เมื่อวันที่ 31 ก.ค. นายวุฒิพงษ์ นามบุตร สส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในภาคอีสาน ว่า ตนให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรของประชาชนใน จ.อุบลราชธานี และภาคอีสาน ซึ่งในภาคอีสานมีแม่น้ำสายหลักๆ คือแม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่าจะบริหารจัดการน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วมในภาคอีสาน แต่น้ำยังท่วมทุกปีเหมือนเดิม ซึ่งส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตและการสัญจรของประชาชน ตนจึงขอฝากให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐและส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจังหวัด กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เขื่อนต่างๆ และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในระดับจังหวัด ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ต้องร่วมกันบริหารจัดการแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะการบริหารน้ำที่มีประสิทธิภาพ ต้องทำให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และไม่เกิดปัญหาน้ำท่วม
นายวุฒิพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาเขื่อนปากมูลเป็นปัญหาใหญ่ที่มีการถกเถียงกันมานาน โดยเป็นเขื่อนที่อยู่ภายใต้กำกับของ กฟผ. แม้คณะกรรมการบริหารจัดการเขื่อนปากมูลเคยมีมติว่าเขื่อนปากมูลจะเปิด เมื่อน้ำไหลปริมาณ 500 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือระดับน้ำมากกว่า 100 เมตรระดับทะเลปานกลาง ต่อมา การบริหารจัดการต้องดำเนินการผ่านคณะกรรมการฯ แต่เขื่อนปากมูลไม่ทำตามมติดังกล่าว โดยอ้างถึงปัญหาระบบนิเวศ ปัญหากลุ่มผู้ร้องเรียน และปัญหาการประมงท้ายเขื่อน ตนจึงขอเรียกร้องให้ทุกส่วนบริหารจัดการร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาให้ถูกจุดและบรรลุเป้าหมาย
นายวุฒิพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาใหม่เกิดขึ้น คือกรณีที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) จะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ชื่อเขื่อนภูงอย เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เมื่อสร้างเสร็จน้ำจากแม่น้ำมูลจะไม่มีที่ไหลไป เพราะระดับน้ำมีความสูงต่ำขึ้นอยู่กับเขื่อนภูงอย ซึ่งห่างจากเขื่อนปากมูลประมาณ 60 กิโลเมตร ซึ่งตนขอฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าได้มีมาตรการรองรับเรื่องระบบนิเวศ และการบริหารจัดการน้ำอย่างไร หรือมีการพูดคุยระหว่างประเทศหรือไม่ เมื่อสร้างเขื่อนภูงอยเสร็จ จะมีผลกระทบอย่างไร หรือมีเงื่อนไขตกลงกันอย่างไร เพราะขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ามติของคณะกรรมการแม่น้ำโขง ในการบริหารจัดการน้ำตรงนี้ ตนจึงกังวลว่าหากปล่อยให้สร้างเขื่อนนี้โดยไม่มีการข้อตกลงร่วมกัน จะส่งผลกระทบกับภาคอีสานของไทยเป็นบริเวณกว้างใหญ่ ทั้งใน จ.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร รวมทั้งแม่น้ำสายหลักในภาคอีสาน