นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายในไตรมาส 3 นี้ ธปท.เตรียมออกประกาศหลักเกณฑ์เรื่องการกำกับดูแลค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์กว่า 300 รายการ เพื่อให้การคิดค่าธรรมเนียมสะท้อนต้นทุนและรายได้ที่เกิดขึ้นจริง โดยทุกธนาคารจะต้องทบทวนและเปิดเผยค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจนบนเว็บไซต์ เพื่อความโปร่งใส รวมทั้งให้ ธปท.ดึงข้อมูลเพื่อให้ประชาชนเปรียบเทียบเลือกใช้บริการแต่ละธุรกรรมได้ว่า คิดค่าธรรมเนียมเท่าไรบ้าง

สำหรับหลักเกณฑ์นี้จะคล้ายกับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการให้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม หรือมาร์เก็ตคอนดักท์ ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกัน 7-8 ข้อที่จะกำหนด แต่ ธปท.จะไม่กำหนดเป็นอัตราว่าค่าธรรมเนียมแต่ละประเภทจะเป็นเท่าไร เพราะต้นทุนแต่ละธนาคารแตกต่างกัน และให้เกิดการแข่งขันระหว่างธนาคาร โดยเมื่อหลักเกณฑ์ได้ประกาศไปแล้ว ธปท.จะสุ่มตรวจว่าอัตราค่าธรรมเนียมเป็นอย่างไร และต้องตอบให้ได้ว่าสอดคล้องกับต้นทุนธนาคารอย่างไร

นอกจากนี้ในปี 65 ธปท.จะร่วมมือกับภาครัฐและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ช่วยกันแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรที่ปัจจุบันเป็นปัญหามาก และจะถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องทำ โดยมีหลายด้านที่ติดขัดกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ เพราะ พ.ร.บ.การจัดตั้งของ ธ.ก.ส.ที่แตกต่างจากธนาคารอื่น ๆ โดยหากเข้าไปแก้ไขด้วยเกณฑ์เดียวกับธนาคารพาณิชย์จะเป็นเรื่องใหญ่ อาจทำให้รัฐสูญเสียรายได้

ส่วนเรื่องลดเพดานดอกเบี้ยรายย่อย ธปท.จะพิจารณาดูผลกระทบให้รอบด้าน ทั้งการกำหนดราคา และการเข้าถึงเงินของประชาชนบางกลุ่ม โดยปัจจุบันสินเชื่อบุคคล เพดานดอกบี้ย 25% ต่อปี เมื่อดูรายลูกหนี้ส่วนใหญ่คิดดอกเบี้ยแค่ 20% เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย ถ้าหากลูกหนี้มีความเสี่ยงสูงคิดเต็มเพดาน 25% เลยก็มี ทำให้ ธปท.ต้องศึกษาผลกระทบ เนื่องจากหากดอกเบี้ยต่ำ แต่ลูกหนี้ความเสี่ยงสูง ธนาคารจะไม่กล้าปล่อยกู้ให้ประชาชน ซึ่งจะผลักกลุ่มนี้ไปสู่หนี้นอกระบบแทน และจะเกิดปัญหามากกว่า เพราะดอกเบี้ยสูงมาก

“หลังจากนี้ ธปท.มีแผนแก้หนี้ประชาชนระยะยาวอย่างยั่งยืน 4 ด้าน คือ 1.เพิ่มความรู้ทางการเงินประชาชน 2.ดึงข้อมูลเข้าเครดิตบูโรมากขึ้น เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ ใช้เป็นฐานข้อมูลให้เจ้าหนี้อื่น ๆ ประกอบปล่อยกู้ 3.การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ไม่ให้ลูกหนี้มีหนี้เกินตัว อย่ามองแต่ผลประโยชน์ และ 4.ส่งเสริมให้มีช่องทางกู้ยืมที่เหมาะสม สร้างช่องทางใหม่ เช่น พีทูพีเลนดิ้ง”

นางธัญญนิตย์ กล่าวว่า การพักหนี้ 2 เดือนที่ออกมานั้น เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้เร่งด่วน เพื่อประคองตัวไม่ให้ได้รับผลกระทบ แต่สิ่งสำคัญคือต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อให้การแก้ไขเกิดความยั่งยืน และความช่วยเหลือขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารจะพิจารณา โดยการแก้ที่ตรงจุดต้องพยายามสะสางการก่อหนี้ ถ้าไม่หยุดก่อหนี้ ภาระเพิ่มมากขึ้น และเมื่อถึงจุดนั้นจะส่งผลกระทบต่อธนาคารเจ้าหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารจะตัดหนี้ พักหนี้ตลอดไม่ได้ จะกระทบเสถียรภาพทางการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตามตั้งแต่โควิดระบาด หนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นโดยข้อมูลไตรมาสแรก มีหนี้ถึง 90.5% ของจีดีพี มาจากรายได้ประชาชนหดตัวลดน้อยลง ที่ผ่านมา ธปท.เร่งแก้หนี้ผ่านมาตรการหลากหลาย เช่น คลินิกแก้หนี้ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ และมาตรการช่วยลูกหนี้ข้อมูลสิ้นเดือน พ.ค.64 ช่วยเหลือไป 4.9 ล้านบัญชี คิดเป็น 3.2 ล้านล้านบาท เป็นรายย่อยถึง 4.4 ล้านบัญชี คิดเป็น 1.6 ล้านล้านบาท