เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา บริษัทเมตาแพลตฟอร์มผู้เป็นเจ้าของโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่างเฟซบุ๊ก ปฏิเสธคำกล่าวอ้างของรัฐบาลประเทศสาธารณรัฐคาซัคสถานว่า บริษัทให้สิทธิพิเศษแก่ทางการเพื่อเข้าถึงระบบรายงานเนื้อหาต่าง ๆ ของเครือข่ายได้ ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ 1 พ.ย. รัฐบาลคาซัคสถานออกแถลงการณ์ซึ่งอ้างว่าเป็นการแถลงร่วมกับเฟซบุ๊ก ถือเป็นทางออกที่ประนีประนอมร่วมกัน หลังจากที่ทางการขู่ว่าจะปิดกั้นการเข้าถึงแพลตฟอร์ม ไม่ให้ผู้ใช้งานนับล้านของประเทศใช้เฟซบุ๊กได้

คณะรัฐมนตรีคาซัคสถานกล่าวว่า ข้อตกลงซึ่งน่าจะเป็นข้อตกลงแรกสุดของภูมิภาคเอเชียกลางในยุคหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต จะช่วยปรับปรุงกระบวนการนำออกซึ่งเนื้อหาที่ถือว่าผิดกฎหมายของคาซัคสถานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

หลังจากนั้น เบน แม็คโคนาฮี ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารนโยบายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของบริษัทเมตาแพลตฟอร์ม ส่งอีเมลถึงสำนักข่าวรอยเตอร์ มีใจความว่า “ประการแรก เราไม่ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับรัฐบาลคาซัคสถาน รัฐบาลคาซัคสถานเป็นผู้ออกแถลงการณ์เอง โดยอ้างอิงจากที่เราได้พูดคุยกับทางการเกี่ยวกับกระบวนการในระดับโลกของเรา เรื่องคำขอจากรัฐบาลต่าง ๆ เพื่อจำกัดเนื้อหาที่ละเมิดกฎหมายท้องถิ่น”

เขาเสริมว่ากระบวนการนี้ “ไม่ใช่กระบวนการที่ปฏิบัติเฉพาะในคาซัคสถาน และเป็นกระบวนการเดียวกันกับที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทำอยู่ทั่วโลก”

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐสภาของคาซัคสถานเริ่มกระบวนการร่างกฎหมายที่จะอนุญาตให้รัฐบาลปิดกั้นเครือข่ายโซเชียลมีเดียและแอพส่งข้อความต่าง ๆ เว้นแต่นักพัฒนาของบริษัทเหล่านี้จะเปิดสำนักงานในประเทศ และแต่งตั้งผู้บริหารที่รับผิดชอบการตรวจสอบข้อร้องเรียนของทางการเป็นการเฉพาะ

ไอโดส ซารีม สมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาร่างกฎหมายโพสต์บนเฟซบุ๊กของเขาเมื่อวันจันทร์ว่า ร่างกฎหมายนี้ได้ปูทางสำหรับการพูดคุยกับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี และขณะนี้ทางการก็พร้อมที่จะลดความเข้มงวดของกฎหมายลง

บรรดาผู้วิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายดังกล่าวกล่าวหาว่า คณะผู้บริหารประเทศที่มีอำนาจปกครองแบบเผด็จการพยายามหาเครื่องมือเซ็นเซอร์ใหม่ๆ ในขณะที่ผู้เขียนร่างกฎหมายระบุว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์และการเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นอันตรายอื่นๆ

รัฐบาลคาซัคสถานกล่าวว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กอย่างน้อย 3.2 ล้านคนในประเทศ ส่วนแอพพลิเคชั่นของบริษัทเมตาแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น อินสตาแกรมและวอทส์แอพนั้น ได้รับความนิยมมากกว่า

ด้านเฟซบุ๊กนั้น ต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ มานานแล้วว่าปฏิบัติตามคำขอในการเซ็นเซอร์เนื้อหาของรัฐบาลมากเกินไป ส่วนใหญ่แล้ว บริษัทจะหลีกเลี่ยงการปิดกั้นเนื้อหานอกประเทศหลายประเทศ เช่น จีน ซึ่งปิดกั้นเฟซบุ๊กมานานแล้ว แต่ต้องเผชิญกับแรงกดดันมาตลอดในปีนี้ในหลายประเทศ เช่น อินเดีย เวียดนาม และเมียนมา

เครดิตภาพ : Reuters