ท่ามกลางความขัดแย้งที่มีมาตลอดระหว่างรัฐบาลและ ธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มตั้งแต่การเข้ามาของรัฐบาลยุค “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มักจะมีแนวความคิดและปัญหาไม่ลงรอยกันกับ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ คนปัจจุบัน ถึงกับมีกระแสข่าวว่า อยากปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติ เพราะไม่สนองนโยบายของรัฐบาล และเกิดคำถามถึงความเป็นอิสระมากเกินไปของแบงก์ชาติ

ย้อนรอยขัดแย้ง

ปัญหาความขัดแย้งเริ่มต้นมาจากการทำนโยบายของรัฐบาลที่ถือเป็นเรือธงอย่างแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ในขณะนั้นเป็นรูปแบบเงินดิจิทัลที่ต้องใช้เงินงบประมาณมากมายมหาศาลถึง 5 แสนล้านบาท ซึ่งจุดยืนของแบงก์ชาติในเวลานั้น แสดงถึงความกังวลและไม่มีความจำเป็นในการแจกเงินดิจิทัล เพียงแต่ให้ความเห็นควรแจกหรือช่วยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง คนรายได้น้อย แม้ในเวลาต่อมาล่าสุด รัฐบาลในยุค “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ได้เริ่มแจกเงินสดให้กับประชาชนในกลุ่มเปราะบางตามคำแนะนำของแบงก์ชาติไปแล้ว

เช่นเดียวกับการแจกเงินช่วยเหลือชาวนา ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท โดยแบงก์ชาติ ไม่เห็นด้วยชัดเจน เพราะกลัวว่าชาวนาจะรอรับความช่วยเหลือทุกปี หรือเกิดปัญหามอรัลฮัดซาร์ด หรือพฤติกรรมจงใจที่ผิด ๆ แม้แต่ นายกฯ แพทองธาร ได้เคยตั้งคำถาม? พูดถึงความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ ว่ามีความอิสระเกินไปหรือไม่? การทำงานมีการสอดประสานระหว่างกัน ระหว่างนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังหรือไม่?

จนถึงเรื่องดอกเบี้ย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่ว่าจะยุคอดีตนายกฯ เศรษฐา หรือนายกฯ แพทองธาร รวมถึงคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจส่วนใหญ่ ต้องการให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 2.50% และล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา มติ 5 ต่อ 2 เสียง ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เหลือ 2.25% โดยให้มีผลทันที โดยให้เหตุผลว่า เพื่อบรรเทาภาระหนี้ของคนไทย

แม้จะเกิดคำถามว่า ที่ผ่านมาแบงก์ชาติเลือกคงดอกเบี้ยนโยบายมาโดยตลอด และย้ำว่าการลดดอกเบี้ยไม่ได้มีส่วนช่วยเหลือหรือลดภาระหนี้คนไทยมากเท่าไร แต่ในครั้งนี้คณะกรรมการ กนง.กลับมีเสียงส่วนใหญ่เลือกลดดอกเบี้ยเพื่อเป็นการบรรเทาหนี้ให้กับคนไทยตาดำ ๆ บวกกับเหตุผลการชะลอลงของสินเชื่อ หรือภาวะการเงินที่ กนง.ติดตามมาตลอด

อย่างไรก็ตาม…การลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 2.25% หรือลดลง 0.25% ในครั้งนี้ ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า แบงก์ชาติ กับรัฐบาล มีข้อต่อรองเรื่องใหญ่อะไรกันหรือไม่? ซึ่งทำให้แบงก์ชาติยอมลดดอกเบี้ยตามคำร้องขอรัฐบาลที่มีมาโดยตลอด และยังเป็นช่วงท่ามกลางกระแสข่าวการเลือกบุคคลที่จะเข้ามานั่งประธานคณะกรรมการแบงก์ชาติ แทน ปรเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระไปเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา จึงถูกมองว่าการเมืองเข้ามาแทรกแซงอีกหรือไม่

เลือกประธานธปท.

ล่าสุด…เป็นที่น่าจับตาเพราะมีชื่อตัวเต็งจากคนการ เมือง!!! บุคคลที่การเมืองจะส่งเข้ามาให้คุมแบงก์ชาติ ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ซึ่งเป็นผู้วิจารณ์การทำงานของแบงก์ชาติมาโดยตลอดเช่นกัน ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากหลายทิศหลายทาง จนการประชุมเพื่อคัดเลือกผู้ยื่นสมัครนั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติเมื่อวันที่ 8 ต.ค. จำเป็นต้องเลื่อนออกไป และยังไม่มีข้อสรุป โดยให้เหตุผลว่าขอขยายเวลาเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกมีความรอบคอบที่สุด

ทั้งนี้ ต้องจับตาในวันที่ 4 พ.ย.นี้ ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการสรรหา นำโดย “สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์” อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานสรรหาเพื่อคัดเลือกบุคคลมานั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ โดยแคนดิเดตมี 3 ราย เป็นผู้ถูกเสนอชื่อจากแบงก์ชาติ 2 ราย และกระทรวงการคลัง 1 ราย ได้แก่ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เสนอโดยกระทรวงการคลัง , แบงก์ชาติเสนอ “กุลิศ สมบัติศิริ” อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และ “สุรพล นิติไกรพจน์” ศาสตราจารย์ประจำสาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประวัติแคนดิเดต

สำหรับประวัติและประสบการณ์การทำงาน “กิตติรัตน์” โดยปัจจุบัน มีอายุ 66 ปี เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในยุครัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (สมัยเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ) เคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร เคยเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และยังเคยเป็นกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ส่วน “กุลิศ” อายุ 61 ปี เคยนั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ข้ามห้วยมาจากกระทรวงการคลัง เคยเป็นอธิบดีกรมศุลกากร เคยเป็นผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งถือว่า “กุลิศ” เป็นลูกหม้อกระทรวงการคลังคนหนึ่งที่มีความรู้ด้านการเงิน การคลัง อยู่เป็นทุนเดิม 

ขณะที่ “สุรพล” มีอายุ 64 ปี มาจากสายวิชาการ เคยนั่งเก้าอี้นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น ซึ่งเรียกได้ว่า อาจารย์สุรพล คนนี้ต่างอัดแน่นไปด้วยความเป็นนักกฎหมายแบบครบสมบูรณ์กันทีเดียว

จับตา 3 ตัวเต็ง

จาก 3 รายชื่อที่ถูกเสนอมา ใคร ๆ ก็รู้ว่าตัวเต็ง แคนดิเดตอันดับหนึ่ง คงจะหนีไม่พ้น “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” แต่ทว่ามีกระแสต่อต้านและข้อครหาค่อนข้างมาก เพราะมาจากสายการเมืองโดยตรง ทำให้ยังเป็นข้อกังขาเกี่ยวกับคุณสมบัติบุคคลที่จะเข้ามาคุมแบงก์ชาติ โดยเฉพาะคุณสมบัติเกี่ยวกับการเมือง ระบุว่า ต้องไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษา เช่น หากเคยต้องโทษพิพากษาให้จำคุกก็จะถือว่าขาดคุณสมบัติ ซึ่ง “กิตติรัตน์” เคยเป็นสมาชิก กรรมการบริหารพรรคการเมือง และยังเป็นที่ปรึกษาของอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน

นอกจากนี้ “กิตติรัตน์” ยังมีเรื่องที่คณะกรรมการสรรหาต้องพิจารณาให้รอบคอบ คือ เรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ในคดีที่ศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้อง กิตติรัตน์ สมัยนั่งรมว.พาณิชย์ ไม่สั่งให้มีการตรวจสอบการระบายข้าวเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดียว หรือที่รู้จักกันในคดีข้าวบูล็อค

ทำให้โอกาส “กิตติรัตน์” เข้ามาคุมแบงก์ชาตินั้นไม่ง่ายเสียแล้ว เพราะติดบ่วงหลายด้าน และยังมีประเด็นการแทรกแซงของการเมืองหากส่ง “กิตติรัตน์” เข้ามานั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ส่งผลให้ชื่อพลิกขึ้นมาเต็งหนึ่งในเวลานี้คือ “กุลิศ สมบัติศิริ” เพราะเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการเงินและการคลัง เนื่องจากเป็นลูกหม้อและนั่งผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงการคลัง ก่อนจะย้ายข้ามห้วยไปสู่ปลัดกระทรวงพลังงานจนเกษียณอายุราชการ และยังไม่เคยมีข่าวเสียหาย ไม่มีคดีติดตัว ซึ่งอาจเป็นบุคคลที่เป็นกลางคนหนึ่ง เชื่อมระหว่างรัฐบาล และแบงก์ชาติ ได้เป็นอย่างดี

ท่ามกลางกระแสต่อต้านอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ถึงกับต้องมีการซื้อเวลากันออกไปก่อน ทำให้ต้องจับตาและวัดใจฝ่ายการเมืองว่า จะกล้าส่งคนเข้ามาคุมแบงก์ชาติในเวลานี้หรือไม่ และคงไม่ง่าย หากจะแทรกแซงความเป็นอิสระของแบงก์ชาติที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ ก็เพื่อปราศจากการแทรกแซงของการเมืองนั่นเอง!!!.