การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)   กำลังเจรจาต่อรองราคา”กิจการร่วมค้า ช.ทวี เอเอส ก่อสร้าง” ผู้เสนอราคาต่ำสุดในโครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย รถไฟทางคู่เส้นแรกในจำนวน 7 เส้นทางของโครงการรถไฟทางคู่ ระยะ(เฟส) ที่ 2  เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. พิจารณาเห็นชอบต่อไป  ปักธงลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูลไม่เกินเดือน ธ.ค. 2567  ให้เริ่มก่อสร้างทันที วางแผนเปิดบริการประมาณปี 2570 

รฟท.กำหนดยื่นเอกสารเสนอราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์(e-bidding)  เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2567 ราคากลาง 28,719,940,000 บาท  มี 4 บริษัทผู้รับเหมาเข้ายื่นข้อเสนอประกอบด้วย 1. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ 4. กิจการร่วมค้า ช.ทวี – เอเอส ก่อสร้าง 

ใจความสำคัญที่ทำให้รถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย   ถูกจัดไว้เป็นอันดับที่ 1 ของโครงการรถไฟทางคู่เฟส2 (ทั้งหมด 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,479 กม.วงเงิน 275,301 ล้านบาท)  ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี( ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566  เพื่อเชื่อมโครงการรถไฟทางคู่เฟสแรกช่วงชุมทางจิระ-ขอนแก่น  ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและมีแผนเปิดบริการบางส่วนปลายปี 2567 (โครงการรถไฟทางคู่เฟสแรกมี 7 เส้นทาง รวม 993 กม. วงเงินรวม 1.2 แสนล้านบาท) 

ตลอดเส้นทางยาว 169 กม.ต่อจากรถไฟทางคู่จิระ-ขอนแก่น  (เฟส1) จุดเริ่มต้นโครงการกม.454+000 ที่สถานีขอนแก่น และสิ้นสุดกม.623+000 ที่สถานีหนองคาย  ก่อสร้างทางรถไฟใหม่ขนาดทาง 1.00 เมตร เพิ่มขึ้น 1 ทาง ขนานเส้นทางรถไฟเดิม ส่วนใหญ่เป็นทางระดับดิน ระยะทาง 159.5 กม. เป็นทางยกระดับ 2 แห่ง  ระยะทาง 9.5 กม. มี 15 สถานี 2 ที่หยุดรถ เป็นชานชาลาสูงทั้งหมด  

ก่อสร้างย่านกองเก็บตู้สินค้า(CY) 3 แห่ง ที่สถานีโนนสะอาด พื้นที่ขนาด 10,500 ตารางเมตร(ตร.ม.), สถานีหนองตะไก้ 21,750 ตร.ม. และสถานีนาทา 19,000 ตร.ม.    พร้อมก่อสร้างโรงซ่อมบำรุงเบาที่สถานีหนองคาย และยกเลิกจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับทุกแห่ง  ก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 31 แห่ง ถนนลอดใต้ทางรถไฟ 53 แห่ง และก่อสร้างรั้วตลอดแนวเส้นทางรถไฟ

โครงการมีแนวเส้นทางเชื่อม 3 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น, อุดรธานี และหนองคาย มีสถานีและที่หยุดรถ ประกอบด้วย สถานีขอนแก่น, สถานีสำราญ, สถานีโนนพยอม, ที่หยุดรถบ้านวังชัย, สถานีน้ำพอง, สถานีห้วยเสียว, สถานีเขาสวนกวาง, สถานีโนนสะอาด, สถานีห้วยเกิ้ง, สถานีกุมภวาปี, สถานีห้วยสามพาด, สถานีหนองตะไก้, ที่หยุดรถคำกลิ้ง, สถานีหนองขอนกว้าง, สถานีอุดรธานี, สถานีนาพู่, สถานีนาทา และสถานีหนองคาย

โครงการจะเวนคืนที่ดินรวมประมาณ 184 ไร่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 369 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน หรือ 3 ปี  ในปีแรกของการเปิดบริการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร  3,300 คนต่อวัน และเพิ่มขึ้นเป็น 5,500 คนต่อวันในปีที่ 30 ขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้า 3.30 ล้านตันในปีแรก และเพิ่มขึ้นเป็น 4.20 ล้านตันในปีที่ 30

เติมเต็มระบบรถไฟทางคู่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน)ตอนบน เพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบรางทั้งการขนส่งสินค้าและโดยสาร ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ลดระยะเวลาเดินทางได้ 11.50 ชม. ไม่ต้องรอสับหลีกราง  ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง ลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม  ช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางเสมอระดับรถไฟ-รถยนต์ สนับสนุนการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางรางระหว่างประเทศไทย, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และประเทศจีน

สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงคมนาคม ที่ให้ รฟท. เร่งรัดก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟสายใหม่ทั่วประเทศให้แล้วเสร็จ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง ให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ อำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชน เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าได้ทุกภูมิภาค เป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศ

ส่วนอีก 6 เส้นทางของโครงการทางคู่เฟส 2 บอร์ดรฟท. เห็นชอบแล้วทั้งหมด  นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม ประกาศเดินหน้าทั้งหมด โดยจะทยอยนำเสนอครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบภายในปี 2567-2568  ประกอบด้วย 1.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 281 กม. วงเงิน 81,143 ล้านบาท 2.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. 44,103 ล้านบาท 

3.ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. 7,900 ล้านบาท  4.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. 30,422 ล้านบาท 5.ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม.  66,270 ล้านบาท และ 6.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 68,222 ล้านบาท    

รถไฟทางคู่เฟส1-2 รวม 14 เส้นทางทั่วประเทศ 2,472  กม. ในเฟส1 ทยอยใช้งานแล้ว อาทิ  ทางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทางรวม 421 กม.เปิดบริการแล้วตลอดเส้นทาง  สายเหนือช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. มีแผนเปิดบริการปลายปีนี้พร้อมสายอีสานบางช่วง ขณะที่โครงการเฟส2แม้จะล่าช้าจากแผนเดิมหลายปี แต่เร็วๆนี้เส้นทาง”ขอนแก่น-หนองคาย”  จะได้เริ่มต้นงานก่อสร้าง  ให้อีก 6 เส้นทางมาต่อยอดทอดยาวทั้งสายอีสาน สายเหนือ สายใต้และเชื่อมเส้นทางระหว่างประเทศ 

แต่…โครงการจัดหารถโดยสารดีเซลรางปรับอากาศ 184 คัน.. ยังเงียบกริบ!  ขาดแคลนขบวนรถโดยสารต่อไป

……………………………………..
นายสปีด

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาและภาพในบทความนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่…