ในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา มีการใช้งบประมาณตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ไปแล้วหลายแสนล้านบาท อาทิ  1. แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการระบาดเชื้อโควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน 2. แผนงานที่มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยแก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ 3. แผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19

แต่ไม่น่าเชื่อท่ามกลางวิกฤติ ปัญหาการคอร์รัปชั่นก็ยังมีอยู่ และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนภาคประชาชนและสังคมเริ่มมีการเรียกร้อง เพื่อสร้างระบบการตรวจสอบที่โปร่งใส เพื่อให้ทั่วถึงประชาชนอย่างแท้จริง โดยปีที่แล้ว องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT รวมพลังสู้โกงแบบออนไลน์ มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการใช้ฐานข้อมูลที่เปิดเผยจากหน่วยงานภาครัฐ เป็นพลังสำคัญในการต่อสู้และป้องกันการทุจริตในภาวะวิกฤติโควิดฯ

โควิดฯ กับคอร์รัปชั่นที่ยังแอบแฝงอยู่

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้สัมภาษณ์ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ให้มุมมองถึงเรื่องนี้ว่า สถานการณ์การคอร์รัปชั่นในครึ่งปีที่ผ่านมา ถือว่าเลวร้ายมาก สาเหตุเนื่องจากช่วงนี้มีการอัดฉีดงบประมาณลงมายังท้องถิ่นเยอะ ซึ่งงบประมาณเหล่านี้เป็นของส่วนกลางค่อนข้างมาก เพื่อใช้บรรเทาปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นอยู่ และมีการกระตุ้นว่าหน่วยงานต่าง ๆ ต้องรีบใช้เงิน ดังนั้นเงินที่เอาออกมาส่วนหนึ่งวัตถุประสงค์ใช้ในการ เยียวยาโควิด และ พยุงเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันหน่วยงานต่าง ๆ ก็เอา เงินสำรอง ของตัวเองออกมาใช้ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเงินสำรองค่อนข้างมาก

การนำเงินสำรองมาใช้ในช่วงโควิด แต่ละหน่วยงานสามารถนำออกมาใช้ได้ โดยไม่ต้องนำเงินนั้นกลับมาคืน เลยทำให้มีเงินอัดฉีดออกมาจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีการผ่อนปรนกติกาในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการใช้เงินให้ทันกับวิกฤติความต้องการ

ขณะเดียวกันวิกฤติโควิด หลายหน่วยงานรัฐก็ไม่รู้ว่าการจะซื้อของบางประเภทต้องมีการจัดซื้อกันอย่างไร หรือราคากลางและคุณภาพของอุปกรณ์นั้นต้องเป็นเช่นไร ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานราชการต้องทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home ทำให้ศักยภาพในการตรวจสอบของหน่วยงานมีคุณภาพที่ต่ำมาก การทำงานที่บ้านของหน่วยงานราชการ การดูแลตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ การลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบก็น้อยลงไปมาก ประมาณ 20–30 เปอร์เซ็นต์ที่หายไป โดยหน่วยงานตรวจสอบในกรมและกระทรวงนั้น ๆ จะลดกลไกการตรวจสอบลง แม้แต่เอกสารที่ส่งกันภายในบางครั้งก็ไม่ได้เปิดดู เช่นเดียวกับ สตง. พยายามยืดหยุ่น เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ใช้เงินได้อย่างคล่องตัว ด้วยปัจจัยนี้เปรียบเสมือนเป็นการกระตุ้นให้เกิดการคอร์รัปชั่นสูงมาก

โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ทั้งสื่อมวลชนและประชาชนต่างสนใจในปัญหาการแพร่ระบาดของโรค และปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ความสนใจใน เรื่องการคอร์รัปชั่น ของหน่วยงานรัฐมีน้อย แม้รัฐจะมีนโยบายตัดงบประมาณในส่วนต่าง ๆ เพื่อนำงบประมาณมาแก้ปัญหาโควิด แต่ตอนนี้หน่วยงานต่าง ๆ เริ่มเรียนรู้ว่าจะต้องถูกตัดงบ 5–10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นโครงการที่ขึ้นร่างโครงสร้างแล้ว จะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ของบทำต่อ เช่น สร้างตึกหรือถนนที่ทำค้างไว้ เพราะเมื่องานเสร็จไม่ตามงวดก็จะไม่ต้องจ่ายเงิน ซึ่งเงินเหล่านั้นถูกตัดไป แต่สามารถดึงงบที่เก็บไว้มาใช้ในภารกิจอื่น ๆ ที่มีโอกาสคอร์รัปชั่นได้ในช่วงนี้

ข้อมูลสาธารณะกุญแจแก้ปัญหา

เลขาฯองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวต่อว่า เรื่องการอนุญาตหรืออนุมัติต่าง ๆ ยังมีการคอร์รัปชั่นอยู่ เห็นได้จากประเด็นสังคมเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง และเรายังได้ยินเรื่องที่องค์กรส่วนท้องถิ่นบางแห่งถูกร้องเรื่องการเรียกเงินค่าตำแหน่งจากลูกจ้างหากต้องการจะต่อสัญญาการทำงานคนละ 15,000 บาท โดยเวลาจ่ายให้ใช้เงินสด ซึ่งคนที่เป็นหัวหน้าใหญ่จะไม่รับเอง แต่ต้องไปจ่ายผ่านกับอีกต่อนึง สอดคล้องกับงานวิจัยดัชนีคอรัปชั่นของไทย ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยสำรวจพบว่ายังมีอย่างต่อเนื่อง และมีความเลวร้ายมากขึ้นในช่วงโควิดฯ ขณะเดียวกันถ้าวันนี้เราลองคุยกับหน่วยงานเอกชน หลายแห่งต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า หน่วยงานรัฐช่วงเวลานี้มีการคอร์รัปชั่นอย่างมาก

ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ต้องทำให้ได้ เพื่อแก้ไขการคอร์รัปชั่นในช่วงโควิดฯ ที่เงินถูกอัดฉีดลงมาแล้วจำนวนมาก ควรจะมีการเผยแพร่ข้อมูลของหน่วยงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออินเทอร์เน็ต ที่เป็น “ข้อมูลสาธารณะ” ตรวจสอบย้อนหลังเมื่อไหร่ก็ได้ แม้มีการคอร์รัปชั่นวันนี้แต่ข้อมูลนั้นจะเป็นหลักฐานในวันข้างหน้า และถ้ามีการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ จะเกิดการตรวจสอบที่หลากหลายเป็นวงกว้างมากขึ้น

แต่ปัญหาเรื่องการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะของหน่วยงานราชการ ไม่ได้ถูกแก้ไขมาจนถึงตอนนี้ ซึ่งมีตัวอย่างการเปิดเผยข้อมูล
ที่ถือเป็นต้นแบบคือ การใช้งบประมาณ 4 แสนล้าน โดยสภาพัฒน์ได้เปิดเผยข้อมูลที่สามารถนำมาประมวลผลได้ ซึ่งเราได้ลองใช้โปรแกรมที่ตรวจสอบเอกสาร เพื่อสำรวจการทุจริต และพบว่าข้อมูลเหล่านี้ถูกเปิดเผยผ่านเอกสารที่ประมวลผลได้ โครงการนี้ค่อนข้างมีความโปร่งใส การใช้เงินโดยตรงจากโครงการนี้ จะมีข่าวการคอร์รัปชั่นน้อยมากดังนั้นเราจะเห็นกระบวนการว่า เมื่อเปิดข้อมูลสู่สาธารณะภาคประชาชนหรือข้าราชการที่ไม่เห็นด้วยจะช่วยกันชี้เป้าถึงโครงการที่สุ่มเสี่ยงคอร์รัปชั่น และหน่วยตรวจสอบจะเข้ามาดูโครงการนั้นได้ทันที ประกอบกับมีโปรแกรมที่ตรวจสอบเอกสารการทุจริตอย่างรวดเร็ว หลายกรณีจะเข้าไปตรวจสอบได้เร็วก่อนที่จะมีการใช้เงิน

ในภาวะที่จะอัดฉีดเงินเพื่อแก้ปัญหาโควิดฯ จึงสมควรมีการเปิดเผยข้อมูล เพราะมีเงินที่ลงสู่ท้องถิ่นมาก แต่เราไม่รู้ว่าเงินในโครงการไหนจะลงแล้วคุ้มค่า หรือมีความเป็นธรรมมากน้อย ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูลจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้

ปัญหาการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ ผู้นำประเทศก็รู้ถึงจุดอ่อนเหล่านี้ ดังจะเห็นว่าตอนนี้มีหน่วยงานที่ทำเรื่องที่เปิดเผยข้อมูลค่อนข้างมาก เพียงแต่ว่าข้อมูลที่กระจัดกระจายกันอยู่ตอนนี้ ไม่ถูกนำมาเชื่อมโยงกัน และที่สำคัญต้องมีการออกกฎให้แต่ละหน่วยงานป้อนข้อมูลเข้ามาผ่าน “ระบบส่วนกลาง” แต่การป้อนเข้ามาของหน่วยงานรัฐทุกวันนี้ ข้อมูลที่ส่งเข้ามาในระบบส่วนใหญ่เป็นข้อมูลขยะ คือโยนเข้ามาทั้งกอง หรือโยนมาด้วยไฟล์ข้อมูลที่เอาไปประมวลผลต่อไม่ได้ เช่น ไฟล์เจเพ็ก (JPEG) หรือไฟล์พีดีเอฟ (PDF) สิ่งนี้ทำให้ภาครัฐไม่สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลผลผ่านโปรแกรมตรวจสอบการคอร์รัปชั่นได้

แนะเปลี่ยนมุมมองความคิด

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวเสริมด้วยว่า การเปิดเผยข้อมูลไม่ใช่การจับผิด แต่เป็นการเปิดเผยเพื่อประชาชนทุกคน โดยตัวเลขที่ผ่านการประมวลเราสามารถนำไปต่อยอดเพื่อวางแผนการทำงานและเศรษฐกิจในภาพรวมได้ เช่นเดียวกับเอกชนที่วางแผนการลงทุนก็มาใช้ข้อมูลนี้ได้จะต้องเปลี่ยนมุมมองความคิดของหน่วยงานราชการ ที่มองว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับของหน่วยงาน หรือเป็นเคพีไอ ของหน่วยงาน เป็นความคิดที่ผิด เพราะข้อมูลนี้ต้องถูกเปิดเผยและพัฒนาให้เกิดผลต่อประชาชนส่วนรวม ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการชินกับการตีกรอบ เพื่อความมั่นคงของตัวเอง และหน่วยงานต่าง ๆ สร้างระบบที่จะเก็บความลับในหน่วยงานตัวเองไว้เยอะมาก

“เรากำลังมองถึง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ วันนี้ยังไปไม่ถึงไหน แม้มีการพยายามร่างมาหลายปีมาก แต่วันนี้ในสภาก็ยังตกลงกันไม่ได้ เพราะวันนี้ภาครัฐลงทุนด้านไอทีไปมหาศาลแต่ข้อมูลที่จะถูกป้อนเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง ยังไม่มีประสิทธิภาพ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่ประชาชนเราจะเสียโอกาสไป”.