นอกจากขนมปังที่มีขนาดเล็กลง จนไม่ถึงขนาดฝ่ามือของผู้ใหญ่ ข้าวก็เป็นสิ่งที่หายาก อีกทั้งน้ำมันและกาแฟ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาเจอที่ไหนได้เลย

“บางคนเข้านอนโดยไม่รับประทานอะไรเลย ยกเว้นแค่น้ำผสมน้ำตาล ถ้าพวกเขามี” นางโรซาเลีย เทอร์เรโร พนักงานร้านขายของชำแห่งหนึ่งในกรุงฮาวานา ซึ่งจำหน่ายอาหารที่ได้รับเงินอุดหนุน ทว่าในตอนนี้ ชั้นวางสินค้าในร้าน “แทบจะว่างเปล่า”

ครอบครัวของเทอร์เรโร ซึ่งมีสมาชิก 7 คน ประทังชีวิตส่วนใหญ่ด้วยขนมปังที่ได้รับเงินอุดหนุน คนละ 1 ชิ้นต่อวัน โดยรัฐบาลลดขนาดจาก 80 กรัม เหลือ 60 กรัม ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอที่จะทำให้ท้องอิ่ม ส่วนอาหารหลักอื่น ๆ คือ ข้าว และถั่ว

นอกจากนี้ ชาวคิวบาส่วนใหญ่ไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อของจากร้านค้าที่ดำเนินการโดยเอกชน ซึ่งได้รับอนุญาตให้เปิดกิจการในประเทศ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว หรือร้านค้าของรัฐที่ไม่ได้รับเงินสนับสนุน ซึ่งรับเฉพาะสกุลเงินต่างประเทศเท่านั้น

AFP

อนึ่ง คิวบากำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 30 ปี ซึ่งประกอบด้วยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง และเงินเดือนเฉลี่ยแค่ 42 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,370 บาท) แต่เทอร์เรโร กล่าวว่า การขาดแคลนอาหาร เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อชาวคิวบามากที่สุด

เนื่องจากเงินสำรองระหว่างประเทศกำลังจะหมดลง คิวบาจึงพบว่า การจ่ายเงินเพื่อเลี้ยงชีพประชากรประมาณ 11 ล้านคน เป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่งขึ้น ซึ่งประเทศต้องการข้าวสาลีประมาณ 3,300 ตันต่อเดือน เพื่อผลิตขนมปัง แต่ในเดือน ก.ค.-ส.ค. ที่ผ่านมา คิวบาจัดหาข้าวสาลีได้เพียง 1 ใน 3 ของจำนวนที่ต้องการ และในเดือนนี้ คิวบามีข้าวสาลีแค่ 600 ตัน ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ วิกฤติเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดของคิวบา นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 ทำให้ชาวคิวบาต้องต่อสู้กับการขาดแคลนยาและเชื้อเพลิง รวมถึงปัญหาไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง ซึ่งรัฐบาลฮาวานา กล่าวโทษว่าเป็นเพราะมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2505 และเข้มงวดยิ่งขึ้นในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ผลิตภัณฑ์อาหารได้รับการยกเว้นจากการคว่ำบาตรการค้าของสหรัฐ อย่างไรก็ตาม คิวบาต้องจ่ายเงินสดล่วงหน้า ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ยุ่งยากสำหรับประเทศที่มีเงินสำรองระหว่างประเทศน้อย และไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้จากธนาคารที่อยู่ในบัญชีเฝ้าระวังการคว่ำบาตรได้

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลฮาวานายังมีหนี้ต่างประเทศสูง และขาดแคลนสกุลเงินต่างประเทศ ส่งผลให้การซื้ออาหารจากประเทศอื่น ๆ มีความยุ่งยากซับซ้อนเช่นกัน อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของคิวบา ก็ทวีความรุนแรงขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนัก ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศด้วย

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES