ตอนนี้มีหลายคดีที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะคดีที่เยาวชนตกเป็นผู้กระทำผิด หลายฝ่ายเริ่มวิตกกังวลว่าจะกลายเป็นอีกบาดแผลที่ฝังลึกในกลุ่มเยาวชนอนาคตของชาติ !!

สถิติจับกุมสะท้อนปัญหาใต้พรม

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้ติดต่อพูดคุยกับ น.ส.เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถึงเหตุการณ์จับกุมดำเนินคดีกลุ่มนักศึกษาและนักเรียนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางด้านการเมือง น.ส.เยาวลักษ์ เปิดเผยว่า สถิติตั้งแต่ 18 ก.ค. 63 จนถึงปัจจุบัน พ.ย. 64 มีแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมถูกคุมขัง 24 คน โดยมีเยาวชน 1 คน ตอนนี้ทางศูนย์ฯได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือคดีทั้งหมด 726 คดี ที่มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 1,344 คน หากคิดเป็นค่าเฉลี่ยมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองประมาณร้อยกว่าคนต่อเดือน

จากสถิติผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดี จะพุ่งสูงขึ้นในช่วงเดือนส.ค.– ต.ค.64 ที่ผ่านมา เป็นการชุมนุมกลุ่ม “ม็อบทะลุแก๊ส” บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง มีเยาวชนอายุเพียง 12 ขวบถูกจับกุมดำเนินคดีรวมอยู่ด้วย ตอนนี้เราเห็นถึงแนวโน้มที่เจ้าหน้าที่จะออกหมายจับเยาวชนมากขึ้น หลังจากเกิดเหตุตำรวจควบคุมฝูงชนถูกยิงบาดเจ็บสาหัส เจ้าหน้าที่จึงพยายามเร่งรัดหาผู้กระทำความผิด ส่งผลให้มีการออกหมายเรียกและออกหมายจับเป็นจำนวนมาก ถ้ามองในด้านการดำเนินคดีที่ก่อนหน้าม็อบทะลุแก๊สจะมีการชุมนุมนั้น ส่วนใหญ่ก็ชุมนุมปราศจากอาวุธรวมตัวแล้วก็แยกย้าย

แต่พอทางเจ้าหน้าที่ได้ขนตู้คอนเทเนอร์มาปิดกั้นถนนวิภาวดีฯ เส้นทางของผู้ชุมนุมที่จะรวมตัวไปบ้านนายกรัฐมนตรี เมื่อผู้ชุมนุมพยายามจะฝ่าด่านจึงเป็นชนวนทำให้กลุ่มม็อบที่เป็นแนวหน้าเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ก่อนจะถอยร่นมารวมตัวกันอยู่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ตำรวจควบคุมฝูงชนได้สกัดโดยใช้ทั้งรถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง ผู้ชุมนุมต่างหาทางโต้ตอบโดยการใช้พลุไฟ, ระเบิดปิงปอง, ลูกแก้ว ฯลฯ จนเกิดเหตุการณ์มารวมตัวรายวันจนเป็นที่มาม็อบทะลุแก๊ส ส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาอาชีวะ, ช่างกล และนักเรียนมัธยม

“ผู้ถูกจับกุมหลายคนมีพื้นฐานของครอบครัวที่ยากจน บางคนต้องออกจากระบบการศึกษาโดยไม่ได้เรียนต่อ และต้องไปทำงานหาเงินเพื่อเลี้ยงครอบครัว ขณะที่บางส่วนต้องออกจากโรงเรียนเพราะเจอสภาวะวิกฤติในช่วงโควิด ด้วยความที่เยาวชนถูกดำเนินคดีมีฐานะยากจนหรือครอบครัวมีปัญหา การสู้คดีจะค่อนข้างมีความลำบาก เพราะในคดีอาญาที่เยาวชนตกเป็นผู้กระทำความผิด การได้รับการประกันตัวจะต้องมีพ่อแม่มารับรอง แต่ก็มีเด็กที่ไม่ได้ประกันตัวเนื่องจากทนายไม่สามารถตามหาพ่อแม่หรือผู้ปกครองได้ บางกรณีความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี พ่อแม่หรือผู้ปกครองก็ไม่ยินดีที่จะมาประกันตัวเด็ก จึงต่างจากคดีของผู้ใหญ่ที่ใครก็สามารถมายื่นประกันตัวได้”

เยาวชนกว่า 200 คนถูกดำเนินคดี

หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวต่อว่า กรณีเด็กที่ต่ำกว่า 18 ปี เมื่อไม่มีผู้ปกครองมา ศาลจะไม่ให้ประกันตัว ดังนั้นการทำงานของศูนย์ทนายฯ เมื่อเยาวชนถูกจับในการชุมนุม ทีมทนายจะต้องเข้าไปคุยกับเด็กที่ถูกจับเพื่อให้เขาเปิดใจและบอกว่าผู้ปกครองอยู่ที่ใด หรือมีเบอร์ติดต่ออะไร เพราะเด็กหลายคนไม่อยากบอกให้ผู้ปกครองรับทราบ แต่จะให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องมายื่นประกัน ซึ่งไม่สามารถทำได้ ดังนั้นทีมทนายจะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกับเด็กที่ร่วมชุมนุมอยู่พอสมควร

ตอนนี้มีเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุม 223 คน ซึ่งรัฐยังคงใช้กฎหมายเข้ามาจำกัดสิทธิและใช้มาตรการทางกฎหมายมาปราบปรามผู้ชุมนุม เริ่มมาจากช่วงที่มีการประกาศเคอร์ฟิวที่ผู้ร่วมชุมนุมคนไหนฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีทันที เน้นการใช้กฎหมายเต็มรูปแบบโดยไม่มีการผ่อนปรน ที่ผ่านมารัฐไม่เคยตอบรับข้อเสนอของผู้ร่วมชุมนุม แต่เน้นใช้กฎหมายปราบปราม พร้อมกับใช้กำลังเจ้าหน้าที่ปราบปรามอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดการบาดเจ็บ คดีจากการชุมนุมมีกระจายอยู่ทุกภาคในประเทศ โดยพื้นที่ที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ ที่มีการฟ้องร้องคดีที่หลากหลายกว่าภาคอื่น ๆ

สถิติของการฟ้องร้องคดีกับผู้ชุมนุมเฉพาะเดือนต.ค.ที่ผ่านมา คดีที่มีการฟ้องร้องมากที่สุดคือ การฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำนวน 69 คดี รองลงมาคือ คดีฟ้องร้องตามมาตรา 215 ในการกระทำความผิดโดยมีการมั่วสุมเกิน 10 คน มีทั้งหมด 22 คดี ส่วนคดีความผิดมาตรา 112 ทั้งหมด 11 คดี จากการทำงานเพื่อช่วยเหลือคดีแก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง มีความยากลำบาก เนื่องจากจะไม่ค่อยได้รับการประกันตัวโดยเฉพาะบรรดาแกนนำ ส่วนกรณีของกลุ่มผู้ชุมนุมม็อบทะลุแก๊สที่ไม่ได้ประกันตัว เพราะส่วนใหญ่จะไปชุมนุมเคลื่อนไหวเกือบทุกวัน แม้ทีมทนายจะช่วยให้คดีแรกได้ประกันตัว แต่ก็จะติดในคดีของวันอื่น ๆ ขณะที่ผู้ร่วมชุมนุมอีกประเภทที่ไม่ได้ประกันตัว คือคนที่ก่อเหตุวางเพลิง เช่น การเผาป้อมตำรวจ ฯลฯ 

สิ่งที่รัฐควรต้องแก้ไขคือ ต้นเหตุของปัญหาขัดแย้งเหล่านี้มาจากการเมือง ควรจะต้องไปแก้ที่ต้นเหตุ ที่ผ่านมาผู้ชุมนุมพยายามเสนอแนวทางภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ แต่รัฐกลับไม่สนใจและไม่แก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมทางการเมือง แต่กลับใช้กฎหมายเข้ามาควบคุมและจำกัดสิทธิ

ขณะเดียวกัน รัฐไม่พยายามผ่อนปรนในการเจรจา จึงทำให้ผู้ร่วมชุมนุมรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะรัฐไม่ได้ฟังเสียงพวกเขาเลย จึงทำให้การชุมนุมยิ่งมีทั้งประชาชนและเยาวชนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นว่าแม้มีสถานการณ์โควิด แต่ก็มีคนมาร่วมชุมนุม และยิ่งรัฐปล่อยให้คนทั่วไปฟ้องร้องในคดี 112 ได้อย่างอิสระ จึงทำให้เกิดกระแสที่ไม่เห็นด้วยอย่างที่เป็นอยู่ 

ด้วยความที่ทีมทนายต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้ต้องหาในการชุมนุมทางการเมืองที่ตอนนี้มีคดีเยอะมาก เงินประกันตัวของกองทุนราษฎรประสงค์ ที่ใช้ประกันตัวไปแล้วกว่า 45 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมไทยที่ประชาชนทั่วไปต้องจ่ายแพงมาก ซึ่งไม่คุ้มค่ากับการที่รัฐต้องมาดำเนินคดีกับประชาชน ที่เราต้องใช้ต้นทุนสูงในการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน ขณะเดียวกันการตรวจสอบการกระทำผิดในฝั่งของเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ไม่มีความคืบหน้า จึงกลายเป็นคดีนโยบายที่มุ่งเน้นมาจัดการประชาชนที่ร่วมชุมนุมโดยตรง.