เมื่อวันที่ 7 ม.ค. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขระบุว่าพบการระบาดของโควิด-19 กลายคลัสเตอร์ในหลายจังหวัดในช่วงวันหยุดปีใหม่ แม้เบื้องต้นสายพันธุ์โอมิครอนจะอาการไม่รุนแรง แต่กระทรวงแรงงานไม่ได้ได้นิ่งนอนใจ จึงได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมหารือร่วมกับโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม 50 กว่าแห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมฮอสพิเทล (Hospitel) ไว้รองรับ และสร้างการรับรู้เรื่องมาตรการป้องกันตนเอง ไม่การ์ดตก โดยขณะนี้มีหนังสือแจ้งไปยังสถานประกอบการ แคมป์คนงานก่อสร้าง ให้ดำเนินการตามาตรการควบคุมป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งแรงงานไทยและต่างด้าวไปแล้วกว่า 100 ล้านโด๊ส จึงทำให้มีภูมิคุ้มกัน รวมถึงการตรวจคัดกรองเพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อเข้าสู่รักษาตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และในวันที่ 17 ม.ค.นี้กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม จะมีการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โด๊ส เข็ม 3 ให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ด้วย
ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมผู้แทน รพ.เครือข่ายประกันสังคม 50 แห่ง ผ่านระบบ Zoom ว่า วันนี้ได้หารือกันเพื่อให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 สามารถใช้สิทธิในการเข้ารับการรักษาใน รพ.ตามสิทธิ หากเกินศักยภาพให้ส่งต่อผู้ป่วยไปยัง รพ.ที่มีศักยภาพสูงกว่า กรณีที่ผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิได้ เนื่องจากอยู่ต่างจังหวัด หรือต่างพื้นที่ สามารถเข้ารักษาได้ในสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้, รพ.สนาม, Hospitel, ศูนย์กักตัวในชุมชน (Community Isolation : CI), รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ผู้ป่วยอาการน้อย หรือไม่มีอาการ (สีเขียว) เข้าดูแลที่บ้าน โดยให้ลงทะเบียนเข้าระบบรักษาตัวที่บ่านผ่านเว็บไซต์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือโทร. 1330 หรือรักษาใน Hospitel ซึ่งในปัจจุบัน สถานพยาบาลในระบบประกันสังคม มี Hospitel จำนวน 12,856 เตียง และจำนวนเตียงว่างคงเหลือ 3,230 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ม.ค. 2565)
นอกจากนี้ยังมี โครงการ Factory Sandbox ในการตรวจ รักษา ควบคุมโรคในสถานประกอบการ โรงงาน โดยเน้นไปที่โรงงานภาคการผลิตส่งออกขนาดใหญ่ คือ 1. ตรวจคัดกรองด้วย RT-PCR 100% เพื่อแยกคนป่วยไปรักษาทันทีและดำเนินการตรวจ Self-ATK ทุกสัปดาห์ 2. รักษา ให้โรงงานจัดให้มีสถานรักษาพยาบาลขึ้น เป็นสถานแยกกัก (Factory Isolation : FAI), และ Hospitel สำหรับผู้ป่วยสีเขียว โรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและห้องผู้ป่วยวิกฤติ สำหรับผู้ป่วยสีแดง 3. ดูแล ฉีดวัคซีนให้แรงงานโดยเน้นกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง ส่วนคนท้องออกใบรับรอง “โรงงานสีฟ้า” เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน 4.ควบคุม โดยให้นายจ้างและแรงงานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค ในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and seal) และมาตรการ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
เลขาธิการ สปส. กล่าวต่อว่า สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ค่าตรวจคัดกรองโรคโควิด 1. กรณีตรวจใน รพ./นอกรพ.โดยหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. หากเป็นผู้ประกันตนคนไทยเบิกเงินจาก สปสช. ส่วนผู้ประกันตนคนต่างชาติ เบิกจาก สปส. 2.กรณีตรวจคัดกรองเชิงรุกในสถานประกอบการ ตามโครงการของ สปส. โครงการ Factory Sandbox ในสถานประกอบการในพื้นที่เสี่ยงและมีการแพร่ระบาดและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อ เบิก สปส.
ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาในรพ.ของรัฐบาลกลุ่มอาการสีเขียว ค่าห้องรวมค่าอาหารจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,500 บาทต่อวัน ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล จ่ายตามจริงไม่เกิน 300 บาทต่อวัน กลุ่มอาการปานกลาง (สีเหลือง) ค่าห้องรวมค่าอาหารจ่ายตามจริงไม่เกิน 3,000 บาทต่อวัน ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล จ่ายตามจริงไม่เกิน 740 บาทต่อวัน มีอาการรุนแรง (สีแดง) ค่าห้องรวมค่าอาหารจ่ายตามจริงไม่เกิน 7,500 บาทต่อวัน ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล จ่ายตามจริงไม่เกิน 740 บาทต่อวัน
กรณีมีอาการเล็กน้อย (สีเขียว) ดูแลรักษารพ.สนาม Hospitel Hotel Isolation ตั้งแต่ 1 ม.ค.65 จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 1,000 บาท ต่อวัน ไม่เกิน 10 วัน และค่าอุปกรณ์ในการดูแลติดตามสัญญาณชีพ 500 บาทต่อวัน ค่าชุด PPE จ่ายตามจริงไม่เกิน 150 บาทต่อราย ขณะที่ดูแลรักษาแบบ HI และการแยกกักในชุมชน CI ค่าดูแลให้บริการผู้ป่วย สำหรับค่าติดตามประเมินอาการ ให้คำปรึกษา ค่ายาพื้นฐาน จ่ายแบบเหมาจ่ายไม่รวมค่าอาหาร 3 มื้อในอัตรา 600 บาทต่อวัน/รวมค่าอาหาร 3 มื้อ ในอัตรา 1,000 บาท ต่อวัน ไม่เกิน 10 วัน
กรณีรักษาในสถานพยาบาลเอกชนจ่ายค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคโควิด-19 ตามราคากลางประกาศกระทรวงสาธารณสุข สำหรับค่ารถรับส่งผู้ป่วย กรณีจำเป็นต้องส่งต่อภายในจังหวัดเดียวกัน จ่ายตามจริง ไม่เกิน 500 บาท กรณีต่างท้องที่จังหวัดอื่น จ่ายเบื้องต้น 500 บาท และจ่ายเพิ่มกิโลเมตรละ 4 บาท ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) และค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อยานพาหนะ ไม่เกิน 1,400 บาทต่อครั้ง ค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสำหรับบุคลากรที่จัดการศพผู้เสียชีวิตด้วยโรค โควิด-19 เหมาจ่าย 2,600 บาทต่อราย
เลขาฯ สปส. ย้ำว่า ขอให้ผู้ประกันตนปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ผู้ที่มีอาการหรือสงสัยว่าจะติดเชื้อ ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด หากผลตรวจเป็นบวกให้กักตัวและงดการออกจากบ้านโดยเด็ดขาด แจ้งคนใกล้ชิดให้ทราบ แยกตัวเอง เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากตลอดเวลา และรีบเข้าสู่กระบวนการรักษาทันที หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 6 และกด 7.