วันนี้ทีมข่าว “1/4 Special Report” มีโอกาสคุยกับ ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เคยมีประสบการณ์ทำงานในทำเนียบรัฐบาล ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี 4 คน (เปรม-ชาติชาย-ชวลิต-ทักษิณ) ตั้งแต่เป็นข้าราชการเด็ก ๆ เดินแจกเอกสารในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี จนกระทั่งมาเป็นที่ปรึกษานายกฯ ด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ เป็นผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงพาณิชย์ อดีตผู้แทนการค้าไทย และอดีตประธานบอร์ด ปตท. เป็นต้น

เรียนผิด เรียนถูก “วัคซีน” เศรษฐกิจแย่!

ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่าหลายปีที่ผ่านเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการค้าระหว่างประเทศเท่าที่ควร ทั้งที่ต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจต่างประเทศมากขึ้น ต้องดึงความเชื่อมั่นกลับมา หลังจากไทยมีปัญหาการเมืองที่ขัดแย้งสูงมาหลายปี ตามมาด้วยการรัฐประหาร และการมีรัฐธรรมนูญปี 60 ลำพังจะหวังกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน การจับจ่ายใช้สอยในประเทศ และการท่องเที่ยว คงช่วยได้เพียงบางส่วน เพราะตลอดมารายได้หลักของประเทศมาจากการลงทุนและการส่งออก

ต้องยอมรับตามตรงว่าก่อนโควิด-19 จะเข้ามา เศรษฐกิจไทยก็เจริญเติบโต ไม่ดี เราอยากให้ “จีดีพี” โตไม่น้อยกว่าปีละ 5% เพื่อให้พ้นกับดักความจน หนีให้พ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่ทำไม่สำเร็จ เนื่องจากจีดีพีโตประมาณปีละ 2% จนกระทั่งมีโควิด-19 เข้ามาอีก เศรษฐกิจยิ่งแย่หนัก เห็นได้จากปี 63 จีดีพีติดลบ 6% (-6%) ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 แล้วสาเหตุไม่ได้จากโควิด-19 เพียงอย่างเดียว แต่มาจากปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยไม่เอื้ออำนวยกับระบบเศรษฐกิจใหม่ ตอนนี้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยปรับตัวไม่ทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลง

ต่อมาเกิดวิกฤติโควิด-19 กระจายไปทั่วโลก เศรษฐกิจไทยกลับถดถอยจากเดิมลงไปอีก เมื่อรวมกับปัญหาเศรษฐกิจก่อนเกิดโควิด-19 กับการบริหารการจัดหาวัคซีน เนื่องจากรัฐบาลเสียเวลากับการเรียนผิด เรียนถูกอยู่นาน จึงกัดกร่อนภาวะเศรษฐกิจไปทีละนิด จนดิ่งเหวลงต่ำสุดในอาเซียนถึง -6 % (ปี 63) ไม่นับประเทศเมียนมา จนสุดท้ายรัฐบาลต้องเร่งหาวัคซีนดี ๆ เข้ามาฉีดอย่างกระจายและครอบคลุมมากขึ้น จึงเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจเปิดมากขึ้น

ถามว่าเมื่อเศรษฐกิจเปิด รัฐบาลเริ่มให้มีการท่องเที่ยว “จีดีพี” จะกลับมาเท่าเดิมช่วงก่อนโควิด-19 หรือเปล่า? ส่วนตัวมองว่าจีดีพีคงยังไม่เท่าเดิมในช่วงเวลาอันใกล้ ถึงแม้จีดีพีจะโตขึ้นไปเท่าเดิมก็ยังไม่พอ เพราะมีหลายปัญหาที่ดองกันไว้นาน ยังไม่ได้รับการแก้ไข และยังไม่มีใครในรัฐบาลออกมาพูดว่าจะแก้ไขได้อย่างไรกับ 5 ปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจ คือ 1.ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ มีร่ำรวยกันเพียงไม่กี่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 2.ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 92%

3.ปัญหาหนี้สาธารณะ ซึ่งกำลังแก้เพดานหนี้สาธารณะจากไม่เกิน 60% เป็น 70% 4.ปัญหาจีดีพี ซึ่งปีนี้กสิกรไทยบอกว่าจีดีพีของไทยจะติดลบ 0.2% (-0.2%) ขณะที่ของหน่วยงานรัฐบอกว่าจีดีพีปี 64 จะโต 1% และ 5.ปัญหาการขาดทุน ปัญหาหนี้เสีย-หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในธุรกิจขนาดย่อม (SME)

ต้องตามใกล้ชิดสงครามการค้าการลงทุน

ดังนั้นจึงต้องดูช่วง 2 เดือนก่อนสิ้นปี ว่ามาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ทยอยออกมาจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศได้มากแค่ไหน แล้วจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ เพราะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 จะไม่เท่ากัน บางประเทศฟื้นตัวเร็ว บางประเทศฟื้นตัวช้า แต่หัวหอกสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจของทุกประเทศคือ การส่งออก จึงต้องวางยุทธศาสตร์ให้ดี ต้องรีบบริหารจัดการท่าเรือให้เข้าที่เข้าทาง รวมทั้งเรื่องซัพพลาย เชน (Supply Chain) หรือห่วงโซ่อุปทานในเรื่องของการค้า การลงทุน การขนส่งสินค้าไปสู่จุดหมายปลายทาง

หลังจากโควิด-19 เริ่มสงบลง บรรดานักลงทุนคงต้องดูกันอย่างละเอียดว่าประเทศไหนน่าลงทุน หรือไม่น่าลงทุน เขาดูหมดว่าประเทศไหนเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า มีรัฐประหารบ่อย ๆ ก็ไม่ไหว ถ้าประเทศไหนมีประชาธิปไตยมาก ๆ ย่อมมี Rule of Law หรือหลักนิติรัฐ นิติธรรม ดูแลคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน

ดร.ปานปรีย์กล่าวต่อไปว่าปัจจุบันสงครามทางการค้าโลกแบ่งเป็น 2 ขั้ว คือขั้วอเมริกา ขั้วจีน โดยไม่ได้แข่งขันช่วงชิงความได้เปรียบทางด้านเศรษฐกิจการค้าเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของ “อุดมการณ์” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ประมาณว่าทำไมจีนจึงประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นำพาประเทศไปสู่ความเจริญทั้งที่ยังเป็นคอมมิวนิสต์

แต่ฝั่งประชาธิปไตยบอกว่าแม้จีนจะประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ แต่อุดมการณ์ยังเป็นคอมมิวนิสต์ที่ยังจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เห็นได้จากกรณีบริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มมีปฏิกิริยาวิพากษ์วิจารณ์ระบบราชการของจีน แต่ทางการจีนก็ออกมาตอบโต้และจัดการกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจแบบผูกขาดด้วยเหตุผลที่ว่าต้องกำจัดระบบเศรษฐกิจที่ผูกขาด เพื่อไม่ให้คนจีนมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้และฐานะ แต่ต้องอยู่แบบเท่าเทียมกัน

ในส่วนของไทยจะวางตัวอย่างไร? ในเมื่อต้องค้าขายกับจีน-อเมริกา ดังนั้นในเรื่องต่างประเทศควรมีแผนรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ กรณีความขัดแย้งระหว่างสองขั้วจะถูกยกระดับขึ้นไปอีก โดยเฉพาะ 3 เรื่องคือ 1.สงครามการค้าที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการผิดกติกาสากลทางการค้าระหว่างประเทศ แต่เกิดจากความไม่พอใจฝ่ายตรงข้ามมากกว่า จนนำมาตรการปกป้องทางการค้า Protectionism กลับมาใช้ เหมือนที่อเมริกาตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าจีนสูงเฉลี่ย 19% จนถึงวันนี้ 2. แนวรบใหม่ด้านเทคโนโลยีของอเมริกา เพื่อรักษาสถานะความเป็นมหาอำนาจโลก โดยไม่ยอมให้จีนแซงหน้า และ 3.ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้-ไต้หวัน หากไม่เจรจาหาทางออก อาจส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลกรอบใหม่

“CPTPP-FTA” ไทยเสียเปรียบเวียดนาม

อีกเรื่องที่เราพูดกันมาหลายปีแล้วคือประเทศไทยควรเข้าร่วม CPTPP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) หรือไม่? เนื่องจากที่ผ่านมายังถกเถียงกันอยู่ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งที่ CPTPP เป็นยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางการค้าระหว่างประเทศ โดยอเมริกาคิดเรื่องนี้ก่อน แต่มาถอนตัวออกไปในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ส่วนไทยยังไม่เข้าร่วม แต่เวียดนาม และมาเลเซียเข้าไปแล้ว ตอนแรกจีนยังไม่เข้า แต่ล่าสุดจีนเข้าไปแล้ว ทำให้ไทยตกใจอีกว่าทำไมเราไม่เข้าร่วม ซึ่งตอนนี้รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาเรื่องดังกล่าวอยู่ คาดว่าคงตัดสินใจเข้าร่วม CPTPPในปีหน้า

“การเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การค้าระหว่างประเทศอะไรก็แล้วแต่ ประโยชน์ที่ได้รับต่ำสุดคือผู้นำได้พบปะพูดคุยกันใกล้ชิด มีความสัมพันธ์กัน ถ้ามีปัญหาอะไรสามารถโทรศัพท์ไปคุยกันได้ อย่าลืมว่าเวียดนามมีทั้ง CPTPP และ FTA (ความตกลงการค้าเสรี) เหนือกว่าไทยทั้งหมด ใครคิดจะลงทุนต้องไปเวียดนาม เพราะผลิตสินค้าแล้วสามารถส่งไปขายได้ทั่วโลก โดยไม่มีกำแพงภาษี ดังนั้นต้นทุนจึงถูกกว่า หรือถ้าไม่ไปเวียดนามก็ไปมาเลเซีย สรุปวันนี้ประเทศเพื่อนบ้านไปไกลแล้ว แต่เรายังไม่ชัด ถ้ายังไม่ชัดก็ต้องมีลีลาและชั้นเชิง ไม่ใช่เดินไปแบบทื่อ ๆ กับสงครามการค้าระหว่างประเทศ”

นอกจากนี้ปลายปี 63 ได้เกิดข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล-DEPA ริเริ่มจาก 3 ประเทศ (สิงคโปร์-นิวซีแลนด์- ชิลี) ถือเป็นข้อตกลงในยุคใหม่ที่ทันสมัย เป็นการกำหนดกฎเกณท์ทางการค้าดิจิทัล ดังนั้นรัฐบาลน่าจะมอบให้กระทรวงดิจิทัลฯไปศึกษาด่วน หากเป็นประโยชน์ต่อไทยก็ควรขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก เรื่องนี้จะเป็นโอกาสปรับโครงสร้างเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลไปในตัวด้วย

ไม่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปไม่รอด!

ถ้าพูดในแง่มุมเศรษฐกิจตอนนี้ไทยลำบากนะ!  แล้วใครจะเข้ามาแก้ไข? รัฐบาลบอกว่ากำลังทำโครงการอีอีซี (EEC) แต่ตนมองว่าอีอีซีคือการต่อยอดอิสเทิร์นซีบอร์ด แล้วทำไมต้องไปทำกันอยู่ที่ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีโรงงานเต็มไปหมดจนสภาพสิ่งแวดล้อมจะพังอยู่แล้ว และที่ผ่านมารายได้ต่อหัวประชากรใน 3 จังหวัดดังกล่าวก็สูงในอันดับต้น ๆ ของประเทศ ทำไมคุณไม่กระจายให้มีการลงทุนไปจังหวัดอื่น ๆ ที่มีศักยภาพบ้าง หรือนิคมอุตสาหกรรมชายแดนทำไมจึงไม่เวิร์ก แต่ถ้าจะทำอีอีซีก็ต้องเป็นโรงงานทันสมัยจริง ๆ เข้ามาต่อยอดพัฒนาระบบให้ดีขึ้น เพื่อให้พนักงานมีทักษะดีขึ้น

วันนี้ภาคเอกชนอ่อนเปลี้ยกันหมด ไม่มีพลังที่จะแก้ไขปัญหา ส่วนภาคการเกษตรก็ยากจนกันทั่วหน้า ดังนั้นทุกคนจึงหวังพึ่งรัฐบาล และคาดหวังกับการบริหารจัดการของรัฐบาลผ่านโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินเยียวยา ซึ่งเงินก้อนนี้คงหวังที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ลำบาก และเงินอีกก้อนที่รัฐบาลใส่ลงไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ใส่ลงไปแล้วทำไมจีดีพีไม่โต แถมยังติดลบ จึงต้องกู้ฉุกเฉินกันอยู่เรื่อย ๆ ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปียังติดลบสูงเกิน 3% เราจะกู้หนี้ยืมสินกันไปตลอดอย่างนั้นหรือ ทั้งที่ในอดีตช่วงปี 47-48 ประเทศไทยเคยจัดงบประมาณแบบสมดุลได้นะ!

“ประเทศไทยต้องมีรัฐบาลที่เก่ง ผู้นำต้องรู้ปัญหาอย่างลึกซึ้ง แล้วตั้งรัฐมนตรีเก่ง ๆ ไปสู่นโยบายการปฏิบัติ เพราะถ้าโควิด-19 คลี่คลาย เศรษฐกิจเปิดเมื่อไหร่เขาแข่งขันกันแหลกเลยนะ ในอาเซียนก็ต้องแข่งขันกันหนัก แล้วไทยเตรียมความพร้อมแค่ไหน จะค้าขายกับใคร FTA ที่เข้าไม่ทันจะทำอย่างไร จะเข้า EU หรือไม่ EU  ปีที่แล้วจีดีพีติดลบ 6% ถ้าปีนี้จีดีพีโต 1% บอกว่าเศรษฐกิจดี มันจะดีได้อย่างไร? เพราะคุณเคยบอกว่าต้องโต 5% จึงจะหนีกับดักรายได้ปานกลาง ปัจจุบันเราต้องยอมรับความจริงว่าภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจแบบนี้ จีดีพีไปถึง 5% ไม่ได้แน่ ๆ ดังนั้นจึงต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพื่อรองรับธุรกิจใหม่ ๆ ทางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล แต่ถ้าไม่ปรับโครงสร้าง และไม่พัฒนา เราจะตามโลกไม่ทัน ถ้ายังมัวทะเลาะกันแต่เรื่องการเมืองมันไปไม่ไหวหรอก” ดร.ปานปรีย์กล่าว.