น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้กรมสรรพากรเตรียมออกประกาศมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีการโอนทรัพย์ เพื่อสนับสนุนโครงการพักทรัพย์พักหนี้วงเงิน 1 แสนล้านบาท เชื่อว่าจะทำให้ผู้ประกอบการเข้าพักทรัพย์พักหนี้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมียอดอนุมัติ 14 ราย คิดเป็น 959 ล้านบาท โดยสามารถเปิดยื่นได้ยาวจนถึงวันที่ 9 เม.ย.66

“ก่อนหน้านี้มีข่าวว่ากองทุนจากต่างชาติจะเข้ามาขอซื้อโรงแรมในราคาถูก จึงมีแนวคิดในการมาตรการนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่มีทรัพย์สินที่สามารถตีโอนชำระหนี้ได้ และมีศักยภาพ ให้ไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินชั่วคราว มีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจได้ในอนาคต โดยไม่ถูกกดราคาทรัพย์สิน ซึ่งที่ผ่านมามีต่างชาติขอเข้ามาซื้อโรงแรมในราคาต่ำมาก ดังนั้นการดำเนินการนี้จะป้องกันการกดราคาของทรัพย์สินด้วย โดยการช่วยเหลือนั้น จะต้องเป็นความสมัครใจจากทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ โดยการดำเนินการจะเป็นธรรมทั้งในการคำนวณค่าเช่า ราคา และค่าดูแล”

สำหรับโครงการพักทรัพย์พักหนี้มีข้อกำหนด คือ สถาบันการเงินจะต้องให้สิทธิแรกกับผู้ประกอบการรายเดิม ซื้อทรัพย์คืน หรือ สามารถเช่าทรัพย์ได้ โดยราคาใกล้เคียงกับต้นทุนการรับโอน ขณะที่ ธปท.จะสนับสนุนสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อสนับสนุนการรับตีโอนทรัพย์ของสถาบันการเงิน และผ่อนปรนเกณฑ์สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรม ขณะที่ภาครัฐจะสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีและค่าธรรมเนียมการตีโอนรับชำระหนี้ ทั้งขารับโอนและขาซื้อคืนทรัพย์

ส่วนคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ เป็นบุคคลธรรมดาหรือ นิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทย มีสถานประกอบการและประธุรกิจในไทย เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินนั้นอยู่แล้วก่อนวันที่ 1 มี.ค. 64 และไม่เป็นเอ็นพีแอล ณ วันที่ 31 ธ.ค.62 สำหรับทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกัน จะต้องเป็นทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินนั้นก่อนวันที่ 1 มี.ค.64

ทั้งนี้ ลูกหนี้หรือเจ้าของทรัพย์ มีสิทธิซื้อคืนได้ภายในระยะเวลา 3-5 ปี นับแต่วันที่รับโอน สถาบันการเงินต้องไม่ขายทรัพย์สินที่รับโอน เว้นแต่ได้รับแจ้งว่าจะไม่ใช่สิทธิเป็นหนังสือ โดยลูกหนี้หรือเจ้าของทรัพย์สามารถเช่ากลับเพื่อนำไปประกอบธุรกิจต่อได้ โดยจะต้องแจ้งความประสงค์ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่สถาบันการเงินรับโอนทรัพย์ สถาบันการเงินจะนำค่าเช่าที่ได้รับดังกล่าว หักจากราคาขายคืนด้วย

อย่างไรก็ตาม หากผู้เช่าทำทรัพย์สินเสียหาย ชำรุด เสื่อมค่า อาจไม่ได้รับสิทธิในการซื้อคืน โดยหากมีการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์นั้น สิทธิซื้อคืนยังคงเดิม เว้นแต่ลูกหนี้ผิดสัญญาจนสถาบันการเงินยกเลิกสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ แต่ยังคงให้สิทธิลูกหนี้แสดงเจตนาว่าจะซื้อทรัพย์คืนภายใน 30 วัน

นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบ 2 ธปท. กล่าวว่า มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู 2.5 แสนล้านบาท ได้อนุมัติสินเชื่อ 23,687 ราย คิดเป็น 72,391 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็ก 44.5% ประกอบธุรกิจพาณิชย์และบริการ 67.6% และลูกหนี้ที่อยู่ในต่างจังหวัด 68.5% โดยวงเงินสินเชื่อหากเป็นลูกหนี้เดิม จะขอกู้ได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินในแต่ละสถาบันการเงิน แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท ทั้งนี้ หากเคยได้รับสินเชื่อซอฟต์โลนเดิมให้นับรวมด้วย ส่วนลูกหนี้ใหม่ ขอกู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยให้นับรวมวงเงินจากทุกสถาบันการเงิน