คลารา เบิร์ดลอง หญิงสาวผิวดำวัย 44 ปี หายตัวไปในเขตรัฐมิสซิสซิปปีเมื่อปี 2520 ไม่มีใครรู้ว่าเธอหายไปไหน จนกระทั่งอีก 44 ปี ให้หลัง บริษัท โอแธรม อิงค์ (Othram Inc.) สามารถระบุตัวตนของเธอได้จากศพนิรนามด้วยเทคโนโลยีตรวจสอบและวิเคราะห์ดีเอ็นเอแบบใหม่ที่ห้องแล็บของบริษัทพัฒนาขึ้น ทางการสหรัฐ เชื่อว่าเธอคือหนึ่งในเหยื่อ 93 รายของแซมมวล ลิตเทิล ฆาตกรต่อเนื่องที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์อาชญากรรมของสหรัฐ

ลิตเทิลได่รับโทษจำคุกตลอดชีวิตและเพิ่งเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อปีที่แล้ว แม้เขาจะยอมรับว่าเป็นคนฆ่าเบิร์ดลอง แต่ทางการสหรัฐ ก็ไม่สามารถระบุศพของเธอได้ ส่วนตัวลิตเทิลเองก็จำไม่ได้ เพราะเขาสังหารเหยื่อไปเป็นจำนวนมากจนจำไม่ได้ว่าเธอเป็นใคร

แซมมวล ลิตเทิล ฆาตกรต่อเนื่องผู้สังหารเหยื่อไป 93 ราย ภายในช่วงเวลากว่า 35 ปี

เดวิด มิตเทิลแมน ซีอีโอของบริษัทโอแธรม อิงค์ กล่าวว่า เทคโนโลยีด้านนิติวิทยาศาสตร์แบบใหม่นี้ สามารถทำสิ่งที่เคยเป็นไปไม่ได้มาก่อน ทั้งยังช่วยไขคดีอาชญากรรมได้หลายคดี แม้แต่คดีเก่าแก่ที่ย้อนไปถึงปี 2424

ตัวอย่างคดีที่เทคโนโลยีดีเอ็นเอของโอแธรมมีส่วนช่วยก็เช่น คดีของคลารา วอล์คเกอร์ หญิงสาวชาวเทกซัสวัย 17 ปีที่ถูกข่มขืนและฆ่า หลังจากถูกลากออกมาจากรถของแฟนหนุ่มในคืนที่เธอไปออกเดทวันวาเลนไทน์เมื่อ 47 ปีก่อน เทคโนโลยีของโอแธรม ช่วยให้ตำรวจระบุตัวฆาตกรได้เมื่อปีที่แล้ว โดยฆาตกรเป็นชายที่อาศัยอยู่ในละแวกบ้านใกล้เคียงกับผู้เคราะห์ร้าย

นอกจากนี้ยังมีคดีของสเตฟานี ไอแซคสัน สาวน้อยวัย 14 ปีที่โดนฆาตกรรมโดยการรัดคอระหว่างเดินจากโรงเรียนเพื่อกลับบ้านในลาสเวกัส เมื่อปี 2532 คดีของเธอมีร่องรอยดีเอ็นเอที่หลงเหลืออยู่น้อยมาก แต่เทคโนโลยีของโอแธรมสามารถใช้ร่องรอยดีเอ็นเอที่มีปริมาณเพียง 0.12 นาโนแกรม มาสร้างเป็นโปรไฟล์ของเจ้าของดีเอ็นเอซึ่งเป็นฆาตกร และจับคู่ได้จากข้อมูลดีเอ็นเอจากคดีฆาตกรรมที่เขาเป็นผู้ลงมือในอีกคดีหนึ่ง ทั้งนี้ ฆาตกรรายนี้ฆ่าตัวตายไปตั้งแต่ปี 2538

ในระบบปัจจุบันที่ทางการสหรัฐ ใช้อยู่นั้น สามารถระบุตำแหน่งและรูปแบบของดีเอ็นเอได้เพียง 20 จุด หน่วยงานสืบสวนกลางหรือเอฟบีไอเป็นเจ้าของระบบนี้ และอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสืบค้นข้อมูลในฐานข้อมูลได้ เพื่อจับคู่กับดีเอ็นเอที่พบในสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งวิธีนี้ จำเป็นจะต้องมีข้อมูลของคนที่ต้องการหาตัวอยู่ในฐานข้อมูลตั้งแต่แรก

มิตเทิลแมนอธิบายว่า บุคคลสูญหายจำนวนมากไม่มีข้อมูลอยู่ในฐานข้อมูลนั้น ดังนั้น จึงไม่สามารถระบุตัวบุคคลสูญหายได้จากศพที่พบ เนื่องจากระบบที่ใช้ในปัจจุบันเป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อจับตัวอาชญากร ไม่ใช่เพื่อระบุว่าศพที่พบเป็นใคร ยิ่งไปกว่านั้น ระบบยังมีข้อมูลสืบย้อนไปถึงทศวรรษที่ 1990 เท่านั้น คดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นจึงมีโอกาสน้อยที่จะปิดคดีได้

แต่ตอนนี้ โอแธรมสามารถใช้ร่องรอยดีเอ็นเอที่มีปริมาณเพียงน้อยนิดมาสร้างโปรไฟล์เจ้าของดีเอ็นเอ ซึ่งไม่ได้มีการระบุตำแหน่งเพียง 20 จุด แต่เป็นจำนวนหมื่นหรือแสนจุด เพื่อนำมาเทียบเคียงกับฐานข้อมูล เท่ากับเพิ่มโอกาสในการตามหาตัวเจ้าของดีเอ็นเอได้มากขึ้นหลายเท่า และทางบริษัทก็เคยส่งข้อมูลเหล่านี้ให้ตำรวจเพื่อตามหาตัวอาชญากรหรือเหยื่อมาหลายรายแล้ว

มิตเทิลแมน มีความหวังว่าจะมีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้เป็นมาตรการขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับการวิเคราะห์ลายนิ้วมือ โปรแกรมกราฟิกจำลองใบหน้า หรือวิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์อื่น ๆ แต่ก็ยังติดขัดเรื่องเงินทุน เนื่องจากเทคโนโลยีนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และบริษัทก็ได้ทุนจากเงินบริจาคเป็นหลัก

โอแธรม อิงค์ เป็นบริษัทห้องแล็บเอกชนในเมืองวูดแลนด์ รัฐเทกซัส ตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 นักวิทยาศาสตร์ของที่นี่มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ดีเอ็นเอมนุษย์จากร่องรอยตกค้างในวัตถุหรือสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ และมีผลงานที่ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ทางกฎหมายของสหรัฐ มาหลายคดี

แหล่งข่าวอ้างอิง

https://www.ladbible.com/news/technology-revolutionary-dna-technology-could-stop-serial-killers-for-good-20211022

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES