ทั้งนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำเสนอเรื่องนี้ไปแล้วตอนหนึ่งโดยเน้นการเมืองโลก และโยงถึงเศรษฐกิจ ส่วนตอนนี้มาขยายต่อกับประเด็น “เศรษฐกิจโลก” ซึ่งเนื้อความดังกล่าวข้างต้นเป็นการสะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้โดย ผศ.ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการหลักสูตร aMBA (Analyst MBA) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เศรษฐกิจโลกสหรัฐมีบทบาทสูง”

โดย “ยึดโยงกับนโยบายผู้นำสหรัฐ”

แล้วจากนี้ต่อไปจะเป็นเช่นไร??”

ผศ.ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล

ศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐครั้งใหม่ในวันที่ 5 พ.ย.นี้ ที่คู่ชิงคือ “โดนัลด์ ทรัมป์” ตัวแทนพรรครีพับลิกัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ กับ “กมาลา แฮร์ริส” ตัวแทนพรรคเดโมแครต รองประธานาธิบดี ยุค โจ ไบเดน ซึ่งทั่วโลกก็ต้อง “ลุ้น??” เช่นกันว่า “ใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ คนที่ 47” โฟกัสที่ผลต่อเศรษฐกิจโลก ทาง ผศ.ดร.ภูษิต วิเคราะห์และสะท้อนมาดังนี้…

มองว่าทั้งทรัมป์ และแฮร์ริส ต่างก็ให้ความสำคัญกับประเทศสหรัฐเองเป็นหลัก ซึ่งแน่นอน ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ยังจะมีนโยบายกีดกันทางการค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเกิดผลกระทบไม่มากก็น้อย ต่างกันที่ความเข้มข้นของนโยบายว่าจะกีดทางการค้ามากหรือน้อยแค่ไหน” …อย่างไรก็ตาม นักวิชาการไทยท่านนี้ยังระบุว่า… เมื่อดูนโยบายของคู่ชิงเก้าอี้ผู้นำทั้ง 2 คนก่อน ก็จะเข้าใจว่ามีผลต่อเศรษฐกิจที่แตกต่างกันแค่ไหน

นโยบายทรัมป์ เน้นหนัก “อเมริกันเฟิร์ส” เอาสหรัฐเป็นหลักก่อน พยายามทำทุกอย่างให้สหรัฐกลับมามีเศรษฐกิจที่ดีเหมือนเดิม ซึ่งนโยบายเศรษฐกิจทรัมป์จะมีการขึ้นภาษีนำเข้าต่อประเทศคู่ค้าในทุกประเภทสินค้า 10% และจะขึ้นอัตราภาษีนำเข้า 60% จากประเทศจีน เพราะมองจีนเป็นคู่แข่งสำคัญมาก ซึ่งนโยบายนี้ จะก่อให้เกิด “สงครามการค้า” อีกรอบแน่ และนโยบายอีกเรื่องคือให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยจะลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% เหลือ 15% สนับสนุนนักลงทุนอเมริกันให้ลงทุนในประเทศ ขณะเดียวกันทรัมป์ยังวางแผนเพิ่มงบประมาณไว้สูงมาก คาดว่าจะวางงบประมาณที่ 150% ต่อ GDP เพราะต้องการให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวขึ้นมาเร็ว ๆ จึงต้องเอางบต่าง ๆ ลงไปเร่งฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ

นโยบายแฮร์ริส แม้จะให้ความสำคัญกับสหรัฐเป็นหลัก แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับโลกด้วย ซึ่งเน้นในเรื่องการทำให้โลกมีความเป็นระบบระเบียบมากขึ้น โดยที่ “อเมริกาจะทำตัวเป็นเหมือนซูเปอร์ฮีโร่” โดยนโยบายด้านเศรษฐกิจ อาจสานต่อนโยบายของ โจ ไบเดน แต่นโยบายในการขึ้นภาษีก็คงจะขึ้นบ้าง คงขึ้นภาษีในบางประเภทสินค้า อย่างไรก็ตาม ก็คงไม่ได้กีดกันทางการค้ามากขนาดทรัมป์ แต่ในส่วนของประเทศจีนก็จะยังมีการกดดันอยู่ อย่างการกีดกันการเข้าถึงเทคโนโลยี

ทั้งนี้ ทาง ผศ.ดร.ภูษิต วิเคราะห์ต่อไปว่า… หาก ทรัมป์ เป็นผู้นำสหรัฐอีกครั้ง มุ่งไปที่จะทำยังไงให้สหรัฐเกิดการฟื้นตัวก่อน? ก็จะมีการกีดกันการค้ามากขึ้น ถ้าเป็นทรัมป์ การส่งสินค้าเข้าสหรัฐจะยากขึ้น ภาษีเพิ่มขึ้น ประเทศที่ส่งออกไปที่สหรัฐถ้าส่งได้น้อยลงการเติบโตของเศรษฐกิจก็มีผลแน่ อีกอย่างทรัมป์ไม่ส่งเสริมต่างชาติลงทุนในสหรัฐ สนับสนุนให้นักลงทุนอเมริกันกลับไปลงทุนในประเทศ เศรษฐกิจประเทศอื่นก็อาจแย่ลง เศรษฐกิจโลกที่ต้องพึ่งพาสหรัฐก็อาจมีปัญหา

ในขณะที่หาก แฮร์ริส เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ นโยบายด้านเศรษฐกิจของสหรัฐก็น่าจะไม่มีอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมมาก เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นแฮร์ริส เศรษฐกิจโลกก็อาจไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิม มากนัก

เศรษฐกิจโลกก็น่าจะเกิดผลกระทบไม่มากก็น้อย เพราะเรื่องการกีดกันทางการค้า หากทรัมป์ขึ้นมาก็จะเห็นผลรวดเร็วแน่ เพราะเป็นนักธุรกิจ เขาก็จะมองประเทศเป็นเหมือนบริษัท นโยบายก็จะเร็วแรงในแบบนักธุรกิจ ไม่เหมือนแฮร์ริสที่เป็นเรื่องการเมืองเป็นหลัก จะทำอะไรแบบค่อยเป็นค่อยไป” …นักวิชาการท่านเดิมวิเคราะห์จุดต่าง

อย่างไรก็ตาม ถามว่า… แล้วผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยล่ะ??” ทาง ผศ.ดร.ภูษิต ระบุว่า… ถ้ามีนโยบายกีดกันการค้าเกิดขึ้น ถ้าสหรัฐมีการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้า 10% การส่งออกสินค้าจากไทยก็จะมีข้อจำกัดมากขึ้น แต่ก็มีจุดน่าสนใจอีกด้านคือ ถ้าสหรัฐกับจีนมีความขัดแย้งมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จีนจะกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุน ซึ่ง ไทยอาจได้อานิสงส์จากการโยกย้ายการลงทุนจากจีน อาจมีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจากจีนมาที่ไทยมากขึ้น จีนอาจจะอพยพฐานอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อใช้ไทยเป็นช่องส่งสินค้าเข้าสหรัฐอเมริกา อาจทำให้ไทยมีการลงทุนจากจีนจำนวนมาก

ทว่า…สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ แต่ไทยก็อาจจะได้ผลประโยชน์ไม่เต็มที่มากนัก และอาจจะถูกสหรัฐมองว่าอยู่ฝ่ายเดียวกับจีน ซึ่งแบบนี้จะไม่ใช่เรื่องที่ดี เกมนี้มีทั้งผลดีและผลเสีย รัฐบาลไทยจึงต้องดูแลเกี่ยวกับนโยบายอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ กับการ เลือกตั้งผู้นำสหรัฐอเมริกา” ทาง ผศ.ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ยังทิ้งท้ายด้วยว่า… ผู้ประกอบการไทยต้องติดตามข่าวสารใกล้ชิด ดูว่าจากนโยบายผู้นำสหรัฐตัวเองอยู่ในเทรนด์บวกหรือเทรนด์ลบ? ต้องคอยดูว่ามีอะไรที่จะก่อผลกระทบ? มากน้อยขนาดไหน? และจำเป็นต้องบาลานซ์ให้ดี ต้องหาพาร์ทเนอร์หาพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อส่งออกสินค้าในหลายประเทศมากขึ้น ซึ่งหากพึ่งพาแต่ตลาดสหรัฐเป็นหลัก ถ้าเกิดอะไรขึ้นก็จะมีปัญหา

ผู้ประกอบการจะต้องวางกลยุทธ์ให้ดี

เพื่อ…ไม่ให้ตกยุคการเปลี่ยนแปลง!!”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์