นอกจากนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว ยังมีบรรดา แรงงานต่างด้าว เริ่มทะลักเข้ามาตามแนวชายแดนประเทศไทย ถูกจับกุมแทบรายวัน ส่วนใหญ่จะลักลอบเข้าเมืองยอมเสียเงินค่านายหน้าโดยไม่ผ่านด่านขั้นตอนตามกฎหมาย เมื่อแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองกลายเป็นแรงงานเถื่อนผิดกฎหมายจึงเป็นความเสี่ยงในภาวการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนให้หน่วยงานเกี่ยวข้องต้องหันกลับมามองปัญหา ก่อนที่เหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวจะกลับมาอีกครั้ง

หวั่นซ้ำเติมปัญหาวิกฤติโควิด-19

ทีมข่าว 1/4 Special Report  พูดคุยปัญหาเรื่องนี้กับ นายศิววงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่ไทยเปิดประเทศทำให้มีแรงงานต่างด้าวไหลเข้ามามากขึ้น แต่ถ้ามองในความเป็นจริง ปัญหาแรงงานต่างด้าวมีมาตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดหนัก เพราะมีแรงงานบางส่วนที่อยู่ครบ 4 ปี แล้วต้องกลับไปทำเอกสารที่ประเทศต้นทาง หรือกลุ่มที่สมัครใจกลับประเทศ ซึ่งกลุ่มนี้เมื่อเกิดการปิดประเทศทำให้เข้ามาทำงานในไทยไม่ได้แม้ก่อนหน้านั้นมีนายจ้างบางส่วนที่พยายามรั้ง โดยการจ่ายเงินให้กับแรงงานต่างด้าวในระหว่างปิดประเทศ แต่แรงงานส่วนหนึ่งก็อยากจะกลับประเทศมากกว่า กระทั่งไทยเปิดประเทศทำให้มีความต้องการแรงงานต่างด้าวมากขึ้น เนื่องจากงานบางอย่างแรงงานไทยไม่ทำ ซึ่งนายจ้างต้องการแรงงานต่างด้าวที่มีประสบการณ์อยู่แล้วกลับเข้ามาทำงาน

โดยปัญหาตอนนี้อยู่ที่ตัวระบบทั้งฝั่งแรงงานที่อยู่ประเทศต้นทางในการจัดการเอกสาร ขณะที่เมื่อกลับเข้ามาแล้วก็ต้องถูกกักตัว เลยทำให้แรงงานเหล่านั้นไม่สามารถเริ่มทำงานได้ทันที ขณะที่หน่วยงานเกี่ยวข้องก็ยังไม่เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ทำให้ตอนนี้มีแรงงานลักลอบหลบหนีเข้ามาจำนวนมาก เพราะเขาไม่มีตัวเลือกอื่น ทำให้พื้นที่ริมชายแดนก็อยู่ในภาวะกดดัน เพราะมีการไหลบ่าของแรงงานต่างด้าวมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาเราพยายามผลักดันให้มีกลไกในการกักตัวแรงงานต่างด้าวก่อนเข้ามาทำงานในประเทศ เพื่อที่เมื่อเปิดประเทศจะได้ไม่มีปัญหาในการแย่งกันเข้ามาอย่างที่เป็นอยู่

สิ่งที่น่ากังวลหากยังไม่มีการลดเงื่อนไขในเรื่องของรายจ่าย และหนังสือต่าง ๆ ของแรงงานต่างด้าว เช่น สำเนาของผู้ประกอบการ จะทำให้แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามามากขึ้น เพราะทุกวันนี้ในตลาดมืดราคาที่แรงงานต่างด้าวต้องจ่ายในการลักลอบเข้ามาในไทยอาจจะถูกกว่าการเข้ามาแบบถูกกฎหมาย

ผลกระทบหนักอุตสาหกรรมก่อสร้าง

นายศิววงศ์ มองว่า ที่ผ่านมามีการพยายามแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวในช่วงโควิด โดยในระยะ 2 ปี มีการเสนอกฎหมายถึง 13 ฉบับ ซึ่งบางฉบับเป็นไปเพื่อขยายเวลาในด้านต่าง ๆ ของแรงงานต่างด้าว แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้สักฉบับเดียว สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามว่า หน่วยงานเกี่ยวข้องคิดกระบวนการแก้ปัญหาในเรื่องนี้โดยพื้นฐานอะไร เพราะเท่าที่ทราบยังไม่ค่อยมี ตัวแทนของแรงงานต่างด้าว หรือ ผู้ประกอบการรายย่อย ที่เป็นนายจ้างเข้าไปนำเสนอความเห็นในการออกกฎหมายควบคุม ทั้งที่ นายจ้างรายย่อย มีจำนวนมากที่จ้างแรงงานต่างด้าว โดยแรงงานที่ประสบปัญหาส่วนใหญ่เป็น แรงงานเมียนมา ที่มีปัญหาการเมืองภายในที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ครอบครัวที่อยู่ในประเทศต้นทาง ต้องกดดันแรงงานที่อยู่ในไทยให้ส่งเงินกลับประเทศมากขึ้น ตอนนี้แรงงานซึ่งกลับประเทศก็พยายามดิ้นรนหาช่องทางเพื่อกลับเข้ามาทำงานในไทยให้เร็วที่สุด

ขณะที่ แรงงานกัมพูชา ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมก่อสร้างและประมง ที่มีความเปราะบางและเสี่ยงสูงกว่าแรงงานภาคธุรกิจอื่น ๆ เพราะแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่อยู่ในการดูแลของ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ขนาดกลางถึงขนาดเล็ก ที่จะรับช่วงต่อมาจากบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ ทำให้ติดข้อกฎหมายในการติดตามบังคับใช้ข้อกฎหมาย ที่ยังเข้าไม่ถึงแรงงานกลุ่มนี้ ตัวอย่างเช่น ประกาศมาตรฐานที่อยู่อาศัยของแรงงานในแคมป์ก่อสร้าง ที่จะต้องเป็นไปตามมาตรฐาน แต่ปัญหาคือ ตัวประกาศของกระทรวงแรงงานไม่ได้ถูกนำไปบังคับใช้ในพื้นที่ของผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือผู้รับเหมาที่รับช่วงต่อจากบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่     

ตอนนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้างส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่จะมาทำงาน ซึ่งจากการสอบถามผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กจะเจอปัญหานี้ค่อนข้างหนัก ขณะเดียวกันก็มีข้อบังคับไม่ให้แรงงานเหล่านี้ทำงานก่อสร้างที่เป็นงานฝีมือเช่นฉาบปูน ซึ่งในความเป็นจริงยังเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงอยู่ค่อนข้างมาก เพราะแรงงานเหล่านี้พออยู่ไปนาน ๆ ก็ต้องพัฒนาฝีมือตัวเองให้ฉาบปูนเป็นหรือเดินสายไฟเป็น ซึ่งข้อกฎหมายนี้ควรปรับแก้ เพราะในความเป็นจริงหลายที่ก็ต้องใช้แรงงานในการทำงานฝีมือมากขึ้น

วัคซีนยังเข้าไม่ทั่วถึงแรงงานต่างด้าว

ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวต่อด้วยว่า ในส่วนของการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานต่างด้าว ในหลายพื้นที่ก็ยังมีปัญหาด้านการสื่อสารอยู่ค่อนข้างมาก เพราะแรงงานต่างด้าวบางส่วนไม่รู้ภาษาไทยทำให้หลายคนตกหล่นและไม่ได้ฉีดวัคซีน ขณะที่นายจ้างหลายรายก็ยอมเสียเงินฉีดวัคซีนให้กับแรงงานที่มาทำงาน แต่การฉีดวัคซีนแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ติดโควิด เช่นล่าสุดมีแรงงาน 5 คน ตรวจพบโควิด 4 คน โดย 1 คน ฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งเมื่อตรวจพบนายจ้างเองก็ไม่รู้จะติดต่อหน่วยงานรับผิดชอบในท้องถิ่นแห่งใดที่เป็นเจ้าภาพหลัก

ดังนั้นการจัดการแรงงานต่างด้าวในช่วงโควิด ยังเป็นประเด็นที่สำคัญ ในกรณีที่แรงงานคนนั้นติดเชื้อ และตรวจสอบประวัติพบว่า หลบหนีเข้าเมือง ควรมีมาตรการดูแลมากกว่าจะเน้นการลงโทษ เพราะเมื่อใดที่เราเน้นการลงโทษ กลุ่มแรงงานที่ติดเชื้อและมีความผิดจะไม่เข้ามารักษาตัวที่หน่วยงานของรัฐจัดไว้ให้ ซึ่งสุดท้ายก็ต้องอยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อให้กับคนอื่น

ประเทศในยุโรปมีการละเว้นโทษให้กับแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง และติดโควิด เพื่อให้มารักษาตัวในหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ต่อเอกสารการเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย จะมีการละเว้น และทำการต่อให้ถูกต้อง เพื่อรักษาสถานภาพของแรงงานคนนั้นให้อยู่ในประเทศต่อโดยไม่แพร่เชื้อให้กับผู้อื่น.