หลายฝ่ายกำลังคาดเดา การเดินหมากเกมของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ซึ่งอาจจะเพียงแค่เคลื่อนไหวข่มขู่ หรืออาจถึงขึ้นเปิดสงครามเต็มรูปแบบ แต่อีกความเป็นไปได้ ที่สร้างความวิตกแก่หลายประเทศในยุโรปคือ รัสเซียอาจลด หรือระงับ การส่งก๊าซธรรมชาติให้ยุโรป

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่การพึ่งพาก๊าซรัสเซียอย่างหนักของยุโรป กลายเป็นปัญหา วิกฤติยูเครนครั้งที่แล้วในปี 2557 รัสเซียบุกโจมตียูเครน สถานการณ์คล้ายกับล่าสุด ตอนนั้นยุโรปแก้ปัญหาง่าย ๆ ด้วยการหาซื้อก๊าซจากแหล่งอื่น แต่ปรากฏว่าไม่ได้ผล และครั้งนี้ก็น่าจะไม่ได้ผลอีกเช่นกัน    

ปี 2556 สหภาพยุโรป หรือ อียู นำเข้าก๊าซจากรัสเซีย ประมาณ 27% ของก๊าซที่ใช้ทั้งหมดในเครือข่าย แต่ 9 ปีต่อมา แทนที่จะลดการพึ่งพาลง อียูกลับนำเข้าก๊าซรัสเซียมากกว่าเดิม โดยตัวเลขปี 2563 อยู่ที่ 38%     

ทั่วยุโรป ระดับการพึ่งพาก๊าซรัสเซีย แตกต่างกันมากในแต่ละประเทศ บางประเทศแทบไม่ซื้อก๊าซรัสเซีย หรือซื้อน้อย เช่น สหราชอาณาจักร และสวีเดน กลุ่มประเทศทางตอนกลางและตะวันออก รวมถึงหลายประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต พึ่งพา 100% หรือใกล้เคียง

ที่ซื้อมากที่สุดในยุโรปคือ เยอรมนี ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของทวีป ถึงขั้นรัสเซียลงทุนก่อสร้างท่อส่ง “นอร์ด สตรีม 2” มายังเยอรมนี และโครงการใกล้จะเสร็จสมบูรณ์  แต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ บอกว่า โครงการนอร์ด สตรีม 2 จะเดินหน้าไม่ได้ หากรัสเซียรุกรานยูเครน

คาดรี ซิมสัน กรรมาธิการพลังงานอียู นัดประชุมฉุกเฉินกับ 2 ประเทศผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ อาเซอร์ไบจานและกาตาร์ เพื่อขอซื้อก๊าซเพิ่ม โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจากับนอร์เวย์ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป

ขณะที่ไบเดนพยายามช่วยเหลือ เจรจากับหลายประเทศ เพื่อขอแบ่งก๊าซนำเข้ามาให้อียู หากเกิดปัญหารัสเซียปิดท่อส่ง และสหรัฐอาจจะส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวบางส่วน ช่วยยุโรปด้วย

นักวิเคราะห์มองว่า มีความเป็นไปได้สูง ที่สหรัฐและพันธมิตร จะไม่สามารถหาก๊าซทดแทนก๊าซรัสเซีย ให้ยุโรป ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพพอ

ผลวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยสถาบันคลังสมอง บรือเกล (Bruegel) แห่งกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ได้ข้อสรุปว่า หากรัสเซียระงับส่งก๊าซให้ อียูจะเกิดภาวะขาดแคลน และจะต้องแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ด้วยการลดการใช้ก๊าซ

และแม้สหรัฐจะสามารถหาก๊าซจากแหล่งอื่นมาช่วยได้ แต่นั่นไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาในระยะยาว

ผู้นำตะวันตก ทั้งในยุโรปและสหรัฐ เรียกร้องมานาน ให้ยุโรปลดการพึ่งพาพลังงานรัสเซีย เพื่อจำกัดการตกเป็นเบี้ยล่าง ในเกมการต่อรองทางภูมิรัฐศาสตร์ของปูติน พล.อ.เอช. อาร์. แม็คมาสเตอร์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ การพึ่งพาก๊าซรัสเซีย ทำให้ปูตินมี “อำนาจบีบบังคับ” มหาศาล ต่อเศรษฐกิจยุโรป

ยกตัวอย่างช่วงเกิดวิกฤติพลังงานในยุโรป ระหว่างเดือน ก.ย.-พ.ย. ปีที่แล้ว รัสเซียลดการส่งออกก๊าซไปยังยุโรป ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลน และราคาพลังงานพุ่งสูง เห็นผลกระทบทันตา.                                  

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS