สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ว่า แรงกดดันจากประเทศคู่ค้าของอียู ตั้งแต่บราซิล ไปจนถึงสหรัฐ หรือแม้แต่จากมหาอำนาจของกลุ่มอย่างเยอรมนี ส่งผลให้คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ตัดสินใจเสนอให้ชะลอการใช้กฎระเบียบการตัดไม้ทำลายป่า เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา จากเดิมที่กำหนดให้มีผลบังคับใช้ในช่วงสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวระบุถึงการแบนสินค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กาแฟ, โกโก้, ถั่วเหลือง, ท่อนไม้, น้ำมันปาล์ม, ปศุสัตว์, กระดาษสำหรับการพิมพ์ และยางพารา หากสิ่งของเหล่านี้ถูกผลิตโดยใช้ที่ดิน ซึ่งมีการตัดไม้ทำลายป่า หลังเดือน ธ.ค. 2563

แม้ประเทศสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศ สนับสนุนการเลื่อนบังคับใช้กฎหมายข้างต้น แต่การดำเนินการจะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภายุโรป (อีพี) ด้วย

“การเลื่อนบังคับใช้กฎระเบียบในครั้งนี้ จะช่วยให้ประเทศที่สาม, ประเทศสมาชิกอียู, ผู้ประกอบการ และผู้ค้า สามารถเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ ในการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านการตรวจสอบวิเคราะห์” อีซี ระบุในแถลงการณ์

อนึ่ง บราซิล, สหรัฐ และประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย, แอฟริกา และลาตินอเมริกา ระบุว่า กฎระเบียบต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าของอียู จะผลักดันให้ต้นทุนการผลิตและการส่งออกสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรรายย่อย อีกทั้งกฎหมายดังกล่าว ก็ขาดแนวทางการดำเนินการเช่นกัน.

เครดิตภาพ : AFP