที่เกิดเหตุ แต่เท่าที่ประเมินกัน ถ้าโชคร้ายขึ้นมาจริงๆ น่าจะครอบคลุมพื้นที่ประเทศรอบๆ หรือแค่ทวีปยุโรปเท่านั้น”

18สถานีเฝ้าระวัง “รังสี” ในอากาศแบบเรียลไทม์

นอกเหนือจาก IAEA ที่เฝ้าระวังการรั่วไหล และการฟุ้งกระจายรังสี ยังมี “องค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์” หรือ “CTBTO” ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวจะคอยเฝ้าระวังเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ และการทดลองนิวเคลียร์ คงมีการประเมินสถานการณ์ในยูเครนกันทุกวัน

รองเลขาธิการ ปส. กล่าวต่อไปว่าสำหรับประเทศไทยแม้จะอยู่ไกลจากยูเครน 7,000 กิโลเมตร แต่ ปส.มี 18 สถานี คอยเฝ้าระวังการแพร่กระจายรังสีในอากาศ ตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศและเป็นการเฝ้าระวังแบบเรียลไทม์ หรือถ้าไม่ได้รับผลกระทบเรื่องการฟุ้งกระจายของรังสี แต่เราต้องเข้มงวดในเรื่องของการนำเข้าอาหาร ผลไม้ และผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆ ที่มาจากยุโรป

โดยเฉพาะสินค้าจำพวก “นม-ชีส” ต้องตรวจสอบกันอย่างละเอียดว่ามีสารปนเปื้อนเข้ามาด้วยหรือไม่ ถ้ามีต้องสั่งระงับการนำเข้า เนื่องจากหลังเกิดอุบัติเหตุที่เชียร์โนบีล เราเคยตรวจเจอนมผงนำเข้าที่มีสารปนเปื้อน เพราะวัวอยู่กับพื้นดินและกินหญ้าที่มีสารปนเปื้อนตกค้างอยู่ จึงต้องตรวจสอบผลิตภัณฑ์นม-ชีส รวมถึงผลไม้กันเป็นพิเศษ แม้ปริมาณสารปนเปื้อนจะไม่มากก็ตาม แต่ต้องสั่งระงับการนำเข้าในช่วงเวลาหนึ่ง ถ้าควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม จึงเปิดให้นำเข้าต่อไปได้

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จีน-ใกล้ไทยที่สุด!

ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ตั้งอยู่ใกล้ประเทศไทยที่สุดในตอนนี้ คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศจีน เป็นดีไซน์ของจีนและจีนควบคุมเองทั้งหมด ปัจจุบันมีอยู่แล้ว 4 แห่ง และกำลังสร้างอีก 2 แห่ง อยู่ห่างจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยประมาณ 600 กิโลเมตร ส่วนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนาม มีโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่มาเจอปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและโควิด-19 เวียดนามจึงยกเลิกโครงการดังกล่าวไป ตอนนี้จึงเหลือแต่ฟิลิปปินส์ ที่คิดจะทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ไม่แน่ใจว่าจะลงมือเมื่อไหร่

“สำหรับประเทศไทย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ อย่างที่เราทราบกันอยู่ และถ้าจะมีก็ต้องเป็นนโยบายของกระทรวงพลังงาน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บรรจุอยู่ในแผนพลังงานฉบับที่ใช้กันอยู่ปัจจุบัน สรุปคือไม่ง่ายและต้องใช้เวลา สมมุติถ้าตัดสินใจวันนี้ต้องรออีกเป็น 10 ปี กว่าจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์” นางเพ็ญนภา กล่าว