ยังเป็นที่น่าสงสัยว่า เหตุใด ผู้หญิงที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย กลับพบว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด ซึ่ง ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องในช่องทรวงอก โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ได้ยกสถิติเกี่ยวกับผู้ป่วยมะเร็งปอดจากสมาคมปอดนานาชาติ (The International Association for the Study of Lung Cancer) พบว่า จำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอดในแต่ละปีลดลง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ แต่มีรายงานการศึกษาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับอัตราการเกิดมะเร็งปอดในผู้หญิง ซึ่งพบว่าโรคมะเร็งปอดในผู้หญิงอายุ 35-54 ปีพบได้บ่อยกว่าผู้ชายอายุเท่ากัน ซึ่งยังไม่ทราบว่ามีสาเหตุจากอะไร

แต่มีทฤษฎีบางอย่างอาจเป็นเพราะผู้หญิงเผาผลาญสารก่อมะเร็งที่พบในควันบุหรี่แตกต่างจากผู้ชาย หรืออาจเป็นเพราะผู้หญิงมีความอ่อนไหวต่อการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมบางอย่าง เช่น มลพิษทางอากาศและก๊าซเรดอน ซึ่งเป็นก๊าซกัมมันตรังสีที่พบตามธรรมชาติในบางสภาพแวดล้อม แต่ยังไม่มีการยืนยันความเชื่อมโยงโดยตรง และยังมีอีกหลายสาเหตุที่จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม”

จากข้อมูลสถิติที่เชื่อถือได้ คาดการณ์ว่าในปี 2573 จะมีผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่เพศหญิงในประเทศไทยมากกว่า 11,200 คน เพิ่มขึ้นประมาณ 35% จากจำนวนผู้ป่วยหญิงรายใหม่ 8,300 คน ในปี 2565 สะท้อนให้เห็นถึงการแพร่กระจายของปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดโรคทั้งการสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มลพิษทางอากาศ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่สำคัญอีก เช่น การกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม ที่อาจเป็นต้นเหตุของโรคนี้ได้

ผศ.นพ.ศิระ ยังบอกอีกว่า จากงานวิจัยจากสมาคมปอดนานาชาติ เมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า การกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม อาจเป็นสาเหตุอีกประเด็นของโรคมะเร็งปอด เช่น การกลายพันธุ์ในยีน EGFR (Epidermal Growth Factor Receptor) พบมากในคนเอเชียและอาจเป็นสาเหตุการก่อให้เกิดมะเร็งปอดด้วย โดยไม่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ของผู้ป่วย โดยพบถึง 30-40% และสูงกว่าประชากรชาวตะวันตกอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งกลายพันธ์ุของยีน EGFR พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

ทั้งนี้ เมื่อจำนวนมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ลดลง แต่สัดส่วนโดยรวมของมะเร็งปอดในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงมะเร็งที่เกิดจาก EGFR และการกลายพันธุ์ของยีนเฉพาะอื่น ๆ จะเพิ่มขึ้นโดยอาการที่พบบ่อยที่สุดของมะเร็งปอดไม่แตกต่างจากการป่วยด้วยสาเหตุอื่น คือจะมีอาการไอเรื้อรัง รวมถึงไอเป็นเลือด มีเสียงหวีดหรือหายใจถี่ มีอาการเจ็บหน้าอก เสียงแหบ น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดส่วนใหญ่ตรวจเจอเมื่อในระยะลุกลาม ทำให้การรักษาได้ไม่ดีมากนัก เนื่องจากตัวโรค มีการตอบสนองกับยาเคมีบำบัดได้ไม่ดี อย่างไรก็ตามจากการศึกษาล่าสุด จากสมาคมปอดนานาชาติ พบว่าอัตราการรอดชีวิตจากมะเร็งปอดดีขึ้น จากความก้าวหน้าในการตรวจวินิจฉัยและการรักษา โดยเฉพาะมะเร็งระยะที่ 4 มี ยาพุ่งเป้า (Target therapy) หรือ ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) แต่จะดีที่สุดหากตรวจพบเร็วรักษาเร็ว ยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นหากรู้สึกว่ามีบางอย่างผิดปกติ ขอให้รีบปรึกษาแพทย์.