รมช. คมนาคมนางมนพร เจริญศรี เร่งรัดกรมเจ้าท่า(จท.) พัฒนาท่าเรือแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ตามโครงการสถานีเรือโดยสารอัจฉริยะ (Smart Pier) จำนวน 29 ท่า งบประมาณ 1,214.05 ล้านบาทให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2570

เพื่อยกระดับมาตรฐาน และความปลอดภัยท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยพลิกโฉมเป็นสถานีเรือให้บริการแบบ Smart Pier สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่น ด้วยระบบตั๋วร่วม การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้ใช้บริการ พร้อมทั้งออกแบบรองรับผู้ใช้บริการทุกประเภท ทั้งผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนส่งเสริมท่าเรือให้มีมาตรฐาน ประชาชนเดินทางสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

กรมเจ้าท่าริเริ่มพัฒนาเปลี่ยนโฉมท่าเรือแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปี 2562สมัยนายกรัฐมนตรี พล.. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการผลักดันให้เดินหน้าต่อทั้งในช่วงรัฐบาล นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ยุคปัจจุบัน

เนื่องจากท่าเรือเดิมใช้งานมานานมีสภาพเก่าทรุดโทรม พื้นที่คับแคบ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ การปรับปรุงเป็นสถานีเรือโดยสารอัจฉริยะ ได้เพิ่มพื้นที่ใช้สอยบริการประชาชน เพิ่มอุปกรณ์ความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร รวมทั้งออกแบบให้มีอัตลักษณ์สวยงามเหมาะสมกับพื้นที่โดยรอบ

ขณะนี้ปรับปรุงแล้วเสร็จเปิดบริการท่าเรือโฉมใหม่แล้ว 9 ท่า ด้วยงบประมาณ 89.981 ล้านบาท ได้แก่ ท่ากรมเจ้าท่า ท่าสะพานพุทธ ท่านนทบุรี ท่าพายัพ ท่าบางโพ ท่าช้าง ท่าราชินี ท่าสาทร และท่าเตียน

อยู่ระหว่างดำเนินการ 5 ท่าเรือ งบประมาณ 189.017 ล้านบาท ได้แก่ ท่าเกียกกายท่าพระราม 7ท่าพระราม 5ท่าปิ่นเกล้า และ ท่าปากเกร็ด จะทยอยเสร็จในปี 2567-2568 พร้อมขอจัดสรรงบประมาณในปี 2568 จำนวน 84.6 ล้านบาท ก่อสร้างอีก 2 ท่า ได้แก่ ท่าโอเรียลเต็ล และท่าเทเวศร์

ที่เหลือ 13 เท่า จะของบประมาณ ปี2569 จำนวน 265.7 ล้านบาท เร่งเปลี่ยนโฉมได้แก่ ท่าราชวงศ์ท่าสะพานกรุงธน (ซังฮี้)ท่าเขียวไข่กาท่าพิบูลย์สงคราม 1ท่าพิบูลย์สงคราม 2ท่าวัดตึกท่าวัดเขมาท่าวัดสร้อยทองท่าวัดเทพากรท่าวัดเทพนารีท่ารถไฟท่าสี่พระยา และ ท่าพรานนก

นอกจากนี้จะของบประมาณปี 2569-2570 จำนวน 584.752 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัย และการจราจรทางน้ำ กรมเจ้าท่า รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ เพื่ออำนวยความสะดวก และปลอดภัยบริเวณท่าเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า อธิบายแนวคิดออกแบบทางสถาปัตยกรรมท่าเรือต่างๆ ว่า ท่าเรือพระปิ่นเกล้า ลดทอนรูปแบบมาจากเรือนแพริมน้ำเจ้าพระยาด้วยอาคารเรือนหมู่(เรือนหลายหลังเชื่อมต่อกัน) หลังคาทรงจั่วสูง พร้อมตกแต่งหน้าบันและกรอบอาคารด้วยไม้เทียม เลียนแบบฝาปะกนของเรือนแพริมน้ำ

ท่าเรือพระราม 5 สถาปัตยกรรมโมเดิร์น หลังคาเรียบแบน ผนังก่อด้วยอิฐแบบไม่ฉาบปูน พร้อมกระจกบานใหญ่โปร่งโล่ง แสดงถึงความทันสมัยและรูปแบบใหม่ของท่าเรือและพื้นที่โดยรอบ

ท่าเรือปากเกร็ด โมเดิร์นผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบบารอก ตกแต่งบัวปูนปั้นตามเสาอาคาร หลังคาทรงจั่วสะท้อนช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านพื้นที่ปากเกร็ดสู่ยุคสมัยใหม่

ท่าเรือสะพานพระราม 7 ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกแบบท่าเรือที่ใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด สื่อถึงก้อนพลังงาน ใช้ปรากฏการณ์ของแสงกับผิววัสดุทำให้สีอาคารเปลี่ยนแปลงไปตลอดทั้งวัน แสงธรรมชาติภายในอาคาร และโซล่าเซลล์ผลิตพลังงานใช้เอง

และ ท่าเรือเกียกกาย ได้แรงบันดาลใจจากเรือนไทยภาคกลาง หลังคาทรงจั่วสูงคลุมตัวอาคาร สร้างอัตลักษณ์ให้โดดเด่นยิ่งขึ้นโดยใช้ส่วนกลางของหลังคายกสูงตกแต่งลดเส้นสายของมณฑปให้เหลือแค่เส้นสายทรงปลายแหลม เพื่อให้เข้ากับบริบทโดยรอบอาคารทั้งวัดและรัฐสภา เป็นต้น

29 ท่าเรือเก่าๆ โทรมๆ ถูกพลิกโฉมสู่สถานีเรือโดยสารอัจฉริยะ…Smart Pierแต่ยังคงคุณค่าด้วยการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่สวยงามสะท้อนความเชื่อมโยงของท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยากับพื้นที่ประวัติศาสตร์โดยรอบ เป็นมนต์สเน่ห์ของการเดินทางทางน้ำ เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆให้ใกล้เคียงกับสถานีขนส่งผู้โดยสารโหมดอื่นๆ

……………………………………..
นายสปีด

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาและภาพในบทความนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่…