นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.-15 ส.ค.64 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการทั่วประเทศ เช่น มาตรการล็อกดาวน์ 10 จังหวัด หรือมาตรการของแต่ละจังหวัด ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องปิดกิจการ สามารถยื่นเรื่องขอพักหนี้ได้นาน 2 เดือนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมาตรการควบคุมโควิด-19 และเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

ทั้งนี้มาตรการพักหนี้ 2 เดือน เงื่อนไขต้องเป็นนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในพื้นที่ควบคุม หรือนอกพื้นที่ควบคุมก็ได้ แต่ได้รับผลกระทบจากมาตรการรัฐ โดยลูกหนี้จะต้องใช้ข้อมูลหลักฐานว่าได้รับผลกระทบจริง เพื่อให้สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้พิจารณาได้อย่างรวดเร็ว ส่วนลูกหนี้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างใดไม่ได้ปิดกิจการ แต่รายได้ลดลงชัดเจน ให้มายื่นขอความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินได้เช่นเดียวกัน แต่ความช่วยเหลือจะเป็นไปตามความจำเป็นและสอดคล้องสถานการณ์ของลูกหนี้

ขณะที่หนี้ที่พักไป 2 เดือน หลังจากสิ้นสุดมาตรการแล้ว สามารถเลือกเฉลี่ยจ่ายตามงวดที่คงเหลือ หรือเลือกจ่ายหลังงวดที่ผ่อนหมดแล้วก็ได้ โดยย้ำธนาคารต้องไม่เรียกเก็บหนี้ที่พักกับลูกหนี้ในทันที เพื่อไม่เป็นการสร้างความเดือดร้อนและสร้างภาระให้ลูกหนี้

นายรณดล กล่าวว่า มาตรการต่างๆ เป็นความช่วยเหลือที่รุนแรงในช่วงนี้ แต่ภาครัฐจะต้องหามาตรการมาตอบโจทย์ ทำให้ลูกหนี้มีรายได้ เร่งฉีดวัคซีน เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ให้คนเกิดสภาพคล่องมีรายได้ เพื่อให้เป็นแนวทางตอบโจทย์ให้ประชาชนอยู่รอดไปข้างหน้าได้ ทั้งนี้ ขอความช่วยเหลือได้คอลเซ็นเตอร์สถาบันการเงิน หรือศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร. 1213

“การลดเพดานดอกเบี้ยในช่วงเวลานี้ อาจทำให้ลูกหนี้เข้าไม่ถึงแหล่งเงิน และหันไปกู้ยืมหนี้นอกระบบได้อีก ตอนนี้ ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณาข้อดีและข้อเสียว่าลูกหนี้ได้ประโยชน์อะไรบ้าง และควรมีมาตรการอื่นมาเสริมหรือไม่ ถ้าหากลดดอกเบี้ยไปแล้ว อาจไม่ได้ลดภาระหนี้มากเท่าไร จะต้องดูให้ครบวงจร มีอะไรลดหนี้ได้ในระยะยาว เช่น ปรับโครงสร้างหนี้ รวมหนี้ เพราะการลดดอกเบี้ยไม่ใช่วิธีการเดียวที่ลดหนี้ประชาชน จะเร่งรัดเร็วที่สุดในการหาข้อสรุป”

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า พักหนี้ 2 เดือน เป็นการแก้ไขเฉพาะหน้าเร่งด่วน ไม่ใช่มาตรการดูแลลูกหนี้ระยะยาว ซึ่งยังเน้นปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถชำระหนี้ ปัญหาลูกหนี้ตอนนี้ คือเรื่องรายได้ที่ต้องเร่งแก้ไข หลังจากรัฐได้ออกมาตรการเยียวยา และลดค่าน้ำค่าไฟ เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนแล้ว โดย ธปท.จะติดตามสถานการณ์และพิจารณาออกความช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้มาตรการพักหนี้ 2 เดือนได้ทั้งในจังหวัด 10 จังหวัดตามมาตรการควบคุมล็อกดาวน์ และนอกพื้นที่ที่กระทบจากมาตรการแต่ได้ปิดกิจการ เช่น อยู่นอกพื้นที่ 10 จังหวัด แต่ทำกิจการโรงแรมได้ปิดกิจการ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าพักแรม ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นคนกรุงเทพฯ ที่กำลังอยู่ในพื้นที่ควบคุมงดเดินทาง หรือหากอยู่ในจังหวัดนอกเหนือ 10 จังหวัดล็อกดาวน์ แต่จังหวัดนั้นมีมาตรการควบคุมดูแลเช่นกัน ก็มาขอพักหนี้ได้เหมือนกัน

ส่วนนอกเหนือจากนี้ สถาบันการเงินจะมีความช่วยเหลือทั้งมาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อยระยะสาม และมาตรการช่วยเอสเอ็มอี ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในเดือน ธ.ค.64 หรือยังเลือกเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินได้เช่นเดียวกัน และยืนยันคนที่เข้ามาตรการพักหนี้ 2 เดือนต้องไม่ถือเป็นการค้างชำระและสถาบันการเงินไม่สามารถเรียกเก็บเบี้ยปรับ หรือค่าผิดนัดชำระได้ และไม่อยู่ในสถานะค้างชำระในเครดิตบูโรด้วย