อยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทำให้รัฐบาลน.ส. แพทองธาร ชินวัตร ได้มีโอกาสหายใจหายคอ ไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเมือง มีโอกาสสร้างผลงานได้เต็มที่ แม้ผลโพลในช่วงที่ผ่าน จะระบุว่ารัฐบาลมีโอกาสอยู่ครบเทอมสูง แต่ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ส่วนประเด็นทางการเมืองที่ร้อนขึ้นมา และทำให้รัฐบาลเผชิญแรงกดดันคือ คือการเจรจาแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา โดยใช้เอ็มโอยู 2544 ที่ทำไว้ยุครัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร มาเป็นเครื่องมือ ท่ามกลางเสียงคัดค้านทั้งฝ่ายการเมืองจากหลายฝ่ายทั้ง นักวิชาการ อดีตทหาร ร่วมถึงฝ่ายที่พยายามหาประเด็นคัดค้านรัฐบาลมาโดยตลอด เพราะเกรงว่า จะทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบ เพราะเป็นการรองรับการลากเส้นทางทะเลฝ่ายกัมพูชาที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ และอาจนำไปสู่การเสียดินแดนในอนาคต โดยเฉพาะเกาะกูด จ.ตราด 

ทำให้ “นายนพดล ปัทมะ” ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) และ อดีตรมว.ต่างประเทศ ต้องออกมาชี้แจงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดกล่าวถึงกระแสการบิดเบือนว่าไทยจะเสียเกาะกูดและเอ็มโอยู 44 อาจนำไปสู่การเสียเกาะกูดว่า ข้อเท็จจริงคือเกาะกูดเป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสมานานแล้วไม่เคยได้ยินว่ากัมพูชาเรียกร้องสิทธิเหนือเกาะกูด จึงขอเรียกร้องให้เลิกปั่นกระแสไทยเสียเกาะกูดในขณะนี้เพราะมันเป็นความเท็จ รัฐบาลนี้รักประเทศชาติ ไม่มีใครจะทำให้ไทยเสียดินแดน ส่วนที่มีการบิดเบือนว่าเอ็มโอยู 44 จะทำให้ไทยเสียดินแดนนั้น เห็นว่าเอ็มโอยู 44 ที่ลงนามโดย”นาย สุรเกียรติ เสถียรไทย” รมว.ต่างประเทศในขณะนั้น ไม่ได้ทำให้ไทยเสียเกาะกูด

เป็นกรอบในการเจรจาเรื่องพื้นที่ทางทะเล และพื้นที่พัฒนาร่วม เนื่องจากทั้งไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกัน สองประเทศเลือกวิธีเจรจาทางการทูต จึงเป็นที่มาของ เอ็มโอยู 44 นอกจากนั้น มีการระบุชัดเจนว่าเนื้อหาของเอ็มโอยู 44 และการเจรจาจะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของทั้งไทยและกัมพูชา อีกทั้งการเจรจานั้นจะต้องกระทำโดยคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (เจทีซี)คนอื่นไปเจรจาไม่ได้ แม้แต่ตัวนายกฯ นอกจากนั้น รัฐบาลก่อนนายเศรษฐา ทวีสิน ก็เคยใช้การเจรจา ตามกรอบของเอ็มโอยู 44 มาก่อน

นายนพดล กล่าวอีกว่า ไม่อยากให้นำเรื่องดินแดนมาบิดเบือนใส่ร้าย อย่างเช่นที่ตนเคยถูกกระทำในอดีต ซึ่งในเรื่องนี้ตนถูกฟ้องแต่ศาลฎีกาก็ได้พิพากษายกฟ้อง ในคำพิพากษาก็ได้ระบุว่าสิ่งที่ทำถูกต้องและประเทศจะได้ประโยชน์ ซึ่งถ้าไม่จุดกระแสคลั่งชาติ เพื่อหวังผลการเมืองในขณะนั้น ไทยจะรักษาได้ทั้งดินแดนและความสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชา แต่เสียดายที่การจุดกระแสด้วยความเท็จ ทำให้มีการปะทะตามแนวชายแดน มีทหารเสียชีวิต และทำให้ในปี 2554 กัมพูชากลับไปศาลโลกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อยื่นตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 2505 จนมีคำตัดสินตีความคดีปราสาทพระวิหารเดิมออกมาในปี 2556 ซึ่งในคำพิพากษาก็ระบุชัดเจนว่ากัมพูชา ไม่ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก รวมพื้นที่ซับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรตามที่ตนปกป้องไว้

“คนไทยไม่ว่าเสื้อสีอะไรรักชาติเท่ากัน อย่านำประเด็นเรื่องดินแดนมาทำ เป็นประเด็นการเมืองเพื่อหวังบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลเลย ถ้ารักชาติจริงต้องเอาความจริงและข้อกฎหมายมาพูดกัน นอกจากนั้นการเจรจาตามกรอบเอ็มโอยู 44 จะต้องกระทำโดยคณะกรรมการ เจทีซี ซึ่งที่ผ่านมาประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพลังงาน กองทัพ กระทรวงต่างประเทศ เป็นต้น โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่จากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ซึ่งรักชาติและมืออาชีพ เป็นไปได้อย่างไรที่บุคคลเหล่านี้จะทำให้ไทยเสียดินแดน” นายนพดล กล่าวและว่าหากยังมีการปั่นกระแสโจมตี ระบุชัดเจนว่า พรรคพท.ทำให้ประเทศไทยเสียเกาะกูด คิดว่าคงต้องมีการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายต่อไป

ต้องยอมรับเรื่องการเจรจาแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แม้จะมีกรอบเอ็มโอยู 44 กำหนดอยู่ โดยมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพลังงาน กองทัพ กระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่จากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย แต่หลายก็ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า จะไทยให้เสียเปรียบและเสียดินแดนหรือไม่ ยิ่งย้อนไปดูความสัมพันธ์ระหว่าง “นายทักษิณ ชินวัตร “ผู้มากบารมีในพรรคพท. และ “สมเด็จฮุนเซ็น” อดีตผู้นำกัมพูชา ยิ่งทำให้หลายคนหวาดระแวง

อีกทั้งเมื่อไมกี่วันที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร. ) อดีตแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ได้เรียงหน้าออกมาแถลง โดยมี นายชัยมงคล ไชยรบ สส.สกลนคร พร้อมด้วย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานด้านวิชาการของพรรค และหม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรค (กก.บห. )

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคได้เล่าให้ผมฟังว่า สมัยที่เป็นรองนายกฯ และเป็นประธานคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทย ในการเจรจากับกัมพูชา ซึ่งเจรจาไปได้ไม่นาน กัมพูชาก็พูดถึงเกาะกูดทุกครั้ง พล.อ.ประวิตรจึงสั่งให้เลื่อนการเจรจาออกไป ทำให้การเจรจาไม่บรรลุผลสำเร็จ แต่เป็นที่ชัดเจนว่า เกาะกูดอยู่ในใจของกัมพูชาอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นเราต้องฝากความหวังไว้ที่พล.อ.ประวิตร เพื่อจะช่วยรักษาดินแดนของไทยเอาไว้ “นายธีรชัย กล่าวในระหว่างการแถลงข่าว

จากนี้ไปจะต้องตาดู กระบวนการเจรจาจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ แม้จะมีกรอบเอ็มโอยู 44 เป็นกรอบในการดำเนินการ แต่ก็ยังมีความเห็นแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกเห็นว่าเสียเปรียบเรื่องเขตแดน ส่วนอีกฝ่านมองว่า เป็นเกราะป้องกันไม่ให้มีการนำทรัพยากรในทะเลมาใช้ได้อย่างง่าย แต่สำคัญที่สุดคือความโปร่งใส ซึ่งรัฐบาลต้องชี้แจงขั้นตอนต่างๆ และแนวทางการเจรจา เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ไม่ให้มีวาระซ่อนเร้นใดใดทั้งสิ้น

ส่วนความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ( รธน.) ทางแกนนำพรรคฝ่ายค้านก็ยังไม่หยุดในความพยายาม อย่าง “ประชาชน(ปชน.) โดย “ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ “ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองฯออกหนังสือขอเข้าพบ นายกฯ ประธานรัฐสภา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ(รธน.) หวังร่วมหาทางออกให้ประเทศมีรธน.ฉบับใหม่ก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป โดยระบุว่า ณ เวลานี้ เกือบเป็นที่แน่นอนแล้ว ว่าหากรัฐบาลเดินตาม “แผนเดิม” เราจะไม่มีรธน.ฉบับใหม่ (ที่ถูกจัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ) บังคับใช้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป ตามนโยบายที่รัฐบาลเคยได้ประกาศไว้ ปัจจุบัน การพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติยังไม่ได้ข้อสรุป จนทำให้ประชามติรอบแรก ยากที่จะเกิดขึ้นทัน ช่วงเดียวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นใน ก.พ. 2568 (ซึ่งเป็นแผนเดิมของรัฐบาล) ดังนั้น หากรัฐบาลยังต้องการบรรลุเป้าหมาย ในการมีรธน.ฉบับใหม่บังคับใช้ก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลจำเป็นต้องคิด “แผนใหม่” โดยทางเดียวที่เป็นไปได้ คือการลดจำนวนประชามติจาก 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า 1. นายกฯในฐานะหัวหน้ารัฐบาล หวังว่าจะหารือกับทุกพรรคการเมืองในรัฐบาล ให้เห็นตรงกัน ถึงความจำเป็นในการเดินหน้าด้วยแผนการทำประชามติ 2 ครั้ง รวมถึงร่วมกันหาวิธีการในการหารือกับสมาชิกวุฒิสภา(สว. )ให้เห็นไปในทิศทางเดียวกัน 2.หวังจะหารือให้ประธานรัฐสภา เห็นว่าการทบทวนหันมาบรรจุร่างแก้ไขรธน. เรื่องตั้งสภาร่างรธน. ( สสร. ) ของพรรคพท.และพรรคก้าวไกล (ก.ก. ) เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา ซึ่งจะลดจำนวนประชามติจาก 3 เหลือ 2 ครั้ง สอดคล้องกับกฎหมาย และคำวินิจฉัยศาลรธน. 3.หวังหารือประธานศาลรธน. ให้ขยายความหมายของคำวินิจฉัยศาลรธน. 4/2564 เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ขั้นตอนในการจัดทำรธน.ฉบับใหม่ ต้องระชามติจำนวนกี่ครั้ง หวังว่าทั้ง 3 ท่านจะยินดีให้ กมธ. พัฒนาการเมืองฯ เข้าพบ หรือตัวแทน ที่ให้ความเห็นแทนได้ เพื่อร่วมหารือถึงทางออกในการจัดทำรธน.ฉบับใหม่ให้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้กับประชาชน และต้องอาศัยหลายภาคส่วนในการจับมือกันเดินหน้าไปด้วยกัน

ขณะที่”นายดนุพร ปุณณกันต์” โฆษกพรรคพท. กล่าวกรณีที่นายนิกร จำนง ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ระบุว่าการแก้ไขรธน.จะไม่ทันในการเลือกตั้งปี 70 เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกมธ. ร่วมว่า ยอมรับว่าอาจจะกระทบกับรัฐบาลซึ่งก็ต้องมีการหารือร่วมกัน อย่างไรก็ตาม จะได้หารือกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ฐานะรองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง ว่าเรื่องดังกล่าวจะส่งผลกระทบไปถึงกับการแก้ไขรธน. ที่จะเสร็จไม่ทันในการเลือกตั้งปี 70 หรือไม่ 

“แม้ว่าการทำประชามติจะไม่ทัน ถามว่า เราจะสามารถเร่งในส่วนอื่นที่ทำให้การแก้ไขรธน.เสร็จ สามารถใช้ได้ทันการเลือกตั้งปี 70 ตรงนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่จะต้องหารือกับนายชูศักดิ์ ว่ามีขั้นตอนใดที่เราจะสามารถเร่งเพื่อให้กระชับขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งหากไม่สามารถแก้ไขรธน.ได้ทันจริง ก็ต้องใช้กติกาเดิม ซึ่งก็ต้องเหนื่อยกันหน่อย เพราะมีหลายอย่างที่เรามองว่า เป็นจุดที่ควรจะแก้ไข ซึ่งก็อาจจะต้องหารือกันว่าจะแก้รายมาตราได้หรือไม่ เช่น กฎหมายลูกของ กกต.ที่ใช้เลือกตั้ง” โฆษกพรรพท. กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคปชน. ฐานะประธานคณะกมธ. การพัฒนาการเมืองฯทำหนังสือขอเข้าพบกับนายกฯ ประธานสภาฯ และประธานศาลรธน.เพื่อร่วมหารือถึงทางออกและแผนใหม่ในการจัดทำรธน.ฉบับใหม่ให้ทันก่อนการเลือกตั้ง นายดนุพร กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะนโยบายของพรรคปชน. คืออยากแก้ไขรธน. ซึ่งนโยบายของรัฐบาลและพรรคพท.ก็ระบุไว้ตั้งแต่หาเสียงแล้วว่าอยากแก้ไขรธน. แต่รธน.ฉบับปัจจุบันแก้ยากมาก ติดล็อคไปหมด ดังนั้นถือเป็นเรื่องที่ดีซึ่งทุกฝ่ายควรให้ความร่วมมือ และถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะทางรัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่าควรจะแก้ไข ดังนั้นก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ต้องรอดูความเคลื่อนไหวของพรรคปชน. จะมีผลทำให้กระบวนการแก้ไขรธน.เกิดขึ้นได้หรือไม่ แม้จะหารือกับ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ แต่อย่าลืมว่า ปัจจัยสำคัญอยู่ที่พรรคร่วมรัฐบาล และส.ว. ซึ่งล่าสุด แม้กระทั่งตำแหน่งประธานกมธ.ร่วม พิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขออกเสียงประชามติ ยังตกเป็นของสว. สะท้อนให้เห็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล หรือจะเป็นอย่างที่หลายคนบอกว่า กระบวนการทางการเมืองในสถานการณ์ปกติ ยากกับการผลักดันให้การแก้รธน.เกิดขึ้นได้

“ทีมข่าวการเมือง”