ทั้งนี้ เกี่ยวกับดราม่าร้อนเวทีขาอ่อนระดับอินเตอร์นั้นก็ว่ากันไป อย่างไรก็ดี เมื่อมีกระแสปุจฉาเกี่ยวกับ“ภาวะทางจิต”ที่หลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับอาการ “หลงผิด”กับเรื่องนี้ในภาพรวม ๆ ไม่ใช่การเฉพาะเจาะจงใครหรือกรณีใด ก็นับว่า “เป็นเรื่องเชิงสุขภาพที่น่ารู้” และก็ “น่าสนใจ” ไม่น้อย…

น่าสนใจ…“หลงผิด” กับ “มุมจิต”

อาการนี้ในทางจิตก็ “ถือเป็นโรค”

โดยจัดเป็นโรคจิตเภทชนิดหนึ่ง!!”

เกี่ยวกับภาวะอาการ “หลงผิด…ในทางจิตเวช” นี่วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะพลิกแฟ้มสะท้อนต่อข้อมูลชวนพินิจพิจารณากัน โดยขอเน้นย้ำว่านี่ไม่ได้ถึงกรณีดราม่าอื้ออึงกรณีใดทั้งสิ้น หากแต่เป็นเรื่องในทางวิชาการแพทย์ด้านจิต ที่มีกลุ่มอาการ “ป่วยจิตหลงผิด”มีข้อมูลในทางวิชาการแพทย์ระบุไว้ว่า… อาการนี้เป็นโรคจิตเภทชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า “โรคจิตหลงผิด (Delusion Disorder)” ซึ่งเป็นความผิดปกติของระบบความคิด ผู้ที่ป่วยจะมีความเชื่อผิด ๆ ที่ไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมรองรับ โดยทาง รศ.พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เคยให้ความรู้เรื่องนี้ไว้ผ่านเว็บไซต์รามาชาแนล www.rama.mahidol.ac.th ว่า… ผู้ที่ป่วยด้วย โรคจิตหลงผิด นั้น มักจะ มีความเชื่อหรือความคิดที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง หรืออาจเรียกว่า อาการหลงผิด (delusion)

ผู้ที่เข้าข่ายป่วยด้วยอาการนี้จะมีความผิดปกติทางความคิด โดยจะมีอาการหลงผิดที่มักเชื่อมโยงความคิดในความเชื่อที่ผิดจากความเป็นจริง ซึ่งมักจะมีอาการนี้มาเป็นเวลามากกว่า 1 เดือน” …เป็นข้อมูลคำอธิบายในชั้นต้น

ป่วยจิตหลงผิดนี้“ไม่ใช่ประสาทหลอน” ซึ่งสำหรับ“ความแตกต่าง” ระหว่างอาการ “ประสาทหลอน” กับ “โรคจิตหลงผิด” นั้น กรณีนี้ทาง รศ.พญ.ดาวชมพู ก็ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า… อาการ “ประสาทหลอน” จะเป็นเรื่อง “ความผิดปกติของระบบประสาทสัมผัส” ที่ไม่ได้มีสิ่งกระตุ้นจากภายนอก เช่น หูแว่วเอง ได้ยินเสียงคนพูดคุยทั้งที่รอบ ๆ ไม่มีใครพูด

ส่วน อาการ “หลงผิด” เป็นเรื่อง “ความผิดปกติในเนื้อหาของระบบความคิด” ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคจิตหลงผิด เช่น ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ อย่างการปรับตัวไม่ได้ในสังคมใหม่…โดยมักพบในกลุ่มที่อพยพย้ายถิ่นฐาน ซึ่งผู้ที่มีการปรับตัวที่ผิดปกติ และเป็นโรคจิตหลงผิด มักจะพบได้ในผู้ที่มีความเครียดสะสมสูง …นี่จะต่างจากประสาทหลอน

นี่เป็น “ความเชื่อที่ผิดจากความจริง”

ผู้ชำนาญการท่านเดิมให้ข้อมูลความรู้ไว้อีกว่า… บุคลิกโดยทั่วไปของผู้ป่วยโรคจิตหลงผิดภายนอกมักดูปกติธรรมดา มักจะไม่แสดงพฤติกรรมประหลาดหรือพูดจาสับสนเหมือนประสาทหลอน แต่ จะแสดงอาการเมื่อเกิดสิ่งกระตุ้นบางอย่าง ซึ่งความน่ากลัวคือผู้ป่วยโรคหลงผิดส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวว่าป่วยโรคนี้ ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที เมื่อนานวันอาการก็ยิ่งรุนแรง บางคนอาจมีบุคลิกเปลี่ยนไป เช่น กลายเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว หรืออาจกลายเป็นคนที่ มีอารมณ์โกรธรุนแรง!!

ทั้งนี้ ลักษณะ “โรคจิตหลงผิด” นี้แบ่งหลัก ๆ เป็น 5 ประเภท คือ… หลงผิดว่าคู่ครองนอกใจ (Jealous Type) หรือ หลงผิดว่ามีคนอื่นหลงรักตัวเอง (Erotomanic Type) หรือ หลงผิดว่าถูกกลั่นแกล้ง ถูกสะกดรอย ถูกหมายเอาชีวิต (Persecutory Type) และ หลงผิดว่ามีความสามารถเหนือกว่าผู้อื่น (Grandiose Type) นี่ก็มีหรือ หลงผิดเกี่ยวกับร่างกายของตนเอง (Somatic Type) แบบนี้ก็มีเช่นกัน …ซึ่งไม่ว่าจะแบบใด…ถ้า“มีอารมณ์รุนแรง”ก็จะ “ต้องระวัง!!”

ผู้ชำนาญการ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ไว้ด้วยว่า… สาเหตุอาการ “หลงผิด” มีหลายอย่าง อาทิ พันธุกรรม พบได้บ่อยในผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้, ชีวภาพ เกิดจากสมองการรับรู้และความคิดทำงานผิดปกติ หรือเกิดจากสารชีวเคมีในสมองที่ไม่สมดุล,จิตใจ จากการเลี้ยงดูที่ไม่ได้รับความอบอุ่น จนไม่มีความเชื่อใจคนอื่น จะไวต่อท่าทีที่ผู้อื่นแสดงออกมา, สังคม จากการต้องใช้ชีวิตในสังคมที่แข่งขันสูง มีการเอารัดเอาเปรียบมาก จนเกิดความรู้สึกว่าตนเองถูกคุกคาม หรือรู้สึกว่าชีวิตไม่ปลอดภัยตลอดเวลา เป็นต้น

สำหรับ “ผลกระทบจากโรคหลงผิด” นั้น…ผู้ป่วยเป็นโรคนี้ มักเกิดปัญหาด้านการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เช่น หวาดระแวงตลอดเวลาว่าตนเองถูกกลั่นแกล้ง หรือคิดไปว่าถูกสะกดรอย ทำให้แยกตัวออกจากสังคม ซึ่งเมื่อมีอาการต่อเนื่องรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะกระทบการทำงานและคุณภาพชีวิต ทำให้เกิดปัญหากับตนเอง คนใกล้ชิด ครอบครัว คนรอบตัว ดังนั้น หากสงสัยว่ามีแนวโน้มจะป่วยโรคหลงผิดก็ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุและรับการรักษา

“การรับประทานยาสม่ำเสมอ บำบัดอย่างต่อเนื่อง เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยเปิดใจพูดถึงสิ่งที่รบกวนจิตใจ จะช่วยให้ดีขึ้น ขณะที่คนใกล้ชิดก็ต้องเข้าใจและรับฟังสิ่งที่ผู้ป่วยคิดโดยไม่โต้แย้ง แต่ต้องไม่ใช่การสนับสนุนความหลงผิดของผู้ป่วย” …เป็นอีกส่วนจากที่ รศ.พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร ให้ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ www.rama.mahidol.ac.th ไว้…กรณี “โรคหลงผิด”

หลงตัวเอง” โดยไม่ได้ป่วยก็ว่าไป

แต่ถ้า “หลงผิดจิตป่วย” นี่ “น่าห่วง”

ผลพวง “อาจร้ายแรงกว่าดราม่า!!”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์