เมื่อวันที่ 17 ก.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการพัฒนาสมุนไพรไทย ว่า ขณะนี้ สมุนไพรไทยเป็นพืชเศรษฐกิจและพืชสุขภาพที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมูลค่าการบริโภควัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศ (รวมที่นำเข้าด้วย) เพิ่มขึ้นจาก 43,000 ล้านบาทในปี 2560 มาเป็น 52,000 ล้านบาทในปี 2562 การส่งออกสินค้าเครื่องเทศและสมุนไพร ไตรมาสแรกปีนี้ เพิ่มขึ้น 93 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดียวกันของปี 2563 สำหรับการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สานต่อนโยบายรัฐบาลร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรไทยให้มีศักยภาพตามความต้องการของตลาด สนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพรกว่า 64,000 ไร่ มีการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร GAP และมาตรฐานพืชสมุนไพร มีการจัดทำแผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับปลูกพืชสมุนไพร จำนวน  24 ชนิด เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว ขมิ้นชัน ไพล พริกไทย เพชรสังฆาต เป็นต้น

น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีแผนร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก.ในเขตอีอีซี  ประมาณ 10,000 ไร่ โดยจะส่งเสริมการทำแปลงใหญ่สมุนไพร การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การวิจัยและพัฒนาร่วมกับสถาบันการศึกษา  ส่วนเรื่องการตลาด ได้มีความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและภาคเอกชน เตรียมเปิดโครงการตลาดสดขนาดใหญ่ จำหน่ายพืชสมุนไพรสดและเครื่องเทศปลอดภัย และจัดทำตลาดออนไลน์ภายใต้ชื่อ “DGT Farm” เป็นพื้นที่ให้เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรตามมาตรฐาน GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ขายของกับผู้บริโภคโดยตรง

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ส่วนการส่งเสริมการปลูกฟ้าทะลายโจรเพื่อให้มีเพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบันนั้น  มีหลายหน่วยงานได้เข้ามาร่วมมือกับกระทรวงฯ อาทิ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดส่งกล้าและเมล็ดพันธุ์ ให้กับสำนักงาน กศน.ทั่วประเทศ เพื่อแจกแก่นักศึกษา กศน. และประชาชน ขณะที่กระทรวงยุติธรรมได้เดินหน้าให้เรือนจำหรือทัณฑสถานที่มีความพร้อม ดำเนินการเพาะปลูกฟ้าทะลายโจร เบื้องต้นมี 125 แห่ง ทั้งนี้ เกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจจะปลูกฟ้าทะลายโจรหรือพืชสมุนไพรอื่นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถติดต่อเกษตรอำเภอได้ เพื่อรับคำแนะนำในเรื่องการเพาะปลูกและการตลาด 

“รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมเกษตรกรทั่วประเทศหันมาปลูกพืชสมุนไพรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย อีกทั้งผลักดันต่อเนื่องถึงการปลูกในระดับอุตสาหกรรมและการส่งออก ที่ต้องคำนึงถึงการแปรรูปเพิ่มมูลค่าและปริมาณการผลิต โดยแนวทางที่ได้ดำเนินการและมีการบูรณาการระหว่างภาคส่วนแล้วนั้น จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน คนไทยมีพืชสมุนไพรบริโภคอย่างพอเพียง อีกทั้งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมสมุนไพรเป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่น สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมาก” น.ส.รัชดา กล่าว