น.ส.แพร ดํารงค์มงคลกุล ผู้อำนวยการ เฟซบุ๊ก ประเทศไทย  เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของสถานการณ์การ แพร่ระบาดของโควิด-19 นักช้อปออนไลน์ทั่วโลกจำนวน 86 % เข้ามาใช้งานแอพพลิเคชันในเครือของเฟซบุ๊ก เป็นประจำทุกสัปดาห์ และซื้อสินค้าที่ค้นพบบนแพลตฟอร์ม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของผู้คนได้เปลี่ยนแปลงไป จาก การออกไปช้อปปิ้ง  เป็น การช้อปปิ้งได้ตลอดเวลา  สำหรับประเทศไทยก็เป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ตามข้อมูลการศึกษาของเฟซบุ๊ก และ บีซีจี(BCG) พบว่าการซื้อขายผ่านการทักแชทได้กลายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญใน การซื้อสินค้าของผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ เพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ ไปสู่โลกออนไลน์ และสร้างการมีส่วนร่วมมากขึ้น

“ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการช้อปปิ้งมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงปฏิสัมพันธ์กับธุรกิจด้วย ผู้บริโภคนั้นเปิดรับและรู้สึกสบายใจกับประสบการณ์เหล่านี้มากขึ้น โดยเห็นได้จากการที่ผู้บริโภคชาวไทยในกลุ่ม เจนซี และกลุ่ม มิเลนเนียล 8 ใน 10 คน ชอบที่จะติดต่อร้านค้าผ่านแอพพลิเคชันส่งข้อความมากกว่า และผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย 4 ใน 5 คนบอกว่า รู้สึกใกล้ชิดกับภาคธุรกิจมากขึ้นหลังจากการแชทออนไลน์”

น.ส.แพร กล่าวต่อว่า ข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงการที่ผู้บริโภคคนไทยให้ความสนใจกับ การช้อปปิ้งแบบ ที่พวกเขาสามารถมีส่วนร่วม และสานต่อความสัมพันธ์กับภาคธุรกิจได้ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 65  % ทดลอง ใช้ฟีเจอร์ การซื้อของผ่านการไลฟ์สดในปีที่ผ่านมา และ 28 % ได้ซื้อของผ่านช่องทางนี้ และในจำนวนนี้มี 84 % ที่มีการซื้อของ ผ่านการไลฟ์สดทุกเดือน และผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย 92% คาดว่าจะเพิ่มการซื้อของผ่าน การไลฟ์สด ในปีนี้ ขณะเดียวกัน การซื้อขายผ่านการทักแชทก็ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญ โดย 83% มีการส่งข้อความหาร้านค้าก่อนตัดสินใจซื้อ และ 70% ส่งข้อความในช่วงซื้อสินค้า และ 58% ส่งข้อความหลังทำการซื้อไปแล้ว

อย่างไรก็ตามเฟซบุ๊กได้สนองความต้องการของธุรกิจในไทย ด้วยการเพิ่มเครื่องมือ และเทคโนโลยีใหม่ๆ  เช่น เฟซบุ๊กช้อป , ช้อป แอด โซลูชั่น ,ไลฟ์ ช้อปปิ้ง , เออาร์ และ เอพีไอ สำหรับ แมสแซนเจอร์ และ อิสตาแกรรม ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจและลูกค้าสามารถสนทนากันได้ง่ายขึ้น.