สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ว่า หลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ผลไม้ไทยหลั่งไหลเข้าตลาดจีน ก็มีผลไม้จีนที่เริ่มบุกตลาดไทยเช่นกัน โดยมี “ลิ้นจี่” เป็นทัพหน้า และเป็นสื่อกลางในความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ
มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ซึ่งเป็นแหล่งลิ้นจี่ที่สำคัญของจีน มีปริมาณผลผลิตและพื้นที่ปลูกลิ้นจี่เกินครึ่งของทั้งประเทศ และมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของทั่วโลก สถิติจากสำนักการเกษตรและกิจการชนบทของกว่างตงเผยว่า ในปี 2021 กว่างตงมีพื้นที่เพาะปลูกลิ้นจี่ราว 1.64 ล้านไร่ และมีผลผลิต 1,473,100 ตัน
ด้วยเนื้อที่หวานนุ่มและชุ่มฉ่ำ ลิ้นจี่กว่างตงจึงได้รับความนิยมอย่างมาก ซูซื่อ กวีจีนชื่อดังสมัยราชวงศ์ซ่งเคยเขียนกลอนถึงผลไม้ชนิดนี้ว่า “หากได้ลิ้มรสลิ้นจี่ 300 ลูกทุกวัน ข้ายินดีจะอยู่ที่หลิ่งหนาน (กว่างตง) ตลอดไป”
กว่างตงมีประวัติศาสตร์ยาวนานด้านการปลูกลิ้นจี่ เช่น ตำบลเกินจื่อ ในเมืองเม่าหมิง มีต้นลิ้นจี่อายุมากกว่า 500 ปี รวม 39 ต้น และมี 9 ต้น ที่อยู่มานานกว่า 1,300 ปี เปรียบได้กับพิพิธภัณฑ์ต้นลิ้นจี่ที่ยังมีชีวิต ในอดีต อุปสรรคด้านการขนส่งทำให้ชาวจีนที่อยู่ไกลออกไปยากที่จะลิ้มรสลิ้นจี่กว่างตง แต่เทคโนโลยี กระบวนการขนส่งและอีคอมเมิร์ซที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวจีนทั่วประเทศสามารถกินลิ้นจี่กว่างตงที่สดใหม่ได้
ลิ้นจี่กว่างตงยังถูกส่งขายในต่างประเทศด้วย โดยสถิติเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ระบุว่าจีนส่งออกลิ้นจี่กวางตุ้งไปยังประเทศและภูมิภาคกว่า 20 แห่ง กว่า 15,000 ตัน เขตฉงฮว่าในนครกว่างโจว เป็นแหล่งผลิตลิ้นจี่ที่สำคัญ ที่นี่มีพื้นที่เพาะปลูกราว 125,000 ไร่ และคาดว่าปีนี้จะมีผลผลิต 50,000 ตัน โอวหยางเจี้ยนจง ประธานสมาคมลิ้นจี่ในท้องถิ่นระบุว่าฉงฮว่าส่งออกลิ้นจี่พันธุ์กุ้ยเว่ย หรือกุ้ยบี้ ไปยังประเทศไทยปีละกว่า 200 ตัน
กว่างตงส่งเสริมให้ลิ้นจี่บุกตลาดต่างประเทศด้วยการจัดกิจกรรม “กว่างตงชวนทั่วโลกชิมลิ้นจี่” ซึ่งมีการโปรโมตในหลายเมืองทั่วโลก อาทิ แวนคูเวอร์ ดูไบ โซล โตเกียว กัวลาลัมเปอร์ และสิงคโปร์ รวมถึงมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ ในสหรัฐ และแคนาดา ทั้งยังสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ลิ้นจี่ พร้อมขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรมลิ้นจี่ เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรท้องถิ่น
สวนแสดงวัฒนธรรมลิ้นจี่เขตฉงฮว่า เพาะลิ้นจี่ถึง 116 สายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์ที่พบได้ทั่วไปอย่างนั่วหมี่ฉือ (ข้าวเหนียวนุ่ม) กุ้ยเว่ย (ดอกกุ้ยเว่ย) และเฟยจื่อเซี่ยว (สนมยิ้ม) และลิ้นจี่ปิง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ลิ้นจี่ชนชั้นสูง” เพราะสนนราคาสูงถึง 600 หยวน (ราว 3,000 บาท) ต่อกิโลกรัม รวมถึงลิ้นจี่สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงอย่างหลิวซีหง (ลิ้นจี่แม่น้ำหลิวซี) เนื่องจากมีขนาดใหญ่เท่าไข่ไก่และไร้เมล็ด
หลี่กุ้ยฟาง เกษตรกรในฉงฮว่าเล่าว่า ในอดีตผลผลิตจากลิ้นจี่ 1 ต้นมีมูลค่าราว 300 หยวน (ราว 1,500 บาท) เท่านั้น แต่หลังจากเปลี่ยนเป็นลิ้นจี่ไร้เมล็ดแล้ว ตัวเลขนี้พุ่งแตะราว 6,000 หยวน (ราว 30,000 บาท) ซึ่งเขาเองก็ปลูกลิ้นจี่ไร้เมล็ดบนพื้นที่ราว 33 ไร่ และตั้งใจว่าในปีนี้ จะปลูกลิ้นจี่ไร้เมล็ดแทนลิ้นจี่กุ้ยเว่ยและลิ้นจี่นั่วหมี่ฉือที่ปลูกไว้บนที่ดินอีก 91 ไร่
อุตสาหกรรมแปรรูปลิ้นจี่ก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน นอกจากจะขายลิ้นจี่อบแห้ง และลิ้นจี่ฟรีซดรายแล้ว เขตฉงฮว่ายังสรรสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อาทิ เหล้าลิ้นจี่ และเครื่องปรุงรสที่ทำจากลิ้นจี่ด้วย ปัจจุบันฉงฮว่ามีกิจการและสหกรณ์แปรรูปลิ้นจี่กว่า 30 แห่ง และมีกำลังการผลิตที่ 15,000 ตันต่อปี
เมื่อเดือนมกราคม กว่างตงจัดทำแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมลิ้นจี่คุณภาพสูง ระยะ 3 ปี (2021-2023) โดยมุ่งสร้างศูนย์อุตสาหกรรมลิ้นจี่ระดับโลก และยกระดับการแปรรูปลิ้นจี่
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ในงานจัดแสดงลิ้นจี่กว่างตง ในนครกว่างโจว อินทิรา วุฒิสมบูรณ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกว่างโจว กล่าวว่าไทยมีประวัติศาสตร์การปลูกลิ้นจี่ที่ยาวนานเช่นกัน และมีลิ้นจี่หลายพันธุ์ บางส่วนก็มาจากกว่างตง โดยเราสามารถเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านนี้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน นอกจากนี้ยังมีการจัดเตรียมเมนูขนมหวานแบบไทยๆ จากลิ้นจี่เช่น สาคูลิ้นจี่ราดน้ำกะทิอีกด้วย..
เครดิตภาพ : ซินหัว