ก่อนที่จะปักหมุด เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ค่ายรถจากแดนมังกร “เอ็มจี” ย่อมมีคำถามมากมายว่ารถจากจีน..เป็นอย่างไร? ดีไหม? และเมื่อเข้ามาอย่างเป็นทางการในปี 2556 จากการร่วมทุนระหว่างบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และเอสเอไอซี คอร์ปอเรชันหนึ่งในกลุ่มบริษัทยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนที่มีสาขาและโรงงานอยู่ 22 แห่งทั่วโลกเอ็มจีก็แสดงให้เห็นถึงความจริงจังและให้ความสำคัญกับตลาดเมืองไทยมาก โดยลงทุนถึง10,000 ล้านบาทสร้างโรงงานที่มีเทคโนโลยีการผลิตได้มาตรฐานโลกสำหรับเป็นฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาของเอ็มจี

ความโดดเด่นของแบรนด์รถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย ภายใต้การนำของ มร. จาง ไห่โป คือมีความทันสมัย มีเทคโนโลยีและมีความคุ้มค่า โดยทันทีที่เข้ามาในเมืองไทยเอ็มจีได้นำเทคโนโลยีต่างๆที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก้าวทันแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์โลกเข้ามาด้วยไม่ว่าจะเป็นการสร้างความฮือฮาด้วยรถแฮชท์แบ็ค เอ็มจี 3 รถเก๋งเล็กคันแรกในไทยที่มีซันรูฟ ทั้งรูปลักษณ์ต้องตา ราคาโดนใจตลาดอย่างมากทำให้ฐานลูกค้าได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ก่อนจะเดินหน้าสร้างบรรทัดฐานใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเผยโฉมเอสยูวีที่เรียกได้ว่าเป็นสมาร์ทคาร์สำหรับตลาดเมืองไทยนั่นคือเอ็มจี แซดเอส ( MG ZS) ที่ทำให้คนไทยเข้าใกล้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อ (Connectivity) ระหว่างคนกับรถผ่านระบบ i-SMART ที่ผู้ขับขี่สามารถสั่งการรถด้วยคำสั่งเสียงภาษาไทย และตรวจเช็ค สั่งการรถผ่านสมาร์ทโฟน

นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งระบบ ADAS ที่ทำให้รถมีการขับขี่แบบอัตโนมัติระดับ 2 (Autonomous) ลงไปในเอสยูวีอย่าง เอ็มจี เอชเอส (MG HS) อีกด้วยเมื่อเทรนด์อนุรักษ์พลังงาน รักษ์สิ่งแวดล้อมเริ่มเข้ามา โลกยานยนต์ก็ได้ก้าวสู่ยุคของพลังงานทางเลือก แม้ว่าที่ผ่านมายอดขายรถยนต์ทั่วโลกจะลดลงอย่างมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 140% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ในส่วนของประเทศไทยเอ็มจีถือเป็นค่ายรถยนต์เจ้าแรกที่จริงจังกับการผลักดันรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในตลาดเมืองไทย

จากวันที่คนไทยยังไม่ได้สนใจรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากนักเพราะราคาจะค่อนข้างสูง การเข้ามาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100%MG ZS EV ด้วยราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมถึงผลักดันและวางรากฐานของ EV Ecosystem ในประเทศด้วยการผนึกกำลังกับภาครัฐและภาคเอกชนในเรื่องสถานีชาร์จ และการลงทุนสร้างสถานีสถานีชาร์จแบบเร็วเองภายใต้ชื่อ MGSuper Charge ที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 120 แห่งทั่วประเทศ ทำให้ตลาดอีวีในบ้านเราเริ่มตื่นตัว และเติบโต ส่วนใครที่ยังไม่พร้อมใช้รถอีวีเอ็มจีก็ยังมีรถยนต์พลังงานทางเลือก เอ็มจี เอชเอส พีเอชอีวี (MG HS PHEV) รถยนต์ ปลั๊กอิน ไฮบริดที่วิ่งไฟฟ้าล้วนได้ไกลถึง 67 กิโลเมตรปัจจุบันเอ็มจีได้ทำธุรกิจในไทยมาแล้ว 8 ปี สร้างยอดขายรวมแล้ว มากกว่า 120,000 คันซึ่งในแต่ละปีมียอดขายอยู่ในลำดับต้นๆของอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย

โดยภาพรวมการดำเนินงานตลอด 10 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ เอ็มจีอยู่ในลำดับที่ 7 ของตลาดรถยนต์รวม โดยมีอัตราการเติบโตขึ้น 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่อย่าง NEWMG5 ที่โดดเด่นด้านดีไซน์ เทคโนโลยีและฟังก์ชั่นต่างๆ กับราคาที่คุ้มค่าทำให้เอ็มจีมียอดขายขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 5 ของตลาดรถยนต์ในประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และตุลาคมที่ผ่านมา แต่หากพิจารณารายกลุ่มรถยนต์แล้วเราจะพบว่า เอ็มจี รั้งตำแหน่งผู้นำในกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดสูงกว่า 90%

นอกจากนี้เอ็มจี ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 4 ของตลาดรถยนต์นั่งด้วยยอดขายรวมแล้วกว่า 20,300 คัน โดย NEW MG5 เข้ามาอยู่ในอันดับที่ 3 ในกลุ่ม รถยนต์นั่งขนาดเล็กไม่กี่ปี เอ็มจีขยายศูนย์บริการไปแล้วกว่า 150 แห่ง รองรับการบริการลูกค้าทุกจังหวัดทั่วประเทศและเป็นแบรนด์แรกที่ให้บริการ Mobile Service ให้บริการลูกค้าถึงที่บ้านเพียงแค่ทำการนัดจองล่วงหน้า ไม่เพียงเท่านั้นยังได้เริ่มใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ Omni Channel หรือการผสานช่องทางการขายรถยนต์ทั้งในแบบออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกันตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาผ่าน MG OnlineBooking ซึ่งลูกค้าสามารถจองรถพร้อมรับโปรโมชั่นพิเศษได้ผ่านมือถือได้

หลายปัจจัยที่กล่าวไปเบื้องต้นต้องใช้เวลาสั่งสมและพิสูจน์แล้วว่า ประสบความสำเร็จ จึงได้ผลักดันให้ แบรนด์ “เอ็มจี”เติบโตอย่างแข็งแกร่งในไทย และแสดงให้เห็นชัดเจนจากยอดขายที่ปรากฎ ดังนั้นจึงไม่ต้องหาคำตอบว่าทำไม…ค่ายรถต่างๆจากจีนแผ่นดินใหญ่ อีกหลายแบรนด์เดินหน้าหวังเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ด้วยเพราะเอ็มจีมาปลดล็อกและตอกย้ำถึงคุณภาพ รถยนต์จากแดนมังกรมีศักยภาพเพียงพอที่จะครองใจชาวไทยได้นั่นเอง .