สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ว่า กระทรวงกลาโหมของรัสเซียยืนยันการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดความเร็วเหนือเสียง ตูโปเลฟ ตู-160 จำนวน 2 ลำ ลาดตระเวนภายในอาณาเขตอธิปไตยของเบลารุส เมื่อวันพฤหัสบดี อย่างไรก็ตาม บริเวณที่มีการปฏิบัติภารกิจนั้น อยู่ห่างจากพรมแดนของโปแลนด์เพียง 60 กิโลเมตร และเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เครื่องบินทิ้งระเบิดความเร็วเหนือเสียง ตูโปเลฟ ตู-22 จำนวน 2 ลำ ปฏิบัติการลาดตระเวนในบริเวณเดียวกันนี้


แม้รายงานของกระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า ภารกิจครั้งนี้ “ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณถึงประเทศที่สามแห่งใด” แต่นายดมิทรี โพลีอันสกี อัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) กล่าวว่า “เป็นการตอบสนอง” ต่อสถานการณ์ตามแนวพรมแดนระหว่างโปแลนด์กับเบลารุส ซึ่งยังคงตึงเครียดอย่างหนักจากการที่ผู้อพยพผิดกฎหมายจำนวนมากยังคงปักหลักอยู่ตามแนวชายแดนฝั่งเบลารุส

ผู้อพยพซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันออกกลาง ยังคงปักหลักอยู่ตามแนวชายแดนระหว่างเบลารุสกับโปแลนด์


ขณะที่ นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน วิจารณ์การที่กองทัพโปแลนด์เสริมกำลังทหารตามแนวชายแดนเป็น 15,000 นาย ร่วมด้วยยานยนต์หุ้มเกราะและการส่งอากาศยานขึ้นบินลาดตระเวนว่า สะท้อน “ระดับความวิตกกังวล” ของยุโรป ที่มีต่อสถานการณ์ผู้อพยพครั้งนี้ และรัสเซียในฐานะประเทศที่อยู่ใกล้เคียง “พยายามช่วยเหลือมาโดยตลอด” พร้อมทั้งตำหนิการที่รัฐบาลโปแลนด์กล่าวว่า รัฐบาลมอสโก “เป็นผู้บงการ” ให้เกิดวิกฤติผู้อพยพครั้งนี้


ด้านประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเบลารุส และคณะกรรมาธิการยุโรป ( อีซี ) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป ( อียู ) ยังคงสาดโคลนกันอย่างต่อเนื่อง โดยอีซีประกาศเตรียมยกระดับมาตรการคว่ำบาตรของลูคาเชนโก จากสถานการณ์ตามแนวพรมแดนที่ติดกับโปแลนด์ ซึ่งมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสกัดความพยายามข้ามแดนของผู้อพยพเกือบ 500 คน ในสัปดาห์นี้


ส่วนผู้นำเบลารุสยืนยัน “มาตรการตอบโต้ที่สมน้ำสมเนื้อ” หากอีซีเพิ่มการคว่ำบาตรจริง โดยกล่าวเป็นนัยว่า เบลารุส “คือผู้สร้างความอบอุ่น” ให้แก่ยุโรป และจะเป็นอย่างไร “ถ้าเบลารุสปิดท่อส่งก๊าซนั้น”.

เครดิตภาพ : AP