เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 ต.ค. 67 ที่ห้องแกรนด์บอลรูม  โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ “เดลินิวส์” ได้จัดงานเสวนา “เดลินิวส์ ทอล์ก 2024” ในหัวข้อ “Soft Power : โอกาสประเทศไทย” โดยได้รับเกียรติจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานเปิดงาน  มี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ร่วมปาฐกถา ในหัวข้อ “ซอฟต์พาวเวอร์…พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย”

นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “Soft Power : โอกาสประเทศไทย” โดย น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) นางศุภลักษณ์ อัมพุช  ประธานกรรมการบริหาร เดอะมอลล์ กรุ๊ป นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด นางอรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้จัดละครและกรรมการ บริษัท บรอดคาซท์ไทย เทเลวิชั่น จำกัด และนายชุมพล แจ้งไพร ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ที่มาร่วมกันถ่ายทอดมุมมองเพื่อสานฝันให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทย เป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางจนเติบโตอย่างมีศักยภาพและยั่งยืน

โดยในช่วงเวทีเสวนาในหัวข้อ “Soft Power : โอกาสประเทศไทย” ทาง นางอรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้จัดละครและกรรมการ บริษัท บรอดคาซท์ไทย เทเลวิชั่น จำกัด กล่าวว่า  ในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์นั้น  เรื่องวัฒนธรรมไทยที่มีความงดงาม  ซึ่งรู้สึกดีใจที่ทุกฝ่ายมาผนึกร่วมมือกัน และรัฐบาลสร้างนโยบายสนับสนุนขึ้นมา โดยซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ไม่ได้อยู่ที่วัฒนธรรม และชุดไทยอย่างเดียว  อย่างเช่น กระแสของ ลิซ่า ที่หยิบจับอะไร ก็ขายดีขึ้นมา  สิ่งเหล่านี้ยังเกิดขึ้นได้อีก ทั้งเรื่องอาหาร สามารถสื่อผ่านวัฒนธรรมที่สามารถสอดแทรกในสื่อละคร ภาพยนตร์ เช่น เรื่องหลานม่า ที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ  และภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องสามารถทำรายได้เป็นร้อยล้านในต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องคุณค่าความเป็นไทย รอยยิ้ม การมีน้ำใจ ที่ชาวต่างชาติที่มาเที่ยวไทย ชมคนไทยน่ารัก  สามารถนำสิ่งเหล่านี้ใส่ในสื่อต่างๆ ที่ไปได้ไกล อยู่ได้นาน เช่น ยูทูบ  มีคนแชร์คอนเทนต์ไปมากมาย  จึงต้องทำคอนเทนต์ที่ถูกต้อง และเหมาะสม อย่างเช่น เกาหลี มาถ่ายภาพยนตร์ที่วัดอรุณฯ  ถ่ายทอดความงดงามของไทย ที่ได้รับการยอมรับ ทำให้ต่างชาติมีส่วนช่วยร่วมโปรโมตประเทศไทยให้ด้วย  เราสามารถสร้างความประทับใจให้พวกเขาได้ นอกจากนี้ในเรื่องของอาหารไทย สามารถนำไปใส่ในละครได้ เช่น ต้มยำกุ้ง น้ำปลาหวาน เรื่องกีฬา เรื่องแม่ไม้มวยไทย เป็นต้น ซึ่งตนก็ได้นำไปใส่ในละครแล้ว ถ้าคนทำสื่อเข้าใจ และมีข้อมูลที่ลึกและถูกต้อง สามารถนำมาทำเป็นคอนเทนต์ทำให้มีคนแชร์ไปทั่วโลกได้

นางอรุโณชา กล่าวต่อว่า เรื่องภาพยนตร์ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ คอนเทนต์ ทำอย่างไรดึงดูดและน่าสนใจ อย่างเช่นเรื่องบุพเพสันนิวาส ได้สตอรี่ที่ดี นักอ่านนิยม มีการโหวต อยากได้นิยายเรื่องนี้ทำละครอันดับ 1  และเรื่องในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ยังไม่มีใครเคยเอามาทำละครมาก่อน เป็นยุคที่ต่างชาติเข้ามาทำการค้าในไทยกว่า 40 ประเทศ และเป็นเหตุการณ์ที่มีการบันทึกไว้ในสมัยอยุธยา เช่น การทักทาย คือ ออเจ้า  นอกจากนี้ แนวละครที่เป็นคอมเมดี้ อิงประวัติศาสตร์  ซึ่งการทำคอนเทนต์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ข้อมูลต้องลึก และผิดไม่ได้  ผู้ประพันธ์หาข้อมูลมาเขียนกว่า  2 ปี  และต้องนำมาเขียนเป็นบทละคร โดย อ.ศัลยา ที่ต้องหาข้อมูลกว่า  2 ปี นำมาเขียนบท  และเรื่องความถูกต้อง ต้องมีที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์ เพื่อถามเชิงลึกว่าถูกต้องหรือไม่ และต้องมีผู้กำกับที่มีคุณภาพ และนักแสดงที่มีความสามารถ เช่น โป๊ป และ เบลล่า ที่มีฝีมือ  มีเคมีที่เข้ากัน ออกอากาศสัปดาห์แรกแล้ว มีคนดูซ้ำถึง 20 ครั้ง

นางอรุโณชา กล่าวต่อว่า ในเชิงกระแส หลังออกอากาศในปี 61 ซึ่งออกในวันแรก ทวิตเตอร์ มีการทวีต 13 ล้านข้อความ เอ็นเกจเมนต์ กว่า 8.2 พันล้าน  มีการแชร์ข้อมูลต่างๆ ทำให้การเข้าถึงสูงมาก  มีการนำไปต่อยอดเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เรื่อง เสื้อผ้า อาหาร สถานที่ต่างๆ  เช่น วัดต่างๆ ในอยุธยา คนได้เข้าไปเที่ยว ทำรถติด กุ้งเผาขายดี  นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว แต่งตัวชุดไทยถ่ายรูป สร้างกระแสต่อเนื่องไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

“ละครเรื่องหนึ่งต้องมีเรื่องคุณภาพ มีสื่อที่เหมาะสม มีพรีเซ็นเตอร์ที่ใช่ อย่างเช่น บุพเพสันนิวาส สามารถทำให้ตัวละครมีชีวิต คนสนใจมากขึ้นได้ คนดูประวัติศาสตร์ได้สนุก และประทับใจ  ถ้ามีเรื่องที่เหมาะสมและดี ขณะที่เรื่องซีรีส์วายไทยก็เป็นอันดับ 1 ที่ได้รับการยอมรับ สร้างมูลค่าเงินตราเข้าประเทศ  ขายได้ในหลายๆ ประเทศ สามารถต่อยอด จัดแฟนมีตได้  ซึ่งเรื่องพรีเซ็นเตอร์ เราสามารถสร้างบุคลากรให้เกิด ลิซ่า 2 ได้ ที่หยิบจับอะไรก็ขายได้ไปหมด  หากได้พรีเซ็นเตอร์ที่ดี ภาพยนตร์และซีรีส์ไทยก็สามารถสร้างมูลค่าเข้าประเทศได้”