สิ่งเหล่านี้คือประเด็นสำคัญของข้อตกลงฉบับใหม่ ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อปลายเดือนก.ย. ที่ผ่านมา โดยสมาชิกยูเอ็นทั้ง 193 ประเทศ ในการประชุมก่อนการอภิปรายทั่วไปของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) สมัยสามัญ ครั้งที่ 79

ข้อตกลงดังกล่าวเน้นย้ำถึง “ความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ” ต่อสันติภาพโลก โดยเฉพาะภัยคุกคามจากสงครามนิวเคลียร์ ซึ่งรายละเอียดในเอกสารย้ำถึงหลักการสำคัญของยูเอ็น ได้แก่ การเคารพกฎบัตรยูเอ็น, การเคารพสิทธิมนุษยชน, การคุ้มครองพลเรือน และการส่งเสริมการทูตเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งทั้งหมดล้วนถูกเหยียบย่ำเป็นประจำ ท่ามกลางความขัดแย้งมากมายที่เกิดขึ้นทั่วโลก

นอกจากนี้ ข้อตกลงยังเรียกร้องให้มีการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงขอให้นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการของยูเอ็น ดำเนินการทบทวนอนาคตของปฏิบัติการรักษาสันติภาพของยูเอ็น และวิธีปรับ “กล่องเครื่องมือ” ขององค์กร ให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสมมากขึ้น

“การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ คือหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสมัยของเรา และพวกเรามีความกังวลอย่างยิ่งกับความคืบหน้าที่ล่าช้าในปัจจุบัน” ข้อตกลงระบุเสริม

อนึ่ง ข้อตกลงให้คำมั่นสัญญาว่าจะเร่งความพยายาม เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจีเอส) ปี 2573 ซึ่งมุ่งเป้าไปยังการกำจัดความยากจนขั้นรุนแรงภายในปี 2573, การต่อสู้กับความหิวโหย, การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และการศึกษา

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อตกลงเพื่ออนาคต ยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปโครงสร้างทางการเงินระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายคือ การอนุญาตให้บางประเทศที่เคยถูกกีดกันจากการเข้าถึงเงินกู้เพื่อการพัฒนาตามสิทธิพิเศษ ได้รับเงินทุนข้างต้น เพื่อช่วยให้ประเทศเหล่านั้นเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าใด ๆ ในทิศทางนั้น จะต้องมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในที่อื่นเช่นกัน โดยเฉพาะในธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

เมื่อเผชิญกับการชะงักงัน กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ซึ่งถูกขัดขวางโดยการวีโต้ของรัสเซียและสหรัฐ ข้อตกลงจึงคาดการณ์ว่า จะมีการปฏิรูปหน่วยงานสำคัญที่สุดของยูเอ็น

แม้กูเตร์เรส ยกย่องข้อตกลงดังกล่าวว่าเป็น “ภาษาอันชัดเจนที่สุด” ในการปฏิรูปยูเอ็นเอสซีในรอบชั่วอายุคน แต่ข้อตกลงกลับไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในประเด็นนี้เลย ไม่ว่าจะเป็น ความเป็นไปได้ของการมีสมาชิกถาวรรายใหม่ และการปฏิรูปอำนาจวีโต้

ทั้งนี้ ประเทศต่าง ๆ ได้รับรองภาคผนวกของข้อตกลงหลัก นั่นคือ ข้อตกลงดิจิทัลระดับโลก (จีดีซี) ซึ่งมุ่งหวังที่จะลดช่องว่างทางดิจิทัล และพัฒนาเทคโนโลยีที่ปลอดภัยและเป็นแบบอย่าง เพื่อประโยชน์ของทุกคน โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับความเสี่ยงและโอกาสของเอไอ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP