จากรายงานของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ซีอีโอของ 2 บริษัทที่ได้รับเชิญ เผยว่า จุดประสงค์หลักของการประชุมครั้งนี้ เพื่อจุดไฟให้อุตสาหกรรมไฮเปอร์โซนิกทั้งหมด (light a fireunderneath the entire hypersonic industry) และ “กระตุ้นอุตสาหกรรมไล่ตามคู่แข่งให้ทัน”

พล.อ.อ.เดวิด ทอมป์สัน ผู้บัญชาการกองทัพอวกาศสหรัฐ กล่าวในเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว หลังจีนและรัสเซียประกาศความสำเร็จการทดสอบอาวุธไฮเปอร์โซนิกครั้งใหม่ว่า สหรัฐต้องเร่งรีบพัฒนาโครงการไฮเปอร์โซนิกอย่างด่วนจี๋ เพราะเทคโนโลยีของสหรัฐยังไม่ก้าวหน้าเท่ากับจีน และรัสเซีย

จากแถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ พล.อ.ออสตินจะแถลงหัวข้อการหารือแบบคร่าว ๆ ตอนเริ่มเปิดการประชุม ซึ่งจะมีนางแคทลีน ฮิคส์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน การหารือจะเน้นทางด้านแนวทางเร่งการพัฒนาขีดความสามารถล้ำยุค และแนวคิดใหม่สำหรับปฏิบัติการ

ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย บริษัท ล็อคฮีด มาร์ติน เรย์เธียน เทคโนโลยีส์ นอร์ธรอป กรัมแมน โบอิ้ง เลโดส แอโรเจ็ต ร็อคเกตไดน์ บีเออี ซิสเต็มส์ แอล 3 แฮร์ริส และอีกประมาณ 6 บริษัทด้านกลาโหมในสหรัฐ

พล.อ.ออสติน กล่าวว่า ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกของจีนสามารถไปได้ทุกที่ทั่วโลก เดินทางด้วยความเร็วเหนือเสียง 5 เท่าหรือ 5 มัค หรือมากกว่าสร้างความท้าทายต่อระบบป้องกันของศัตรู

ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกสามารถเดินทางในระดับต่ำกว่าขีปนาวุธวิถีโค้งสูงมาก ซึ่งอย่างหลังศัตรูสามารถตรวจจับได้ง่าย

การทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกของจีนและรัสเซีย ทั้งล้มเหลวและสำเร็จในหลายครั้งล่าสุด ทำให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐต้องรีบเพิ่มความเร่งด่วน และเพิ่มทรัพยากรในโครงการพัฒนาของสหรัฐ

ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 รัฐบาลสหรัฐจัดสรรงบจำนวน 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (126,820 ล้านบาท) สำหรับโครงการวิจัยไฮเปอร์โซนิกเพิ่มขึ้นจาก 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564

จุดมุ่งหมายในการพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิกของสหรัฐและ 2 ประเทศคู่ปรับทางภูมิรัฐศาสตร์จีน-รัสเซียแตกต่างกัน โดย 2 คู่หูมหาอำนาจตะวันออกจะเน้นขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ ส่วนสหรัฐเน้นการพัฒนาหัวรบธรรมดา ที่มีความแม่นยำสูงกว่า และยากลำบากมากกว่าทางด้านเทคโนโลยีในการพัฒนา

การพัฒนาของสหรัฐบริษัทรับเหมาคู่สัญญามีหน้าที่ผลิตอาวุธ และระบบอาวุธส่วนการทดสอบส่วนใหญ่ เป็นหน้าที่ของเหล่าทัพซึ่งตอนนี้มี 6 กองทัพ ประกอบด้วยกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ เหล่านาวิกโยธิน หน่วยยามฝั่ง และกองทัพอวกาศ

อุตสาหกรรมไฮเปอร์โซนิกสหรัฐประสบปัญหา และความล้มเหลวหลายครั้ง ในรอบปีที่ผ่านมา โดยในเดือน ต.ค. การทดสอบระบบยิงนำส่งล้มเหลว ไม่สามารถนำขีปนาวุธเคลื่อนตัวสู่ความเร็วไฮเปอร์โซนิกได้ และในเดือน เม.ย. ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกไม่ยอมแยกตัวออกจากเครื่องบินทิ้งระเบิดบี-52เอช ในระหว่างการทดสอบเหนือท้องฟ้า ฐานทัพอากาศเอ็ดเวิร์ดส์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

พล.อ.อ.จอห์น ไฮเทน อดีตรองประธานคณะเสนาธิการร่วมกองทัพสหรัฐ กล่าวว่า ความล้มเหลวในการทดสอบของสหรัฐ ทำให้กระบวนการพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิกช้าลง นอกจากนั้น สหรัฐทำการทดสอบอาวุธประเภทนี้เพียงแค่ 9 ครั้ง ในระยะ 5 ปี ล่าสุด ขณะที่จีนทดสอบ “หลายร้อยครั้ง”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES