ความต้องการปลาตะลุมพุกฮิลซา ซึ่งเป็นปลาประจำชาติของบังกลาเทศ และเป็นอาหารอันโอชะในรัฐเบงกอลตะวันตกที่อยู่ติดกัน อยู่ในระดับสูงมาก จนทางการบังกลาเทศต้องแบนการส่งออกในปีนี้ ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังรัฐบาลธากา มีข้อพิพาททางการทูตกับรัฐบาลอินเดีย สืบเนื่องจากอดีตนายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินา ลี้ภัยไปยังอินเดีย เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา

บรรดาผู้ค้าปลาและชาวอินเดียหลายคน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปลาตะลุมพุกฮิลซาเป็นที่ต้องการอย่างมาก เนื่องจากเนื้อสีขาวของมันมีทั้งความอร่อย และคุณค่าทางโภชนาการ อีกทั้งปลาชนิดนี้ยังเป็นส่วนสำคัญของเทศกาลทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศกาลบูชาพระแม่ทุรคา ซึ่งปีนี้ตรงกับเดือน ต.ค.

อนึ่ง กองเรือประมงของอินเดีย ลากอวนหาปลาตะลุมพุกฮิลซาในแม่น้ำคงคา เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในเมืองโกลกาตา และรัฐเบงกอลตะวันตกในวงกว้าง ซึ่งมีประชากรมากกว่า 100 ล้านคน ทว่าการประมงเกินขนาด ทำให้จำนวนปลาลดลงอย่างมาก จนผู้ค้าปลาต้องหันไปหาบังกลาเทศ เพื่อเติมสต๊อกปลาที่ขาดแคลน

กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนกล่าวว่า สต๊อกปลาของบังกลาเทศ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่อ่อนไหวต่อระบบนิเวศ และเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งถูกคุกคามจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ปลาตะลุมพุกฮิลซาเต็มเข่ง รอการจำหน่าย ที่ตลาดค้าปลาแห่งหนึ่ง ในรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดีย

แม้รัฐบาลธากากำหนดข้อจำกัดในการประมง เพื่อรับประกันความยั่งยืนของสต๊อกปลาตะลุมพุกฮิลซา และรักษาราคาให้อยู่ในระดับต่ำ สำหรับประชากรราว 170 ล้านคน รวมถึงจำกัดการส่งออกอย่างเข้มงวดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ฮาสินาได้ใช้กลยุทธ์ซอฟต์พาวเวอร์ โดยอนุญาตให้ส่งออกปลาฮิลซาหลายพันตัน ก่อนถึงวันหยุดเทศกาลบูชาพระแม่ทุรคา หรือที่เรียกว่า “เทศกาลนวราตรี”

อย่างไรก็ตาม การทูตปลาตะลุมพุกฮิลซาก็สิ้นสุดลง หลังฮาสินาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศอย่างกะทันหัน เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลของเธอถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ขณะที่รัฐบาลเฉพาะกาลชุดปัจจุบันของบังกลาเทศ ต้องการให้อินเดียส่งตัวฮาสินากลับประเทศ

รัฐบาลชั่วคราวบังกลาเทศเพิ่งยกเลิก คำสั่งห้ามส่งออกปลาตะลุมพุกฮิลซา “บางส่วน” โดยอนุญาตให้มีการส่งออกปลาฮิลซา 3,000 ตัน สำหรับเทศกาลนวราตรี แต่ตัวเลขข้างต้นน้อยกว่าจำนวนปลาที่อินเดียอนุญาตให้นำเข้าในปีที่แล้ว เกือบ 1,000 ตัน และการค้าอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะกลับมาอีกครั้งในช่วงปลายเดือนนี้

ยิ่งไปกว่านั้น ราคาของปลาตะลุมพุกฮิลซา ซึ่งแพงอยู่แล้ว ก็พุ่งสูงขึ้นอีกถึง 1 ใน 3 นับตั้งแต่ฮาสินาถูกขับออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้หลายคนไม่สามารถซื้อปลาฮิลซาได้ในปีนี้

ขณะที่สมาคมผู้นำเข้าปลาของรัฐเบงกอลตะวันตก เขียนจดหมายถึงรัฐบาลธากา เพื่อเรียกร้องให้บังกลาเทศกลับมาดำเนินการค้าขายอีกครั้ง โดยระบุว่า ปลาตะลุมพุกฮิลซาเป็นที่ต้องการอย่างมากในอินเดีย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP