กรณี “ขี้โม้อวดรวย” โดยนัยนี้ก็ประมาณว่า…ทำเป็น “อวดรวย” อวดโอ่ต่อสาธารณะว่า “จะช่วยจะให้” แต่ทว่า…เอาเข้าจริงก็ “ขี้โม้” ไม่ได้ทำตามที่อวดอ้างไว้ ซึ่งคดีดังที่ว่านี้คือคดีไหน??…แม้ ณ ที่นี้ไม่บ่งชี้ก็คงจะนึกออกกันโดยถ้วนทั่ว อย่างไรก็ตาม ที่ ณ ที่นี้จะชวนย้ำให้พินิจกันในภาพรวมทั่วไป มิใช่การเฉพาะเจาะจงใคร ก็คือกรณี “โอ้อวด”ที่บางคนถึงขั้น“ขี้โม้”

พฤติกรรมแบบนี้หลายคนมี “ปุจฉา”

ไฉนเป็นแบบนี้?”แบบนี้ “จิตมั้ย?”

วันนี้ ณ ที่นี้จะสะท้อนย้ำถึง “วิสัชนา”

ทั้งนี้ กรณี “คุยโวโอ้อวด” หรือ “ขี้โม้” ซึ่งบางทีบางเรื่องก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าอวด-น่าโม้นั้น แม้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวนี้จะดูเป็นกรณีปกติ ก็เป็นกรณีธรรมดา ซึ่งหลาย ๆ คนก็สามารถที่จะเกิดลักษณะอาการหรือมีพฤติกรรมในรูปแบบนี้ได้ แต่…กรณีนี้ถ้าแค่นาน ๆ ครั้ง ไม่ใช่บ่อย ๆ ไม่ใช่เป็นประจำ จึงจะถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทว่า…กับคนที่ชอบคุยโวโอ้อวดหรือขี้โม้จนเกินความเป็นจริงมากเกิน จนดูจะ “ติดนิสัยขี้อวดขี้โม้” …นี่ก็นับว่า “น่าคิด” ว่า… เข้าข่ายอาการทางจิตเวชหรือไม่??”

โดยเฉพาะ “ถ้ามิใช่โม้หวังประโยชน์”

กับ “วิสัชนา” กรณีน่าคิดกรณีนี้ ทาง ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยา ที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เคยอธิบายผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ เกี่ยวกับ “พฤติกรรมชอบคุยโว-ชอบโม้-ชอบอวด” โดยระบุไว้ว่า… การ “ขี้อวด” “ขี้โม้” หรือถึงขั้น “ขี้โกหก” การที่บางคนชอบพูดถึงแต่เรื่องของตัวเอง โดยที่ ชอบคุยโวโอ้อวดว่าตนเองเก่ง เจ๋ง ดีกว่าคนอื่น หรือ ชอบพูดเรื่องไม่จริง นั้น…กรณีนี้ถือเป็นพฤติกรรม…

สร้างความรำคาญ” ให้คนรอบข้าง…

และ “อาจมีเบื้องลึกของพฤติกรรมนี้?”

นักจิตวิทยาท่านดังกล่าวได้ขยายความไว้ว่า… พฤติกรรมที่แสดงออกโดย “ชอบคุยโวโอ้อวดชอบคุยโม้” กรณีนี้ก็ อาจมีสาเหตุหลัก ๆ เกิดจากปมด้อยชีวิตในวัยเด็ก?” โดยในทางจิตวิทยาสามารถจำแนกลักษณะพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้ 3 ประเภทหลัก ๆ คือ… ประเภทแรก เกิดจาก “ปมด้อยด้านร่างกาย” คือ…อาจเป็นคนที่รูปร่างหน้าตาไม่สวย ไม่หล่อ ดูไม่ดี และมักจะ ถูกล้อเลียน ถูกดูถูก ถูกดูหมิ่น เกี่ยวกับปมด้อยร่างกายเป็นประจำ จนต้อง สร้างเรื่องเพื่อหวังให้ตัวเองเด่น

ประเภทต่อมา เกิดจาก “ปมด้อยด้านจิตใจ” ซึ่ง…เกิดจากการที่บุคคลนั้น ๆ ในวัยเด็กขาดความรัก หรือเกิดความรู้สึก เช่น รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รัก หรือ รู้สึกว่าเพื่อนฝูงไม่รัก หรือ รู้สึกว่ามักไม่ได้รับความสนใจจากผู้คนรอบตัว ในสังคมที่ตนเองอยู่ร่วมด้วย จนต้องสร้างเรื่องราวใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อหวังที่จะดึงดูดความสนใจจากคนรอบข้างจากคนในสังคม

และอีกประเภท เกิดจาก “ปมด้อยด้านสังคม” เช่น… ฐานะทางครอบครัวไม่ค่อยดี หรือ ขาดโอกาสตั้งแต่วัยเด็ก อาทิ ไม่มีข้าวของเครื่องใช้หรือของเล่นเหมือนเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ จึงมีการ สร้างเรื่องราวขึ้นเพื่อหวังให้คนสนใจ …เหล่านี้เป็น “ปัจจัย” ที่อาจเป็น “เบื้องลึก” ทำให้ “ชอบคุยโม้โอ้อวด” โดยเฉพาะเรื่องที่เกินจริง ที่บางคนก็ออกแนว “ขี้โม้อวดรวย”

ย้ำว่านี่…กรณีมิใช่โม้หวังประโยชน์”

ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม ยังเคยอธิบายผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้อีกว่า… ปมด้อยเหล่านี้อาจส่งผลให้บางคนเลือกแสดงออกผ่านการคุยโม้ เพื่อจะให้ตัวเองดูมีคุณค่า ดูมีศักดิ์ศรี เพื่อจะให้ตัวเองมีตัวตนในสังคม ซึ่งเมื่อทำแล้วเกิดความรู้สึกดีก็จะยิ่งแสดงพฤติกรรมเช่นนี้บ่อย รู้สึกดีที่สร้างโลกของตัวเองขึ้น สุดท้ายก็เสพติดพฤติกรรมนี้”

แม้ว่าการ “ขี้โม้โอ้อวด” ที่บางคนออกแนว “ขี้โม้อวดรวย” จะเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้กับคนทั่ว ๆ ไป และก็ยังไม่ใช่อาการทางจิต แต่ทางนักจิตวิทยาก็ได้ชี้เตือนเอาไว้ว่า…ถ้าปล่อยให้พฤติกรรมนี้ติดตัวไปจน “เป็นนิสัย” ก็จะ “ถือเป็นความไม่ปกติ” ที่จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไข บำบัด เยียวยา เพราะว่า อาจเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่อาการทางจิต” ที่ไม่เป็นผลดีต่อบุคคลนั้น ๆ และผู้อื่น อาจนำสู่การเป็น “โรคไบโพลาร์” โรคอารมณ์แปรปรวน 2 ขั้ว โรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ 2 แบบ ที่เปลี่ยนแปลงไปมาสลับกัน และถ้าปล่อยไปนาน ๆ ก็ อาจทำให้ป่วยจิตเป็น “โรคซึมเศร้า” ได้

นักจิตวิทยาท่านเดิมยังระบุไว้ด้วยว่า… ขี้โม้โอ้อวด” นี่กับคนทั่วไปก็คงจะไม่เท่าไหร่ แต่… กับ “คนมีตำแหน่ง คนมีสถานะทางสังคม หรือคนที่มีผู้เชื่อถือมาก ๆ”ถ้าหากว่า “โม้ก็อาจจะเกิดผลเสียในวงกว้างได้” ซึ่งถ้าคุยว่าจะทำสิ่งดีแล้วก็สามารถทำได้จริง ก็เป็นเรื่องที่ดีไป แต่… ถ้าโม้ว่าจะทำสิ่งดีสิ่งนี้สิ่งนั้น แล้วก็ทำไม่ได้จริง หรือไม่ทำ ก็ย่อมไม่ดี

ทั้งนี้ ทั้งหมดทั้งมวลดังที่ ณ ที่นี้ชวนย้ำให้พินิจ กรณี “ขี้โม้โอ้อวด” ในภาพรวม ๆ ทั่ว ๆ ไป มิใช่จะเฉพาะเจาะจงใคร ก็ย้ำทิ้งท้ายไว้อีกครั้งว่า…นี่มีนัยหมายถึงกรณีที่ไม่ใช่ “ขี้โม้โอ้อวดให้คนอื่นหลงเชื่อเพื่อหวังประโยชน์”ซึ่งถ้าหากว่าเป็นการพยายามทำให้คนอื่นหลงเชื่อเพื่อหวังประโยชน์…นั่นต้องเรียกว่า “หลอกลวง” หรือ “โกง” ซึ่ง “ผลจะมิใช่ปัญหาทางจิต”

ขี้โม้ต้มตุ๋นคนอื่น” น่ะ “ผิดกฎหมาย”

ผลลัพธ์” ไม่พ้น “โทษตามกฎหมาย”

โม้เพื่อโกง” ก็ต้อง “ถูกจับติดคุก!!”.

ทีมเดลินิวส์