“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า จากแนวคิดการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ในกรุงเทพฯ(Bangkok) เพื่อนำเงินเข้ากองทุน 2 แสนล้านบาท ที่จะนำไปใช้ซื้อรถไฟฟ้าทุกสายคืนจากเอกชนเพื่อจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายในราคา 20บาทตลอดสายของรัฐบาลนั้น ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนหนึ่ง จากการประมวลความคิดเห็นของแฟนเพจเฟซบุ๊ก”ข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์”ในเรื่องนี้พบว่ามีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ฮือฮา! คมนาคมมีแนวคิดจัดเก็บ ‘ค่าธรรมเนียมรถติด’ 40-50 บ. เพื่อใช้ซื้อรถไฟฟ้าคืน
โดยฝ่ายที่เห็นด้วยให้ความเห็นว่า เป็นวิธีปฎิบัติที่ต่างประเทศใช้แก้ไขปัญหาคับคั่งของรถยนต์ในหลายเมือง เพื่อจูงใจประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นทางเลือกในการทิ้งรถส่วนบุคคล จะช่วยลดปริมาณรถยนต์ส่วนตัว ลดปัญหามลพิษ แต่ต้องทำระบบฟีดเดอร์ให้ดีและพร้อม เป็นต้น ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่า ระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อรถไฟฟ้ายังไม่พร้อม ไม่มีฟีดเดอร์รองรับ ปัจจุบันรถไฟฟ้าในชั่วโมงเร่งด่วนแน่นมาก รอนาน ควรเพิ่มจำนวนตู้โดยสารรถไฟฟ้าก่อน วิธีปฎิบัติยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ที่สำคัญกฎหมายไทยในการจัดการกับผู้ฝ่าฝืนไม่ศักดิ์สิทธิ์ การห้ามจอดรถบนถนนสายต่างๆ ยังจัดการไม่ได้ เป็นต้น
สำหรับการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ กรุงลอนดอน อังกฤษ ฮ่องกง และนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในส่วนของประเทศไทยมีแนวคิดนี้มานานเป็น 20 ปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้เพราะประชาชนต่อต้านทำให้ฝ่ายการเมืองไม่กล้าสวนกระแส ประกอบกับรถไฟฟ้ายังไม่คลอบคลุมมากพอ และต้องมีรายละเอียดวิธีปฎิบัติที่ชัดเจน อาทิ เส้นทางที่พร้อม โดยมีรถไฟฟ้าเป็นทางเลือก วิธีจัดเก็บ ประเภทรถที่จัดเก็บ อัตราจัดเก็บ เป็นต้น
ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า การจัดตั้งกองทุน 2 แสนล้านบาท ที่จะนำไปใช้ในการซื้อรถไฟฟ้าทุกสายคืนเพื่อจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายในราคา 20บาทตลอดสาย เบื้องต้นเงินในกองทุนประกอบด้วย 2 ส่วนคือ 1.การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลที่เข้ามาในเขตพื้นที่ใจกลางเมือง ผ่านแนวเส้นทางรถไฟฟ้า อาทิ สุขุมวิท สีลม และรัชดาภิเษก จากข้อมูลมีปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลบนถนนประมาณ 7 แสนคันต่อวัน ยังเป็นเพียงแนวคิด
เนื่องจากกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมจ้างที่ปรึกษาศึกษาการจัดตั้งกองทุน ส่วนจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ในอัตราเท่าใดนั้น กระทรวงการคลังจะไปพิจารณารายละเอียดต่างๆ ตัวอย่างเช่น 5 ปีแรกอาจจะเก็บ 40-50 บาท ปีต่อไปก็อาจจะจัดเก็บเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อเก็บค่าธรรมเนียมจะทำให้มีปริมาณรถยนต์มาใช้ถนนที่จะจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ลดลง เหลือประมาณวันละประมาณ 6 แสนคันต่อวัน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ สมทบเข้ากองทุนได้ประมาณปีละ 1 หมื่นล้านบาท และ 2.การระดมทุนจากประชาชน คล้ายกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย(กองทุน TFF) โดยกองทุนฯ จะมีระยะเวลาลงทุน 30 ปี
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ในการดำเนินการจะต้องนำรายละเอียดต่างๆ ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาด้วย รวมถึงในแง่ของกฎหมาย ที่อาจต้องมีกฎหมายขึ้นมารองรับ เพื่อให้สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมซึ่งเป็นโมเดลที่หลายประเทศนิยมใช้