น.ส.อรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนไทยล่าสุดไตรมาสแรกปี 67 อยู่ที่ 90.8% ของจีดีพี ส่วนใหญ่เป็นหนี้บ้าน ส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิต โดย ธปท.ได้เร่งให้สถาบันการเงิน ธนาคารและนอนแบงก์ ช่วยลูกหนี้ที่มีปัญหาในการแก้ไขปรับโครงสร้างหนี้ ตามมาตรการแก้หนี้ของ ธปท. ถ้าเห็นว่าเจ้าหนี้ สถาบันการเงิน ธนาคารหรือนอนแบงก์รายใดไม่ทำตาม ไม่สนใจ ธปท.จะดำเนินตามกฎหมายตามที่ได้กำกับดูแลสถาบันการเงินและนอนแบงก์ ตั้งแต่การเปรียบเทียบปรับ และไปจนถึงสั่งชะลอธุรกิจ
ทั้งนี้ ยืนยันว่าทุกคนที่เริ่มมีปัญหา จะต้องได้รับความช่วยเหลือ และสถาบันการเงิน ธนาคาร นอนแบงก์ต้องบอกข้อมูลให้ครบถ้วน ต้องบอกข้อดีและข้อเสียของมาตรการความช่วยเหลือเพื่อให้ลูกหนี้จะได้ตัดสินใจจากข้อมูลได้ ซึ่งจากการสุ่มตรวจสอบธนาคารทั้งผ่านช่องทางคอลเซ็นเตอร์ และไปที่สาขา พบว่าเจ้าหน้าที่ของธนาคารบางแห่งยังไม่อธิบายลูกค้าดีเท่าที่ควร บางครั้งระบุว่าปรับโครงสร้างหนี้จะบันทึกในเครดิตบูโร ซึ่งต้องแจ้งข้อดีข้อเสียให้ลูกค้าตัดสินใจได้
นอกจากนี้ธนาคารบางแห่งบางรายบอกลูกค้าว่าไม่มีปรับโครงสร้างหนี้แต่ให้สินเชื่อใหม่ ซึ่งอาจเป็นข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ปัจจุบันลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 8.2 แสนบัญชี คิดเป็น 2.3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 5.3 เท่าของเอสเอ็ม (ค้างชำระหนี้ไม่เกิน 90 วัน) และเอ็นพีแอล (ค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน) ที่เพิ่มขึ้น
น.ส.เขมวันต์ ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.ได้ปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้หลายมาตรการ เช่น ไม่ปรับการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต 10% ในปี 68 แต่ให้คงไว้อยู่ที่ 8% ต่อเนื่อง และหาแนวทางทำอย่างไรให้คนกลับมาจ่าย 8% ได้ หรือมีมาตรการอะไรมาจูงใจให้คนจ่ายได้ โดยลูกหนี้ที่ผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับ 8% จะได้รับเครดิตเงินคืนเทียบเท่าดอกเบี้ย 0.5% ของยอดค้างชำระในครึ่งปีแรก และครึ่งปีหลัง 0.25% ของปี 68 โดยได้รับคืนทุก 3 เดือน เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ปิดจบหนี้เร็วขึ้นและมีภาระดอกเบี้ยทั้งสัญญาลดลง
ขณะเดียวกันลูกหนี้ที่เดิมจ่ายขั้นต่ำที่ 5% แต่ไม่สามารถจ่ายได้ถึง 8% สามารถใช้สิทธิปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสีย โดยเปลี่ยนประเภทหนี้ของบัตรเครดิตไปเป็นสินเชื่อระยะยาวเพื่อจ่ายชำระเป็นงวด โดยลูกหนี้จะยังมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินบัตรเครดิตส่วนที่เหลือด้วย และธนาคารต้องเสนอเงื่อนไขเพิ่มเติม เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง ธปท. จะดำเนินการเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.ย. 67
ขณะที่มาตรการรวมหนี้ให้ธนาคารผ่อนปรนเงื่อนไขอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยต่อมูลค่าหลักประกัน ในทุกลำดับสัญญาสำหรับกรณีรวมหนี้ ให้สามารถเกินกว่าเพดานที่กำหนด และให้ธนาคารดูแลดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าเดิม และค่างวดที่ต้องชำระต่ำกว่าค่างวดรวมที่เคยจ่าย โดยมาตรการจะสิ้นสุดในปี 68 และมาตรการแก้หนี้เรื้อรังขยายระยะเวลาการปิดจบหนี้จากภายใน 5 ปี เป็น 7 ปี ดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปีเท่าเดิม เพื่อให้ค่างวดที่ลูกหนี้ต้องชำระปรับลดลง โดยมาตรการจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 68 เป็นต้นไป