มือถือถือได้ว่าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และทั้งวันใครๆหลายๆคนก็ก้มหน้าก้มตา อยู่กับมือถือเป็นเวลานานๆ หลายๆ ชั่วโมง จนมีอาการปวดเมื่อยกว่าจะรู้ตัว ปัจจุบันก็เป็นกันเยอะ วันนี้ “เดลินิวส์” มีบทความสาระดีๆจากโรงพยาบาลศิครินทร์มาฝาก

ถ้าไม่อยากเป็น Text Neck Syndrome

อาการปวดคอ บ่า ไหล่ หรือสะบัก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการก้มเล่นมือถือเป็นเวลานานๆ มากกว่าวันละ 10 ชั่วโมง โดยอาการปวดคอเรื้อรัง ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนคอ (Text Neck Syndrome)

โรค Text Neck Syndrome เกิดจากอะไร?

พฤติกรรมสังคมก้มหน้า การก้มหน้าเล่นมือถือ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต อุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เป็นเวลานาน เป็นสาเหตุของการเกิดโรค Text Neck Syndrome โดยการก้มหน้าลงทุก 15 องศา จะทำให้คอ และบ่า ต้องรับน้ำหนักมากสูงสุดถึง 27 กิโลกรัม

  • ก้มหน้า 15 องศา คอและบ่าต้องรับน้ำหนัก 5-7 กิโลกรัม
  • ก้มหน้า 30 องศา คอและบ่าต้องรับน้ำหนัก 18 กิโลกรัม
  • ก้มหน้า 45 องศา คอและบ่าต้องรับน้ำหนัก 22 กิโลกรัม
  • ก้มหน้า 60 องศา คอและบ่าต้องรับน้ำหนัก 27 กิโลกรัม

และเพราะน้ำหนักที่เกิดขึ้นจากการกดทับนี้เองที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระดูกสันหลังส่วนคอ ให้มีการปูด แตก และการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกจนไปกดทับเส้นประสาทส่วนคอ ยิ่งก้มมากเท่าไร คอและบ่ายิ่งต้องรับน้ำหนักมากขึ้น!

เราเป็น Text Neck Syndrome แล้วหรือยัง?

อาการของโรค Text Neck Syndrome มีหลายระดับ โดยมีตั้งแต่อาการปวดเล็กน้อย มีอาการอักเสบของกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า สะบัก และหัวไหล่ ไปจนถึงอาการที่สามารถสร้างปัญหารุนแรง เช่น อาการชา หรืออ่อนแรงของแขนและมือ ที่อาจะเกิดจากความเสื่อมของแนวกระดูก หรือหมอนรองกระดูกคอ ซึ่งก่อให้เกิดการกดทับของไขสันหลัง หรือรากประสาทบริเวณคอ สังเกตอาการที่เป็นสัญญาณเตือนได้ดังนี้

  • ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ช่วงบริเวณคอ บ่า ไหล่ หรือสะบัก
  • มีอาการอ่อนแรงของแขนและมือ
  • มีอาการชา ปวดร้าวจากคอไปยังมือ

โดยหากมีอาการแนะนำให้มาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย และรักษาได้อย่างเหมาะสม โดยการรักษาจะแบ่งออกเป็นการรักษาโดยการกายภาพบำบัด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้อาการดีขึ้นและไม่ให้อาการกลับมาเป็นอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจะมีกลับมาเป็นใหม่ได้ หากยังคงมีพฤติกรรมในการก้มเล่นมือถือแบบเดิมอีก และในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจมีการพิจารณารักษาโดยการผ่าตัด กรณีที่มีความเสื่อมของกระดูกหรือหมอนรองกระดูก ร่วมกับการกดทับของรากประสาทรุนแรง ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของแพทย์

วิธีการป้องกัน Text Neck Syndrome

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้งานมือถือ โดยปรับองศาของคอให้อยู่ในแนวตรงมากที่สุด
  • จำกัดเวลาในการใช้มือถือ และลดเวลาในการใช้งานอย่างเหมาะสม
  • ควรให้มือถืออยู่ในแนวตรงระดับสายตา ไม่ก้มหลัง และไม่ห่อไหล่ขณะใช้งาน
  • พักสายตา เปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะทุก 30 นาที ไม่อยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ
  • ยืดกล้ามเนื้อ ออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ