ผู้สื่อข่าวายงานจาก จ.กาฬสินธุ์ ว่า ภายหลังจากที่กรมการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ได้เปิดรับสมัครชุมชน หรือแหล่งท่องเที่ยวแนวผจญภัย ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคเอกชนหลัก ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก อ.สหัสขันธ์ และสหัสขันธ์ไดโนโรด โฮมสเตย์ โดยได้รับคัดเลือก 1 ใน 5 แหล่ง จากทั่วประเทศ
โดยปัจจุบัน ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ อ.สหัสขันธ์ วัดพุทธาวาสภูสิงห์ และทางส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้เปิดเส้นทางเดินป่า 1 เส้นทาง คือเส้นทางวัดพุทธาวาสภูสิงห์-ผาแดงภูสิงห์ ระยะทางไปกลับ 4 กม. ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับบรรยากาศเดินป่ากลางภูเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์และสวยงาม ทั้งยังแวะเที่ยวชมความงามของวัดพุทธาวาสภูสิงห์ ไหว้พระพรหมภูมิปาโล บนยอดเขาภูสิงห์
น.ส.ชมพิศ ปิ่นเมือง ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว อ.สหัสขันธ์ กล่าวว่า ผาแดงภูสิงห์ เป็นทั้งแหล่งศึกษาด้านธรณี และแหล่งท่องเที่ยว ในขณะที่เส้นทางที่จะไปผาแดงเต็มไปด้วยธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ ตลอดเส้นทาง 2 กม. ได้พักชมต้นไม้ใหญ่ ซุ้มกอไผ่ และวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ขณะที่ทางลงผาแดง ยังคงต้องปีนลงหน้าผา และลอดอุโมงค์ถ้ำ ก่อนไปถึงบริเวณผาแดง ที่มีวามความยาวประมาณ 100 เมตร โดยมีเส้นทางขึ้น 3 ทาง ได้แก่ เส้นทางบ้านสิงห์สะอาด ตำบลสหัสขันธ์, เส้นทางวัดภูน้อยดอยอภัย บ้านโนนปลาขาว ตำบลภูสิงห์ และเส้นทางวัดพุทธาวาสภูสิงห์ ตำบลโนนบุรี และตำบลภูสิงห์ ซึ่งทั้ง 3 เส้นทาง มีจุดเด่นและเป็นเส้นทางที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับผาแดงภูสิงห์ ยังเป็นพื้นที่เปราะบางทางธรณี เนื่องจากมีการผุ กร่อน ตามธรรมชาติ จึงต้องมีการจำกัดจำนวนในการเข้าไปชมไม่เกินครั้งละ 20 ท่าน โดยมีไกด์เด็กจิตอาสา ของชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ อ.สหัสขันธ์ เป็นผู้นำทาง
สำหรับผาแดงภูสิงห์ เป็นพื้นที่ที่ถูกค้นพบโดยคณะสงฆ์ และกลุ่มนักวิ่งอำเภอสหัสขันธ์ จากนั้นทางชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวฯอ.สหัสขันธ์ ร่วมกับทางปกครองอำเภอสหัสขันธ์ ได้เข้าไปส่งเสริมพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยการผลักดันเข้าเป็น New Unseen Chapters ของจังหวัดกาฬสินธุ์ และส่งเข้าเป็นชุมชนผจญภัย ของกรมการท่องเที่ยว โดยผาแดงภูสิงห์ เป็นพื้นที่อ่อนไหวทางธรณี เป็นหน้าผาสีแดง ที่มาจากแร่เหล็กปะปนอยู่ในชั้นตะกอนเป็นสนิมเหล็กในชั้นหิน ทำให้หน้าผามีสีแดง นอกจากนี้ จากการสะสมตัวของตะกอนทำให้เกิดทางน้ำเฉียงระดับ รวมถึงทิศทางไหลของน้ำโบราณหลายสายหลายทิศทาง เกิดเป็นริ้วที่สวยงาม เป็นแหล่งธรณีสัณฐาน ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งและเชื่อมโยงกับ อุทยานโลกธรณีกาฬสินธุ์ มีอายุราว 130 ล้านปี ใกล้เคียงกับกับฟอสซิลไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว ที่อยู่ใกล้กัน